ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดลย้ำ “โอมิครอน BA.2” กลายพันธุ์มาเป็นตัวปิดเกมการระบาด กำลังเข้าสู่โหมดของการสูญพันธุ์ ด้านคณะกรรมการโรคติดต่อเห็นชอบแนวทางปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น หลังระบาดมากว่า 2 ปี แต่กระทรวงสาธารณสุขยังคงการเตือนภัยไว้ที่ระดับ 4 เผยการติดเชื้อในวงเหล้าเริ่มลดแต่หันไปติดเชื้อตามตลาดแทน ส่วนวัคซีนไฟเซอร์จะเริ่มฉีดเด็กป่วยใน รพ. ก่อนขยายการฉีดไปในโรงเรียน ประธานคณะกรรมการการพัฒนาระบบทีแคส ปี 2565 ของ ทปอ. ยืนยันไม่มีการจัดสอบรอบพิเศษให้นักเรียนที่ไม่สามารถมาสอบ GAT/ PAT ได้ตามกำหนดเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบ สงขลาเจอคลัสเตอร์ในโรงเรียน On Site กว่า 200 คนแล้ว ส่วนคลัสเตอร์โรงเรียนประจำหญิงที่ราชบุรีเจอป่วยเพิ่มอีกกว่า 300 ราย

ผู้ป่วยโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนใน กทม.ที่อยู่ในระดับหลักพันยังเป็นอันดับ 1 ใน 10 จังหวัดที่มีการติดเชื้อมากที่สุดของประเทศ ขณะที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์วิเคราะห์ว่า มีแนวโน้มโอมิครอนจะระบาดลดลงจนใกล้เข้าสู่โหมดสูญพันธุ์

...

เห็นชอบปรับเป็นโรคประจำถิ่น

ที่กระทรวงสาธารณสุขเมื่อวันที่ 27 ม.ค. นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว. สาธารณสุข เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่า ที่ประชุมหารือ 2 ประเด็นสำคัญ คือ 1.เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) มีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วยตายน้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่าร้อยละ 80 เป็นต้น หากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง 2.เห็นชอบหลักการและแนวทางการดำเนินงานคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ เพื่อให้บริการวัคซีนสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป เพื่อให้บริการวัคซีนโควิดและวัคซีนในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคที่มีความจำเป็น

ให้สาธารณสุขบริหารจัดการ

นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น หลังการระบาดมา 2 ปี มีทิศทางที่ดีขึ้น มีแนวทางพิจารณาจากการติดเชื้อเป็นระยะแต่ไม่รุนแรง อัตราเสียชีวิตต่ำอยู่ในเกณฑ์ยอมรับได้สัดส่วน 1 ต่อ 1,000 มีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม เกินร้อยละ 80 ขณะนี้ฉีดไปได้ร้อยละ 70-75 รวมถึงมีระบบการดูแลรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ มอบหมายให้กระทรวงฯ ไปบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่โรคประจำถิ่นภายในปีนี้ การกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสถานการณ์โลกเป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย แต่คงไม่ต้องรอให้องค์การอนามัยโลกประกาศก่อน เพราะขณะนี้ได้ดำเนินมาตรการหลายด้านไปก่อนแล้ว นอกจากนี้ยังเห็นชอบการจัดตั้งคลินิกวัคซีนผู้ใหญ่ให้เป็นแผนกหนึ่งในสถานพยาบาลทุกระดับเพื่ออำนวยความสะดวกการฉีดวัคซีนต่างๆ รวมทั้งวัคซีนโควิด-19

