ท่ามกลางกระแส “บรรดาหมอดูชื่อดัง” ออกมาเปิดตำราโหราศาสตร์ทำนายดวงเมืองปี 2565 “คนไทยยังต้องเจอวิกฤติโรคระบาดยาวถึงสิ้นปี” แล้วยิ่งกว่านั้น “มีความเสี่ยงเผชิญภัยพิบัติธรรมชาติมหาหฤโหด” โดยเฉพาะธรณีพิบัติภัยที่เกิดจากน้ำ แผ่นดินไหว และไฟเข้ามาคุกคามได้ตลอด

อันเป็นลักษณะของการพยากรณ์ “สิ่งซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคต” แม้ว่าตามคำทำนายมีโอกาสเป็นไปได้น้อย “แต่อย่าประมาทคำเตือน” เพราะนับเริ่มต้นศักราชใหม่ 2022 ปรากฏการณ์ภูเขาไฟใต้มหาสมุทรแปซิฟิก ฮุงกาตองกา-ฮุงกา ฮาอาปายปะทุขึ้น “ก่อคลื่นยักษ์สึนามิ 1 เมตร” ซัดชายฝั่งประเทศตองกาเสียหายหนัก

วันเดียวกันก็ “เกิดแผ่นดินไหว 6.6 ทะเลอินเดีย” แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงเกาะชวา อินโดนีเซีย สร้างความเสียหายให้อาคารหลายหลัง ถัดมาไม่กี่วัน “เกิดแผ่นดินไหวเขย่าอัฟกานิสถาน” ครั้งแรกรุนแรงขนาด 5.3 ครั้งที่สองรุนแรง 4.9 มีเสียชีวิตอย่างน้อย 26 ศพ บ้านเรือนเสียหาย 700 หลัง

...

เห็นได้ว่า “ภัยพิบัติ” ขยับเข้าใกล้ประเทศไทยมากขึ้นทุกที ศ.ดร.เป็นหนึ่ง วานิชชัย ผู้เชี่ยวชาญด้านแผ่นดินไหว สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย บอกว่า ปรากฏการณ์ภูเขาไฟปะทุใต้ทะเลในตองกามีระดับรุนแรงจนก่อคลื่นสึนามิซัดถล่มชายฝั่งตองกา แล้วกระจายไปประเทศในมหาสมุทรแปซิฟิก สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วโลก

ทว่าเหตุการณ์ “ภูเขาไฟใต้ทะเลปะทุเกิดคลื่นสึนามิ” ส่งผลกระทบระยะไกลนี้มีโอกาสเกิดได้ยาก เพราะตามหลักการเกิดคลื่นยักษ์มักมาจากกระบวนการทางธรณีวิทยารอยต่อของแผ่นเปลือกโลก หรือเกิดแผ่นดินไหว ที่เป็นตัวกระตุ้นมวลน้ำค่อนข้างรุนแรง จึงจะทำให้เกิดสึนามิกระทบในวงกว้างระยะไกลได้เช่นนั้น

แต่ว่า “ภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำในตองกา” กลับมีปัจจัยเพียงการปะทุของแก๊สพ่นเถ้าถ่านใต้น้ำเป็นตัวกระตุ้นมวลน้ำแต่ “สามารถก่อคลื่นขนาดใหญ่กระทบชายฝั่งระยะไกลถึงฮาวาย สหรัฐอเมริกา ชิลี ญี่ปุ่น” ที่สำคัญสัญญาณเตือนภัยคลื่นสึนามิจากแผ่นดินไหวกลับเตือนภัยไม่ดีกับกรณีเกิดคลื่นภูเขาไฟระเบิดใต้น้ำนี้

ตามบันทึกในอดีตที่เคยเกิดกรณีแบบนี้ขึ้นนั้น เช่น “ภูเขาไฟใต้น้ำกรากาตัวระเบิดเกิดเป็นคลื่นยักษ์ความสูง 30 เมตรในปี 1883” สร้างความหายนะให้ประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2018 ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิดอีก เรียกว่า “ภูเขาไฟอะนัก กรากาตัว” คราวนี้เกิดคลื่นสึนามิ 3 เมตร ซัดชายฝั่งเกาะชวา และเกาะสุมาตราใน 10 นาที

แล้วระบบสัญญาณคลื่นสึนามิไม่เตือนภัย “ประชาชนตั้งตัวไม่ทัน” จนมีผู้เสียชีวิตและสูญหายกันเป็นจำนวนมาก ดังนั้นเข้าใจว่า “ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด 2 เหตุการณ์นี้” คล้ายภูเขาไฟใต้ทะเลตองกา แล้วก็เชื่อว่าหลายประเทศยังคงจับตาเฝ้าระวังจะเกิดผลต่อแนวภูเขาไฟอื่น หรือกระทบต่อรอยเลื่อนแผ่นดินไหวอื่นหรือไม่

