“งานวิจัย คือเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการคลี่คลายหรือแก้วิกฤติ โดยเฉพาะโควิด-19 ที่เป็นวิกฤติเร่งด่วนของประเทศ ตั้งแต่การถอดรหัสพันธุกรรมและระบาดวิทยา การดูแลและรักษาผู้ป่วย การแพร่เชื้อจากสัตว์สู่คน นวัตกรรมทางการแพทย์ วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือทางการแพทย์ การพัฒนายาและวัคซีน การวิจัยเพื่อลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคม และการศึกษาและระบบบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19”

ข้างต้นคือถ้อยคำของ ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผอ.สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในการใช้งานวิจัยเป็นกุญแจตอบโจทย์วิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

กว่า 2 ปีที่สังคมไทยต้องเผชิญกับวิกฤติโควิด-19 วช.ได้มีส่วนร่วมในการคลี่คลายสถาน การณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นเป็นระลอกๆ โดยระยะที่ 1 ช่วงแรกของการระบาด ได้สนับสนุนทุนวิจัยในประเด็นศึกษาตัวเชื้อและลักษณะพันธุกรรมของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ เพื่อเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อ การพัฒนายาและวัคซีน จากนั้นระยะที่ 2 ช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดเพิ่มมากขึ้นหรือช่วงวิกฤติ ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ และเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ หรืออุปกรณ์ที่ใช้ทดแทนทางการแพทย์ให้มีเพียงพอสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ระยะที่ 3 ช่วงผ่อนปรนมาตรการ ได้เร่งพัฒนาวัคซีนโดยเฉพาะในระยะการทดสอบในสัตว์ทดลอง การทดสอบในมนุษย์ หรือการเตรียมการด้านเทคโนโลยี เพื่อผลิตวัคซีนโรคโควิด-19 และระยะที่ 4 ช่วงระบาดระลอกใหม่ ได้สนับสนุนการวิจัยและนวัตกรรมในประเด็นการถอดรหัสพันธุกรรม และระบาดวิทยาของเชื้อที่มีการกลายพันธุ์จากเดลตาเป็นโอมิครอนและมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น

...

“ล่าสุด วช.ได้รวบรวมนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์กว่า 20 คนมาทำการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อช่วยลดผลกระทบจากโควิด-19 มุ่งเน้นผลงานเชิงสุขภาพให้หลากหลาย อาทิ ผลงานการพัฒนาระบบจัด การให้บริการสาธารณสุขด้วยหุ่นยนต์เคลื่อนที่บังคับระยะไกลภายใต้สถานการณ์โรคติดต่อร้ายแรง ของ ดร.ปาษาณ กุลวานิช จากกรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ที่ผลิตหุ่นยนต์ชื่อ “ปิ่นโต 2” ทำหน้าที่ส่งยาและเวชภัณฑ์ภายใน รพ. และ รพ.สนาม ที่สำคัญยังสามารถใช้สื่อสารระหว่างแพทย์และคนไข้ได้ โดยจะผลิตและส่งมอบให้โรงพยาบาลทั่วประเทศ, ผลงานเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัลสำหรับถ่ายปอดผู้ป่วยโควิด-19 ของ ดร.อุดมชัย เตชะวิภู จาก สวทช.ที่จะผลิตและติดตั้งเครื่องเอกซเรย์ดิจิทัล บอดีเรย์เอส และบอดีเรย์อาร์ให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลนและมีความจำเป็นในการตรวจวินิจฉัยเบื้องต้น คัดกรองผู้ป่วยติดเชื้อและติดตามผลการรักษาผู้ป่วยโควิด–19 เพื่อให้ได้ภาพเอกซเรย์ดิจิทัลที่มีคุณภาพอย่างรวดเร็ว สามารถถ่ายผู้ป่วยได้จำนวนมากในระยะเวลาอันสั้น เพื่อลดการสัมผัสและลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์, ผลงานการพัฒนาและขยายผลงานนวัตกรรม “Magik Tuch” สำหรับแปลงระบบลิฟต์ทั่วไปให้เป็นลิฟต์แบบไร้สัมผัสเพื่อบรรเทาการแพร่ระบาดของโควิด–19 จากการใช้ลิฟต์ในที่สาธารณะที่มีประชาชนใช้งานจำนวนมาก” ดร.วิภารัตน์ กล่าวถึงผลงานที่กำลังดำเนินงาน