เริ่มฉีดเด็กป่วยใน รพ.ก่อน

นพ.เกียรติภูมิกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมรับทราบรายงานการเฝ้าระวังโอมิครอนที่พบการติดเชื้อภายในประเทศกว่าร้อยละ 90 โดยสัดส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเป็นโอมิครอน 100% แต่ความรุนแรงน้อยเสียชีวิตน้อย ส่วนการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปี รับทราบจากกระทรวงศึกษาธิการ มีเด็กแจ้งความประสงค์ฉีดประมาณร้อยละ 70 มีวัคซีนไฟเซอร์เด็กเข้ามาแล้ว 3 แสนโดส และจะทยอยเข้ามาเรื่อยๆทุกสัปดาห์ จะเริ่มฉีดในเด็กกลุ่มเสี่ยงที่ป่วยใน รพ. ก่อนขยายการฉีดในโรงเรียน ขอความร่วมมือสำหรับผู้ฉีดเชื้อตายไม่ว่าจะเป็น ซิโนแวค ซิโนฟาร์ม 2 เข็ม และสูตรไขว้ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา ขอให้ฉีดเข็มกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา

ติดเชื้อก๊งเหล้าลดแต่เพิ่มที่ตลาด

เมื่อถามว่าขณะนี้สามารถลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 4 เหลือระดับ 3 หรือไม่ นพ. เกียรติภูมิกล่าวว่า ยังเหมือนเดิมไม่ได้ปรับเปลี่ยน เน้นเตือน กทม.และพื้นที่สีฟ้า ส่วนความกังวลการระบาดของอินเดียที่อาจแพร่มาไทยหรือไม่ มีการจับตาประชุมตลอด สำหรับมาตรการผ่อนคลาย Test&Go ที่จะเปิดระบบวันที่ 1 ก.พ. ผู้เดินทางเข้ามาต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง เป็นหลักการที่จะควบคุมการระบาดให้มีช่องว่างน้อยที่สุด หากเข้ามาตามระบบเชื่อว่าระบบสาธารณสุขจะรองรับและควบคุมได้ ส่วนการเปิดให้ดื่มสุราได้ถึง 5 ทุ่มต้องเข้มงวดโควิดฟรีเซ็ตติ้ง ต้องขอความร่วมมือทุกคนช่วยกันสอดส่องดูแลและแจ้งเบาะแส หากพบสถานที่ใดไม่ดำเนินตามมาตรการ ขณะนี้ได้รับรายงานการดื่มสุราแล้วติดเชื้อลดลง แต่การติดเชื้อในตลาดเพิ่มขึ้น

มีแนวโน้มปิดเกมการระบาด

วันเดียวกัน เฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์ข้อความว่า “โอมิครอน” มีวิวัฒนาการขึ้นมาเพื่อ “Endgame” การระบาดของโควิด-19 แบบ “Pandemic” หรือไม่? จากข้อมูลล่าสุดมีแนวโน้มจะเป็นไปได้ ข้อมูลจาก Dr. Ridhwaan Suliman นักวิจัยชั้นยอดของประเทศแอฟริกาใต้ได้นำเสนอกราฟที่น่าสนใจแสดงให้เห็นจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนในแอฟริกาใต้เพิ่มขึ้นและลดลงอย่างรวดเร็วภายในเวลาเพียง 2 เดือน มีผู้เสียชีวิตต่ำมาก ขณะที่ช่วงเวลาการติดเชื้อระลอกแรก (อู่ฮั่น) ระลอกสอง (เบตา) ระลอกสาม (เดลตา) ใช้เวลายาวนานถึง 6 เดือน มีผู้เสียชีวิตสูงกว่าหลายเท่าตัว

...

BA.2 เพิ่ม 120% แต่ไม่ก่อโรครุนแรง

ในเฟซบุ๊กระบุอีกว่า จากที่ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ ได้สุ่มดาวน์โหลดรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของ BA.1 BA.2 BA.3 อย่างละ 100 ตัวอย่าง รวมทั้งรหัสพันธุกรรมทั้งจีโนมของชาวต่างชาติจากเอเชียใต้หนึ่งรายที่เดินทางเข้าไทยและติดเชื้อ BA.2 มาวิเคราะห์การกลายพันธุ์แบบแผนภูมิที่แสดงถึงสายวิวัฒนาการแตกกิ่งก้านสาขาคล้ายต้นไม้ พบความสัมพันธ์ด้านจีโนมระหว่างโอมิครอนทั้ง 3 สายพันธุ์ มาจากต้นกำเนิดเดียวกัน B.1.1 มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกับไวรัสดั้งเดิมอู่ฮั่นมากกว่าสายพันธุ์อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ฯลฯ BA.1 กลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นประมาณ 60-70 ตำแหน่ง BA.2 กลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นประมาณ 70-80 ตำแหน่ง BA.3 กลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นประมาณ 55-65 ตำแหน่ง