ในส่วน “รอยเลื่อนแผ่นดินไหวในเอเชีย รวมถึงรอยเลื่อนในประเทศไทย” ไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์นี้ เพราะอยู่ห่างบ้านเราหลายพันกิโลเมตร แต่ต้องเข้าใจก่อนว่า “รอยเลื่อน” มักมีการเคลื่อนตัวสะสมพลังงานอยู่ทุกวันเป็นปกติ ดังนั้นในการเกิดแผ่นดินไหวก็ไม่จำเป็นต้องมีภูเขาไฟระเบิดมากระตุ้นด้วยซ้ำ

...

เหตุเพราะ “แผ่นเปลือกโลกขยับเคลื่อนตัวตลอดเวลา” ทำให้เปลือกโลกแต่ละชิ้นมีความเค้น ความเครียดสะสมพลังงานเพิ่มขึ้นทุกวัน “เมื่อใดคงที่ก็จะระเบิดตัวปลดปล่อยพลังงาน” เพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ออกมาอย่างฉับพลันอันเป็นปรับสมดุลของเปลือกโลกให้คงที่ตามมานี้

หนำซ้ำ...“ประเทศไทย” มีแนวรอยเลื่อนเสี่ยงระเบิดเยอะแยะมาก โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันตก “บางแนวเลื่อนสัมพันธ์กับแผ่นดินไหวในประเทศเพื่อนบ้าน” ที่เป็นตัวกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหวขึ้นได้

ตามข้อมูล “กรมทรัพยากรธรณี” ทำแผนผังรอยเลื่อนมีพลังพาดผ่านประเทศไทย คือ รอยเลื่อนแม่จันผ่านเชียงราย เชียงใหม่ รอยเลื่อนแม่อิงผ่านเชียงราย รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอนผ่านแม่ฮ่องสอน ตาก รอยเลื่อนเมยผ่านตาก กำแพงเพชร รอยเลื่อนแม่ทาผ่านเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย รอยเลื่อนเถิน ผ่านลำปาง แพร่

รอยเลื่อนพะเยาผ่านพะเยา เชียงราย ลำปาง รอยเลื่อนปัวผ่านน่าน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ผ่านอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ผ่านกาญจนบุรี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ผ่านกาญจนบุรี สุพรรณบุรี อุทัยธานี ตาก รอยเลื่อนระนองผ่านระนอง ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ พังงา รอยเลื่อนคลองมะรุ่ยผ่านสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา

...

รอยเลื่อนเพชรบูรณ์ผ่านเพชรบูรณ์ รอยเลื่อนแม่ลาวผ่านเชียงราย รอยเลื่อนเวียงแหผ่านเชียงใหม่

หากย้อนดูอดีต 80 ปีก่อนนี้ก็เคยเกิดแผ่นดินไหว 6.5 จุดศูนย์กลางในป่า จ.น่าน ไม่มีรายงานความเสียหาย ในปี 2557 เกิดแผ่นดินไหว 6.3 จ.เชียงราย ครั้งนี้สร้างความเสียหายต่ออาคารบ้านเรือนเป็นวงกว้างมากมาย

ประเด็นคือว่า “ในไทยมีรอยเลื่อนตาบอด” ที่ไม่ปรากฏรอยแนวบนแผ่นเปลือกโลกอีกมากมายที่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5-6.5 หรือมากกว่านั้น แต่ระบุวันเวลาสถานที่แน่ชัดไม่ได้ เหตุผลนี้ “คนไทย” ต้องตื่นตัวด้วยการป้องกันเตรียมรับมือกับความรุนแรงของแผ่นดินไหวในอนาคตอยู่เสมอ

ปัจจุบัน “ภาครัฐ” ออกกฎหมายควบคุมการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหวมาตั้งแต่ปี 2540 เน้นบังคับเฉพาะอาคารสาธารณะ หรืออาคารที่มีความสูงมากกว่า 15 เมตร หรือ 5 ชั้น ในพื้นที่ 10 จังหวัดเสี่ยงสูง แล้วปี 2564 ปรับปรุงกฎหมายใหม่ มีการขยายพื้นที่ให้ครอบคลุมพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหวมากยิ่งขึ้น

เน้นย้ำพื้นที่เสี่ยงภัยสูง “ภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคกลาง” ในการควบคุมการออกแบบอาคารต้านแผ่นดินไหว 3 ชั้นขึ้นไป เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาว่า “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” จะเข้มงวดเพียงใด โดยเฉพาะอาคารสร้างก่อนออกกฎหมายค่อนข้างเยอะจะดำเนินการอย่างไรต่อไป...?