นอกจากนี้ ยังมีผลงาน การศึกษาระดับภูมิคุ้มกันจากวัคซีนโควิดเข็มที่ 3 ในบุคลากรทางการแพทย์ ของ นพ.วิศิษฏ์ ประสิทธิศิริกุล จากสถาบันบำราศนราดูร, ผลงาน การเฝ้าระวังโรคติดต่อและโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงเชิงโมเลกุล ของ ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิท ยาลัย เพื่อพัฒนาข้อมูลด้าน Ge nomics ของเชื้อโรคที่เคยพบในต่างถิ่นและโรคใหม่ๆจากสัตว์ สัตว์ป่า แมลงและพาหะ ที่อาจแพร่เชื้อก่อโรคในคน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคอุบัติใหม่, ผลงาน การพัฒนาการผลิตชีวเภสัชภัณฑ์จากพืชเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับโรคอุบัติใหม่ในประเทศ ไทยโดยใช้วัคซีนสำหรับไวรัส SARS–CoV–2 สายพันธุ์อังกฤษและแอฟริกาเป็นผลิตภัณฑ์ต้นแบบ ของ รศ.ดร.วรัญญู พูลเจริญ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมไปถึงผลงานที่เกี่ยวกับเด็ก อย่าง การเฝ้าระวังภาวะประสบการณ์ชีวิตไม่พึงประสงค์ของเด็กปฐมวัยและการแทรกแซงเพื่อฟื้นฟูสุขภาวะเด็กและครอบครัวในช่วงวิกฤติเศรษฐกิจจากโควิด-19 ของ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ จากมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

...

ผลงานของนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์ กว่า 20 คนนี้จะถูกใช้เป็นชุดข้อมูลเพื่อให้สามารถใช้ในการบริหารสถาน การณ์ทั้งในมิติทางวิชาการและเรื่องของการบริหารในระดับนโยบาย ทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาในภาวะวิกฤติและช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในประเทศให้เกิดขึ้นอย่างมั่นคงและยั่งยืน ที่สำคัญจะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในหลาย มิติ ได้แก่ เชิงวิชาการ เชิงนโย บาย เชิงชุมชน/ สังคม และเชิงพาณิชย์ด้วย

“โควิด-19 เป็นโรคใหม่ ที่ผ่านการระบาดระลอกแล้วระลอกเล่า และมีแนวโน้มที่จะควบคุมได้ในระยะเวลาไม่ไกลจากนี้ เพราะฉะนั้นเราต้องเรียนรู้จากโรค ต้องรวบรวมสรรพกำลังเพื่อต่อสู้กับโรค งานวิจัยเป็นส่วนที่ช่วยให้เราตัดสินใจไปทางที่ถูกและตัดสินใจอย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.วิภารัตน์ ระบุ

และนั่นหมายถึง ชุดข้อมูลจากงานวิจัยของ วช.จะเป็นส่วนสำคัญสำหรับการใช้ในการบริหารสถานการณ์ทั้งในมิติทางวิชาการและเรื่องของการบริหารในระดับนโยบาย

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า นับตั้งแต่เกิดวิกฤติโควิด-19 ทำให้เห็นว่างานวิจัยสามารถตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเพื่อสู้กับโควิด-19 อาทิ วัคซีนสัญชาติไทยที่กำลังจะสำเร็จในอนาคตอันใกล้นี้ ห้อง ICU ความดันลบ หน้ากากความดันบวก ชุด PPE เป็นต้น ซึ่งผลงานของนักวิจัยไทยสามารถผลิตในราคาที่ต่ำกว่า 1 ใน 5 หรือ 1 ใน 10 ของราคาขายในตลาดโลก ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ทั้งสามารถพัฒนาเป็นธุรกิจสร้างผลิตผล และการบริการที่สำคัญต่อไปได้

...

แต่สิ่งที่เราอยากจะฝากก็คือ ความต่อเนื่องของงานวิจัย ที่จะต้องนำมาใช้ประโยชน์และตอบโจทย์ทั้งในระยะเร่งด่วนและระยะยาว อย่างเป็นรูปธรรม เพราะนอกจากโควิด-19 แล้ว ยังมีโรคอุบัติใหม่นานาชนิดเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา

ทั้งนี้ เพื่อให้งานวิจัยเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังในการคลี่คลายปัญหาและแก้วิกฤติชาติอย่างแท้จริง.

ทีมข่าวอุดมศึกษา