กำลังเข้าสู่โหมดการสูญพันธุ์

ในเฟซบุ๊กเขียนด้วยว่า ทำให้เห็นแนวโน้มว่าสายพันธุ์ที่มีการกลายพันธุ์ต่างจากอู่ฮั่นไปน้อยกว่า 60 ตำแหน่ง เช่น อัลฟา เบตา แกมมา เดลตา ฯลฯ กำลังเข้าสู่โหมดของการสูญพันธุ์หรือ “End game” มีโอมิครอนที่มีการกลายพันธุ์ต่างไปจากอู่ฮั่นถึง 80-100 ตำแหน่งเข้ามาแทนที่ แถมยังสร้างภูมิคุ้มกันต่อต้านสายพันธุ์เดลตาไม่ให้เพิ่มจำนวนกันได้อีกต่อไป ในส่วนโอมิครอนนอกจากจะมีสายพันธุ์หลัก BA.1 แล้ว ยังมีสายพันธุ์อุบัติตามกันมาคือ BA.2 BA.3 โดยเฉพาะ BA.2 มีอัตราการเพิ่มจำนวนเป็น 120% เมื่อเทียบกับ BA.1 จากข้อมูลทางคลินิกเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้พบว่าอาจไม่ก่อโรครุนแรงเช่นเดียวกับ BA.1 ทำให้เหมือนว่าธรรมชาติส่ง BA.1 มาแล้ว ยังส่ง BA.2 ตามมาด้วย เพื่อชะลอหรือยุติการระบาดโควิด-19 ทั่วโลก

...

ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์น่ากังวล

ด้าน นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ โพสต์เฟซบุ๊กว่า เชื้อไวรัสโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา ประเทศแอฟริกาใต้รายงานสายพันธุ์โอมิครอน BA.1 ครั้งแรกในเดือน พ.ย. ปีที่แล้ว จากนั้นไม่นานมากกว่า 40 ประเทศพบโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 มากกว่า 8,000 คน กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ไทยพบ BA.2 เช่นกัน มีรายงานว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 นี้ มีการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นมากกว่าสายพันธุ์ BA.1 อีก 20 ตำแหน่ง แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ BA.1 แต่ไม่ได้รุนแรงมากขึ้น ไม่ทำให้คนเข้านอนในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น ไม่น่าจะหลบหลีกภูมิคุ้มกัน ถ้าเคยติดเชื้อสายพันธุ์ BA.1 ยังมีภูมิคุ้มกันเพียงพอทำให้ไม่ติดเชื้อสายพันธุ์ BA.2 อีก ขณะนี้สายพันธ์ BA.2 ยังไม่ถูกจัดเป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล ไม่ต้องวิตกกังวล ถ้าจะมีการระบาดรอบต่อไปต้องมีการกลายพันธุ์มากกว่าเดิม จนเกิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่ระบาดง่ายกว่าโอมิครอน และหลบหลีกภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน เชื่อว่าคงเป็นไปได้ยาก ถ้าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ที่ไม่เคยพบมาก่อนหลังจากโอมิครอน โรคโควิด-19 ก็จะเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่นหรือโรคตามฤดูกาลเหมือนไข้หวัดใหญ่ในที่สุด

ต้องเร่งมือคุมระบาด

ขณะที่ รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า นับเป็นเวลาติดต่อกัน 7 วันแล้ว ที่ยอดผู้ป่วยในเมืองหลวงเกินวันละหนึ่งพัน แม้เมื่อเทียบสัดส่วนกับประชากรทั้งหมดอาจจะยังไม่สูงที่สุดในประเทศ บ่งบอกถึงว่าการควบคุมโรคยังต้องเร่งมืออีกมาก เพราะจังหวัดอื่นๆ เริ่มควบคุมกันได้แล้วเป็นส่วนใหญ่ ที่น่าสนใจคือหนองคายจังหวัดชายแดนลาว ที่แซงเข้าป้ายมาเป็นอันดับแปดแบบก้าวกระโดด ยังไม่เห็นมีคำชี้แจงเป็นทางการออกมา

...