...

ประการต่อมา “จุดเสี่ยงไทยเกิดแผ่นดินไหวสึนามิ” ตอนนี้พบแผ่นเปลือกโลกอินเดียออสเตรเลียมุดตัวเข้าใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียจุดตั้งประเทศไทย แล้วบริเวณฝั่งทิศใต้หมู่เกาะอันดามันไปถึงฝั่งตะวันตกเมียนมา ปรากฏหลักฐานทางธรณีวิทยาเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 เมื่อครั้ง 300 ปีก่อน นับแต่นั้นก็ไม่เคยเคลื่อนตัวอีกเลย

ทำให้กลายเป็นพื้นที่ที่มีการสะสมพลังงานความเค้น ความเครียดในเนื้อเปลือกโลกมากที่สุด เพราะตามหลักมักต้องปลดปล่อยพลังงานระบายความเครียดที่สะสมทุก 200-300 ปี เพื่อปรับสมดุลของเปลือกโลก ทำให้เชื่อว่าบริเวณนี้น่าจะมีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ขึ้นในช่วงชีวิตคนยุคนี้ก็ได้

ปัญหามีอยู่ว่า “ผู้คนขาดความตื่นตัวรับมือแผ่นดินไหวสึนามิ” สังเกตจากปรากฏอาคารบ้านเรือนและโรงแรมในพื้นที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้น ยิ่งกว่านั้น “แผนอพยพ” ไม่สอดคล้องรับสถานการณ์ด้วย เช่น เขาหลัก จ.พังงา วางจุดอพยพปลอดภัยห่างชายฝั่ง 3-4 กม. ถ้าเกิดคลื่นสึนามิมักใช้เวลาเคลื่อนตัวเข้าชายฝั่ง 2 ชั่วโมง

แล้วสถานการณ์จริง “รูปแบบการอพยพ” มักต้องใช้เวลามากกว่านั้นด้วยเหตุเพราะ “ผู้คน” มีความคิดวิธีอพยพแตกต่างกัน บางคนอาจพร้อมอพยพทันที แต่บางคนกลับบ้านก่อนเพื่อไปหาครอบครัว หรือนำของสำคัญออกมา พ่อแม่อาจจะไปหาลูกที่โรงเรียนก่อน หรืออาจรออพยพพร้อมกับคนที่ตนเองรักด้วยซ้ำ

แม้แต่ “ป้ายเตือนภัย และป้ายชี้เส้นทางอพยพก็เสื่อมสภาพ” ดังนั้นกระบวนการอพยพค่อนข้างซับซ้อนหากไม่เตรียมพร้อมให้ดี “อพยพไม่ทัน” อาจก่อให้เกิดความสูญเสียชีวิตผู้คนจำนวนมากอีกก็ได้ ดังนั้นอยากเสนอจัดทำแผนใช้พื้นที่โรงแรมเอกชนที่มีความสูงแข็งแรงเป็นจุดรับผู้อพยพยามฉุกเฉินอีกทางด้วย

แน่นอนว่า “การเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่” ย่อมส่งผลกระทบต่ออาคารบ้านเรือนในพื้นที่กรุงเทพฯ แล้วด้วยสภาพพื้นที่เป็นดินอ่อนก่อให้เกิดการขยายแรงสั่นสะเทือนของพื้นดินได้ 3-4 เท่าของระดับปกติ ลักษณะการสั่นสะเทือนแนวราบเป็นจังหวะ 1 รอบต่อวินาที ทำให้อาคารสูงโยกตัวรุนแรงเป็นพิเศษ

เช่น กรณีปี 2546 “เกิดแผ่นดินไหว 6.6” จุดศูนย์กลางอยู่ที่เกาะสุมาตรา แม้ห่างจากกรุงเทพฯ 1,000 กม. ก็กระทบต่ออาคารสูงหลายแห่งโยกไหวตัวรุนแรง ดังนั้นอาคารสร้างใหม่ต้องออกแบบต้านแผ่นดินไหวเสมอ

ด้วยเหตุอนาคตไม่มีใครคาดเดาทำนาย “ภัยพิบัติธรรมชาติ” ล่วงหน้าได้ สิ่งที่เราทำได้คือ “เตรียมตัว เตรียมพร้อมรับเหตุการณ์ทุกเวลา” เพื่อลดการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินอันเป็นทางออกดีที่สุด.