"อธิบดีกรมปศุสัตว์" ยกระดับความปลอดภัยชีวภาพสูงสุด พร้อมวอนฟาร์มรายย่อย เลี้ยงหมูแบบ GFM เพื่อป้องกันควบคุมโรคโดยเร็ว

วันที่ 20 ม.ค. 2565 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า ตามที่ประเทศไทยได้รายงานการเกิดโรค ASF ในสุกรโดยได้แจ้งไปองค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 นั้น เพื่อเป็นการป้องกันและควบคุมโรคได้ในระยะยาวและยั่งยืน และตามหลักสากลโดยสิ่งสำคัญที่สุดคือ การผลักดันยกระดับมาตรฐานฟาร์มเกษตรกรให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosecurity) เพื่อป้องกันโรคระบาดซึ่งไม่เฉพาะสามารถป้องกันโรค ASF ในสุกรเท่านั้น ยังสามารถป้องกันโรคระบาดอื่นๆ ในสุกรได้อีกด้วย

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้ปรับปรุงเป็นฟาร์มมีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management: GFM) ซึ่งรายย่อยสามารถดำเนินการได้และมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่าการทำมาตรฐานฟาร์ม GAP (Good Agricultural Practice) และเป็นการเตรียมความพร้อมในการยกระดับเป็นฟาร์มมาตรฐาน GAP ต่อไปในอนาคต

สำหรับในการเลี้ยงสุกรที่มีจำนวนน้อยกว่า 500 ตัว สามารถทำฟาร์มที่มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (GFM: Good Farming Management) หลักการสำคัญมี 3 ด้าน ประกอบด้วย การป้องกันโรค, การตรวจสอบย้อนกลับ และด้านผลผลิต มีข้อกำหนดในการรับรอง ประกอบด้วย พื้นที่และโครงสร้าง, การจัดการโรงเรือนและอุปกรณ์, การจัดการยานพาหนะ, การจัดการบุคลากร, การจัดการด้านสุขภาพสัตว์, การจัดการอาหารสัตว์และยาสัตว์, การจัดการด้านข้อมูล และการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม

ซึ่งการทำ GFM เป็นการทำระบบความปลอดภัยทางชีวภาพสำหรับฟาร์ม เป็นมาตรการหนึ่งของมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงสัตว์ เพื่อควบคุมป้องกันเชื้อโรคที่ติดมากับ คน สัตว์และสิ่งของ เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องมือ เครื่องใช้ และยานพาหนะ ต้องมีการฆ่าเชื้อพ่นน้ำยาที่ทางเข้า-ออกฟาร์ม พักให้น้ำยาฆ่าเชื้อออกฤทธิ์เป็นเวลา 30 นาที มีการกำจัดแมลงและสัตว์พาหะหรือมีมุ้งป้องกันแมลงวันที่อาจปนเปื้อนเชื้อโรคจากฟาร์มหมูที่ป่วย มีพื้นที่พักสัตว์ พื้นที่เลี้ยง และพื้นที่ขายหมู แยกออกจากกัน บุคคลหากไม่จำเป็นไม่ควรให้เข้าในพื้นที่เลี้ยงสุกรโดยเด็ดขาด

...

ถ้าจำเป็นต้องมีการอาบน้ำ เปลี่ยนชุดก่อนเข้า-ออก และจุ่มรองเท้าบูตฆ่าเชื้อทุกครั้ง และผู้ที่เข้าพื้นที่เลี้ยงสุกรต้องพักโรคอย่างน้อย 5 วัน การเลี้ยงสัตว์ เลือกแหล่งอาหารที่น่าเชื่อถือ ไม่นำอาหารเหลือที่มีส่วนประกอบของเนื้อหมูมาใช้ในการเลี้ยง

สำหรับน้ำยาฆ่าเชื้อที่ได้ผลมีประสิทธิภาพ ได้แก่ กลุ่มกลูตาราลดีไฮด์ และฟีนอล ตามอัตราส่วนที่ฉลากแนะนำ เช่น 1:200 ทิ้งไว้นาน 10 นาที การปฏิบัติดังกล่าวสามารถป้องกันโรคได้อย่างดี เนื่องจาก โรค ASF ในสุกรจะแพร่จากที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่งได้จะต้องมีพาหะพาไป เชื้อโรคมักแพร่ไปกับตัวหมูจากการขนส่งหมูมีชีวิตที่สุขภาพยังปกติจากพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค โดยไม่ได้ตรวจสอบอย่างถูกต้อง หรือเชื้อโรคแพร่ไปกับเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์เนื้อหมูในตลาดที่เกิดจากการขายหมูที่ติดเชื้อโรคแล้วขายเข้าโรงชำแหละ หรือเชื้อโรคติดมากับพาหนะรถรับซื้อหมูที่อาจผ่านการขนส่งหมูป่วยโดยที่ไม่ทราบ หรือเชื้อโรคติดมากับคนที่เดินทางมาจากพื้นที่โรคระบาด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ผลที่ได้จากการทำฟาร์ม GFM สามารถลดปัญหาโรคระบาด ลดความเสียหาย ลดปัญหาการเกิดเชื้อดื้อยาปฏิชีวนะ และสามารถเพิ่มปริมาณและคุณภาพของผลผลิต ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นและมีอาชีพที่มีความมั่นคงและยั่งยืน และประชาชนได้บริโภคอาหารที่มีความปลอดภัย และยังทำให้สามารถป้องกันและควบคุมโรคได้โดยเร็ว ตามหลักรู้เร็ว ควบคุมและสงบโรคได้เร็ว.