หวั่นกลายพันธุ์เพิ่มโอมิครอน

ส่วนการเปิดประเด็นเรื่องโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.2 ที่พบเพิ่มขึ้นในหลายประเทศว่าจะน่ากลัวกว่าสายพันธุ์ย่อยก่อนหน้านั้นหรือไม่ ที่จริงสายพันธุ์โอมิครอนมีสายพันธุ์ย่อยอยู่ 4 ตัวคือ B.1.1.529, BA.1, BA.2 และ BA.3 ผู้เชี่ยวชาญขององค์การอนามัยโลกยังหาคำอธิบายไม่ได้ว่าทำไม BA.2 จึงเพิ่มจำนวนได้เร็วในอินเดีย อังกฤษแอฟริกาใต้ เดนมาร์ก อยู่ในขณะนี้ ต้องจับตาว่าจะมีความรุนแรงกว่า BA.1 ที่ครองตลาดอยู่เดิมหรือไม่ น่าสังเกตว่า 3 ประเทศแรกล้วนเป็นประเทศที่เคยติดเชื้อมากและเป็นแหล่งกำเนิดของสายพันธุ์หลักในอดีต เรียงมาจากเดลตา อัลฟา เบตา ตามลำดับ จึงเกรงว่าอาจจะเป็นแหล่งการกลายพันธุ์เพิ่มขึ้นของสายพันธุ์โอมิครอนหรือไม่ จะส่งผลต่อการปิดเกมโควิดตามที่หลายคนตั้งความหวังไว้

วัคซีนลดลองโควิด

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ระบุอีกว่า จากการเปิดเผยล่าสุดของสำนักงานสถิติแห่งชาติอังกฤษ พบว่าประชากรราว 1.3 ล้านคน คิดเป็น 2.0% ของประชากรทั้งประเทศ แจ้งว่าเคยมีกลุ่มอาการลองโควิด ราว 2 ใน 3 แจ้งว่า อาการดังกล่าวรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน 1 ใน 5 แจ้งว่ารบกวนการใช้ชีวิตอย่างมาก นำมาด้วยอาการเหนื่อยล้า 51% จมูกรับกลิ่นผิดปกติ 37% หอบเหนื่อย 36% สมาธิไม่ดี 28% พบบ่อยในช่วงอายุ 35-69 ปี โดยเฉพาะเพศหญิง กลุ่มคนด้อยโอกาส กลุ่มคนเปราะบางทางสุขภาพ บุคลากรสาธารณสุข บุคลากรทำงานด้านสังคม แต่อาการพบได้ตั้งแต่เด็ก 2 ขวบขึ้นไป การศึกษาในประเทศอังกฤษ พบว่า ถ้าฉีดวัคซีนโควิดสองเข็มจะลดโอกาสเกิดลองโควิดลงได้ราวครึ่งหนึ่ง ดังนั้น การฉีดวัคซีนนอกจากลดโอกาสการเกิดโควิดรุนแรงแล้ว ยังช่วยลดโอกาสการเกิดลองโควิดได้ด้วย อย่าไปเชื่อผู้ที่ชักชวนไม่ให้ฉีดวัคซีนและชักชวนให้ติดโอมิครอน ไม่พยายามป้องกันหรือควบคุม อีกทั้งช่วงนี้กำลังมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-12 ปี ดังนั้นความเสี่ยงของเด็กเล็กต่อลองโควิดข้างต้น ควรเป็นประเด็นที่ผู้ปกครองต้องนำมาพิจารณาด้วย เมื่อเทียบกับความเสี่ยงจากวัคซีนที่ดูเหมือนจะขยายความเกินจริงกันไป

สอบ GAT/PAT ไม่มีรอบพิเศษ

ส่วนกรณีที่นักเรียน ม.6 ปีการศึกษา 2564 กังวลว่าหากติดเชื้อโควิด-19 ในช่วงที่มีการสอบ GAT/PAT จะเสียสิทธิในการสอบและจะพลาดการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัย เบื้องต้นได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่า ให้สอบในปีถัดไปหรือเลือกสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้คะแนนสอบและนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ที่ดูแลกำกับด้านการศึกษา ได้ให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมกันหาทางออกนั้น นายชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการการพัฒนาระบบทีแคส ปีการศึกษา 2565 ของที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เปิดเผยว่า ได้หารือปัญหาดังกล่าวที่ประชุมพิจารณาแล้ว ยืนยันว่าจะไม่มีการจัดสอบรอบพิเศษให้นักเรียนที่ไม่สามารถมาสอบ GAT/ PAT ในวันและเวลาที่กำหนดคือวันที่ 12-15 มี.ค. วิชาสามัญวันที่ 19-20 มี.ค. เช่น ติดโควิด-19 หรือต้องกักตัวเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยง เนื่องจากเป็นการจัดสอบแข่งขันที่ทุกคนต้องสอบในวันและเวลาเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบโดยจะเปิดระบบรับสมัครวันที่ 31 ม.ค. ถึงวันที่ 9 ก.พ.

พร้อมอธิบายให้เข้าใจ

นายชูศักดิ์กล่าวว่า การสอบ GAT/PAT และ วิชาสามัญ เป็นการสอบเพื่อนำคะแนนไปใช้ในการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัย เป็นการสอบแข่งขันไม่ใช่การสอบวัดมาตรฐานทั่วไป ไม่มีการจัดสอบรอบพิเศษ บางสาขามีอัตราการแข่งขันสูง เฉือนกันแค่จัดทศนิยม และทางคณะ/สาขา ขอให้จัดสอบรอบเดียว เพื่อให้เกิดความยุติธรรม ส่วนกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ให้แก้ปัญหาไม่ให้เด็กเสียสิทธิ หากนายวิษณุสอบถามมา พร้อมอธิบายให้เกิดความเข้าใจ เพราะการตัดสินใจครั้งนี้ มีการวิเคราะห์สถานการณ์ ข้อดี ข้อเสียอย่างรอบด้าน ส่วนมาตรการการป้องกันโควิด-19 พร้อมรับฟังข้อเสนอจากนักเรียนและทุกคน เพื่อหาแนวทางวางมาตรการที่เหมาะสมต่อไป

ติดเชื้อ 8,078 ราย ตาย 22

วันเดียวกัน ศบค.รายงานสถานการณ์โควิด-19 ในไทยประจำวันว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 8,078 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 22 ราย เป็นชาย 12 ราย หญิง 10 ราย เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป 16 ราย มีโรคเรื้อรัง 3 ราย ยอดผู้ติดเชื้อสะสมยืนยันตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,407,022 ราย ยอดหายป่วยสะสม 2,302,164 ราย เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 22,098 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมีผู้ติดเชื้อสะสม 363,064,303 ราย เสียชีวิตสะสม 5,645,889 ราย 10 จังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อมากที่สุดได้แก่ กรุงเทพฯ 1,427 ราย สมุทรปราการ 692 ราย นนทบุรี 460 ราย ชลบุรี 334 ราย ภูเก็ต 332 ราย ขอนแก่น 247 ราย นครศรีธรรมราช 204 ราย ปทุมธานี 195 ราย ราชบุรี 187 ราย อุดรธานี ลพบุรี จังหวัดละ 129 ราย

ให้ศาลเจ้าเคร่งฟรีเซตติ้ง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม เชิญชวนคนไทยรณรงค์เทศกาลตรุษจีน 2565 ปลอดภัยห่างไกลโควิด-19 และขอให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข ในช่วง “วันจ่าย วันไหว้ วันเที่ยว” ป้องกันโควิดระบาดช่วงเทศกาลตรุษจีนอย่างเคร่งครัด สมาชิกทุกคนในครอบครัวต้องปฏิบัติตนตามมาตรการป้องกันโรคส่วนบุคคลอย่างเคร่งครัด ในส่วนศาสนสถาน สถานที่จัดงานตรุษจีนให้ปฏิบัติตามมาตรการความปลอดภัยสำหรับองค์กรหรือโควิด
ฟรีเซตติ้ง ให้คำแนะนำผู้ดำเนินการศาสนสถานเพื่อลดมลพิษจากการจุดธูป ศาสนสถาน ศาลเจ้า สถานที่จัดงานตรุษจีน ให้ประชาสัมพันธ์ผู้เข้าสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้มีวิธีการปฏิบัติที่ดี เพื่อลดอันตรายจากการสัมผัสมลพิษจากควันธูป จัดเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก ควบคุม กำกับ ศาสนสถาน ศาลเจ้า สถานที่จัดงานตรุษจีนที่มีผู้นิยมไปสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ถือปฏิบัติตามมาตรการป้องกันอันตรายจากควันธูปและป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19

นักเรียน On Site ติดโควิดเพียบ

ที่ จ.สงขลา นายพรศักดิ์ จินา ศึกษาธิการจังหวัด เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากโรงเรียนที่เปิดสอนเปิดเรียนแบบ On-Site ว่ามีเด็กนักเรียนติดเชื้อโควิดกว่า 200 คน ส่วนมากติดเชื้อจากชุมชนเนื่องจากมีเพื่อนและผู้ปกครองส่วนหนึ่งยังไม่รับวัคซีน ทั้งหมดอาการไม่รุนแรงเนื่องจากได้รับวัคซีนเข็ม 2 แล้ว ด้าน ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า
ม.อ.วิทยาเขตหาดใหญ่ เปิดเรียนแบบ On-Site มาประมาณ 1 เดือน มีนักศึกษาเข้าเรียนประมาณ 3 พัน กว่าคน มหาวิทยาลัยฯ มีมาตรการป้องกันโควิดเข้มข้นทุกขั้นตอน และพักในหอพักภายในมหาวิทยาลัย พบนักศึกษาป่วยโควิดเพียง 2-3 คน จากการสอบสวนโรคทราบว่าสัมผัสมาจากชุมชน

พัทลุงปิดบ่อนไก่ชน–พังงาป่วย 91

ที่ จ.พัทลุง นายวาทิต ไพศาลศิลป์ นายกเทศมนตรีเมืองพัทลุง ได้สั่งสถานธนานุบาลเทศบาลเมืองพัทลุง ปิดบริการตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.-9 ก.พ. เนื่องจากมี จนท.สถานธนานุบาลฯ ติดเชื้อโควิด-19 หลายคน ขณะที่เฟซบุ๊ก “อยาก ดัง เดี๋ยวจัดให้ รีเทิร์น” ได้เผยแพร่ภาพการตบตีกันของหญิงสาว 2 คนในบ่อนไก่ชนแห่งหนึ่งในพื้นที่ อ.เมืองพัทลุง และผู้เข้าเล่นการพนันไม่ได้สวมหน้ากากอนามัยหลายคนส่งผลให้เกิดคลัสเตอร์บ่อนพนันชนไก่ ขณะนี้ทางอำเภอเมืองฯได้สั่งให้หยุดการชนไก่ในบ่อนดังกล่าวแล้ว ส่วนที่ จ.พังงา พบผู้ติดเชื้อใหม่อีก 91 คน

ป่วยเพิ่มในโรงเรียนประจำ

ที่ จ.ราชบุรี หลังเกิดคลัสเตอร์โควิดที่โรงเรียนธรรมจารินีวิทยา ที่เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วนของ อ.ปากท่อ หลังปล่อยนักเรียนกลับบ้านช่วงปีใหม่ เมื่อกลับมาพบผลตรวจติดเชื้อโควิด-19 ถึง 74 ราย ต่อมาวันที่ 27 ม.ค. พญ.ปาจรีย์ อารีย์รบ นายแพทย์สาธารณสุข จ.ราชบุรี เปิดเผยว่า คลัสเตอร์ของโรงเรียนนี้ จากการเก็บตัวอย่างไป 576 ราย เป็นนักเรียน 570 ราย ครู 6 ราย ผลพบเชื้ออีก 311 รายเป็นนักเรียนทั้งหมด เบื้องต้นได้แยกผู้ป่วยไปรักษาที่ รพ. ปากท่อและ รพ.สนามต่างๆ เป็นกลุ่มตามอาการ และเจ้าหน้าที่ได้เข้าทำความสะอาดพ่นยาฆ่าเชื้อที่โรงเรียนพร้อมควบคุมโรคตามขั้นตอนแล้ว ที่ผ่านมาโรงเรียนธรรมจารินีวิทยามีมาตรการป้องกันเชื้อโควิด-19 อย่างดี ได้มาตรฐานตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด การแพร่ระบาดจนเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ทีมสอบสวนโรคกำลังตรวจสอบ

ส.ส.ราชบุรีเป็นโควิด–19

ขณะเดียวกัน นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ ส.ส.ราชบุรี เขต 4 อ.บ้านโป่ง พรรคประชาธิปัตย์ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ติดเชื้อโควิด-19 และขอแจ้งพี่น้องประชาชนที่ได้สัมผัสใกล้ชิดนายอัครเดชให้สังเกตอาการ นายอัครเดชโพสต์ด้วยว่าไม่ทราบว่าได้รับเชื้อหรือติดมาจากไหน ที่ผ่านมาเวลาลงพื้นที่สวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ เวลาเข้าประชุมสภาฯก็ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคของสภาฯ และอาการโดยรวมไม่เป็นอะไรมาก คุณหมอแจ้งว่า อาจจะเนื่องด้วยเคยได้รับวัคซีนมาแล้ว งานต่างๆต้องระงับภารกิจไว้ชั่วคราวจนกว่าจะหายดีแล้วจะกลับไปทำภารกิจในพื้นที่ต่อเหมือนเดิม

พ.ต.ท.วัยเกษียณดับหลังฉีดเข็ม 2

ที่วัดทุ่งลานนา ศาลา 3 ถนนเฉลิมพระเกียรติ ร.9 ซอย 28 แยก 3-1 แขวงวัดดอกไม้ เขตประเวศ กทม. เมื่อเย็นวันเดียวกัน มีพิธีรดน้ำศพ พ.ต.ท.นิติพัฒน์ ฉัตรจรรยพร อายุ 62 ปี อดีตสารวัตรวิเคราะห์ข่าว บก.น. 3 ที่เสียชีวิตหลังจากไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด ท่ามกลางความโศกเศร้าของภรรยาและลูก นางธัญญลักษณ์ ภรรยาผู้เสียชีวิตกล่าวว่า เมื่อวันที่ 4 ธ.ค.64 สามี ตนและลูกชายไปฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็ม 1 ป้องกันโควิด-19 ที่ รพ.วิภาวดี (เกษตร) และทุกคนมีอาการอ่อนเพลียเล็กน้อย ส่วนสามีบ่นว่าหลังจากนี้คงออกกำลังกายหนักไม่ได้แล้ว ต่อมาวันที่ 4 ม.ค.65 พากันไปฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็ม 2 ที่โรงพยาบาลเดิม จากนั้นคืนวันที่ 5 ม.ค. สามีตนและลูกท้องเสียหลายครั้ง สามีหนักสุดไปหาซื้อยากิน แต่อาการไม่ทุเลา ประกอบกับมีอาเจียน ส่วนตนกับลูกชายอาการดีขึ้น ต่อมาสามีไปพบแพทย์ที่รพ.วิภาวดี (เกษตร) ให้ยาแก้ท้องเสีย แก้อ่อนเพลีย แก้วิงเวียนศีรษะ มากินอาการไม่ดีขึ้น ไป รพ.ตำรวจ ให้ยาเหมือนกันมากินอีก อาการก็ยังไม่ดี กินอะไรเข้าไปอาเจียนออกหมดและบ่นว่าวัคซีนเข็ม 2 แรงนะ จากนั้นสามีอาเจียนอย่างต่อเนื่อง จนช่วงบ่ายวันที่ 24 ม.ค. มีอาการเหนื่อย หนาว ตัวเกร็งและหมดสติ จึงพาไปหา รพ.ศิรินธร แพทย์ช่วยยื้อชีวิตด้วยเครื่องช่วยหายใจและเสียชีวิตช่วงบ่ายสองโมงวันที่ 26 ม.ค. หมอแจ้งว่ามีหินปูนไปอุดตันเส้นเลือดที่จะไปเลี้ยงสมองทำให้เสียชีวิต

เชื่อเป็นผลจากโมเดอร์นา

นางธัญญลักษณ์กล่าวต่ออีกว่า เชื่อว่าสามีเสียชีวิตจากผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนโมเดอร์นาเข็ม 2 เนื่องจากก่อนฉีดวัคซีนสามีเป็นคนแข็งแรง ออกกำลังกายทุกวัน ไม่มีโรคประจำตัว เมื่อฉีดวัคซีนเข้าไปในร่างกายทำให้เกิดอาการต่างๆจนเสียชีวิต หลังจากนี้จะทำเรื่องร้องเรียนไปที่ สปสช. และกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้เยียวยา รู้สึกเสียใจมากที่ต้องสูญเสียสามีไปอย่างกะทันหันเช่นนี้ ส่วนงานสวดอภิธรรมตั้งแต่วันที่ 27-29 ม.ค. วันที่ 30 ม.ค. พระราชทานเพลิง เวลา 16.00 น.

กทม.เปิด Walk in ใน 7 รพ.

วันเดียวกัน นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร ผอ.สำนักการแพทย์ กทม.เผยว่า ได้เร่งฉีดวัคซีนประชาชนให้ครอบคลุมพื้นที่ กทม.มากที่สุด ประชาชนสามารถจองคิวผ่านระบบ QueQ และฉีดวัคซีนตามกำหนด และสั่งให้โรงพยาบาลในสังกัด เปิด Walk in ฉีดวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 1 เข็ม 2 และเข็มกระตุ้น สำหรับผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทั้งชาวไทยและต่างชาติที่จุดบริการฉีดวัคซีนที่ รพ.7 แห่ง ตั้งแต่วันที่ 31 ม.ค.ไปจนกว่าวัคซีนจะหมด ที่ 1. รพ.กลาง โทร.0-2225-1354 2.รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ โทร.0-2289-7000-4 3.รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ ชุตินฺธโร อุทิศ โทร.0-2429-3575-81 ต่อ 8589 4.รพ.ลาดกระบัง โทร.0-2327-3049 5.รพ.ราชพิพัฒน์ โทร.0-2444-0163 กด 0 6.รพ.คลองสามวา โทร.06-4557-6009 และ 7.รพ.บางนา โทร.0-2180-0201-3 ต่อ 103,104

สายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่เร็วกว่า

กระทรวงสาธารณสุขเดนมาร์ก แถลงเมื่อ 26 ม.ค. ว่าโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.2 แพร่กระจายได้เร็วกว่าสายพันธุ์ย่อย BA.1 แต่ไม่มีหลักฐานว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 จะก่อให้เกิดอาการเจ็บป่วยรุนแรงกว่า ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีรายงานผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ย่อย BA.1 คิดเป็นร้อยละ 98 ของผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งหมดทั่วโลก ในขณะที่เดนมาร์กกลับพบว่าสายพันธุ์ย่อย BA.2 เป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดเป็นหลักมาตั้งแต่สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน ม.ค. ที่ประมาณร้อยละ 45 ด้านสถาบันสเตเทนส์ เซรุ่ม (เอสเอสไอ) ของเดนมาร์กได้ระบุว่า BA.2 อาจแพร่เชื้อได้เร็วกว่า BA.1 ถึง 1.5 เท่า และสามารถแพร่กระจายได้เร็วกว่าโดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วก็อาจติดเชื้อได้เช่นกัน นอกจากนี้การแพร่ของ BA.2 ยังอาจทำให้มีแนวโน้มว่าการระบาดสูงสุดในเดนมาร์กจะขยายจากที่คาดไว้ไปถึงเดือน ก.พ. ขณะที่เดนมาร์กเพิ่งประกาศแผนการยกเลิกข้อจำกัดเพื่อควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในวันที่ 1 ก.พ. แม้จะยังมีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงอยู่ก็ตาม