ไทยเริ่มแนวโน้มดี แต่พบ “โอมิครอน” คร่าชีวิตผู้ติดเชื้อเป็นรายที่ 2 หญิงสูงวัยจากอุดรธานี ป่วยโรคมะเร็ง-ติดเตียง คาดติดเชื้อจากลูกชายที่ไปสังสรรค์กับเพื่อนต่างอำเภอ ขณะที่ศูนย์จีโนมฯ ยืนยันผลโอมิครอน ยึดเมืองกรุง-ปริมณฑลเรียบร้อย ได้แต่วาดหวังจะมาเป็นตัวปิดเกม เข้าสู่โหมดโรคประจำถิ่น โดยอธิบดีกรมวิทย์ยันฉีดวัคซีนเข็ม 3 ภูมิคุ้มกันขึ้นดีสู้โอมิครอนได้ ส่วน “หมอโสภณ” ยันมีไฟเซอร์เพียงพอฉีดแน่นอนของปี 2565 ลอตแรกจะเข้ามาสัปดาห์นี้ราว 5 แสนโดส ส่วนของเด็กคาดเข้ามาปลายเดือน ม.ค. ด้าน “อนุทิน” เตรียมชง ศบค.ชุดใหญ่ 20 ม.ค.นี้ ผ่อนคลายมาตรการ รวมถึงปรับปรุงรูปแบบเข้าประเทศแบบเทสต์ แอนด์ โก โวมั่นใจคุมการระบาดได้ดี แต่ดักคอกลุ่มผับบาร์ อย่าตีเนียนปรับเป็นร้านอาหารแล้วทำเหมือนเดิม ขณะเดียวกันคนดังคนบันเทิงป่วยโควิดต่อเนื่องล่าสุด “เลขาฯ คปภ.-หญิง รฐา-วิคเตอร์” ประกาศติดเชื้อแล้ว
การติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ในไทย เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วประเทศลดลงจากกว่า 8 พันคน ลงมาใกล้แตะ 7 พันคน และหลายจังหวัดเริ่มให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ

...
ติดเชื้อใหม่เฉียด 7 พันคน
ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เผยแพร่ยอดติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 6,929 คน จำแนกเป็นผู้ป่วยจากในประเทศ 6,720 คน ผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 209 คน ติดเชื้อเข้าข่ายด้วยผลตรวจ ATK 1,740 คน หายป่วยกลับบ้าน 5,255 คน ผู้ป่วยกำลังรักษา 82,210 คน อาการหนัก 533 คน และใช้ท่อช่วยหายใจ 108 คน ผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 13 คน เป็นชาย 7 คน หญิง 6 คน เป็นผู้เสียชีวิตที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปทั้ง 13 คน ทำให้ไทยมีผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,331,414 คน หายป่วยสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 2,227,266 คน เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,938 คน แต่หากนับตั้งแต่วันที่ 1-17 ม.ค.2565 มีผู้ป่วยยืนยันสะสม 107,979 คน ผู้เสียชีวิต 240 คน
ติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์เพียบ
สำหรับ 10 จังหวัดที่ติดเชื้อสูงสุดได้แก่ กทม. 722 คน สมุทรปราการ 656 คน ชลบุรี 454 คน ภูเก็ต 389 คน นนทบุรี 386 คน ขอนแก่น 290 คน อุบลราชธานี 210 คน ปทุมธานี 199 คน เชียงใหม่ 193 คน และนครศรีธรรมราช 182 คน ทั้งนี้ ยังมีการพบคลัสเตอร์ในร้านอาหาร กึ่งผับ กึ่งสถานบันเทิงในหลายพื้นที่ คลัสเตอร์ตลาดพบที่ จ.อุดรธานี คลัสเตอร์งานเลี้ยงสังสรรค์พบที่ จ.อำนาจเจริญ คลัสเตอร์พิธีกรรมศาสนา พบหลายอำเภอที่ จ.อุบลราชธานี คลัสเตอร์งานศพร้อยเอ็ด รวมถึงที่สมุทรปราการ มีประวัติไปร่วมงานศพที่ จ.นราธิวาส เป็นการติดเชื้อจากการเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ คลัสเตอร์บุคลากรทางการแพทย์พบที่ รพ.ภูมิพล และ รพ.ธนบุรี ส่วนการฉีดวัคซีนเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ได้เพิ่ม 67,517 โดส รวมฉีดวัคซีนสะสม 109,317,122 โดส
“อนุทิน” มั่นใจคุมโอมิครอนได้
ด้านนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมศบค.ชุดใหญ่ในวันที่ 20 ม.ค.ที่กระทรวงสาธารณสุขอาจมีการเสนอผ่อนคลายบางมาตรการว่าได้เชิญอธิบดีกรมควบคุมโรคมาพบและได้ชี้แจงให้ทราบว่าต้องคำนึงถึงมิติด้านเศรษฐกิจการทำมาหากิน และการดำเนินชีวิตของประชาชนให้ปกติมากที่สุด แม้สายพันธุ์โอมิครอนจะแพร่ระบาดได้เร็ว แต่ประเทศไทยสามารถควบคุมได้เรามีมาตรการควบคุมได้ดี โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน ดังนั้น ต้องเสนอให้ทุกมิติเดินไปข้างหน้าได้ให้ประชาชนดำเนินชีวิตได้มากที่สุด แต่ความปลอดภัยต้องมีอยู่ สำหรับมาตรการผ่อนคลายที่คิดว่าจะเสนอ เช่น การปรับพื้นที่สีจังหวัด รวมทั้งแนวทางที่เคยทำมาอะไรที่ทำแล้วดูดีที่สุด ให้ดำเนินการตามมิติเหล่านั้น ถ้าเกิดการติดเชื้อ ต้องรองรับได้ไม่ให้เกิดการตื่นตระหนก และการให้ความเข้าใจกับประชาชน ทั้งการใช้ชีวิตและการให้ความร่วมมือที่ผ่านมาต้องขอขอบคุณประชาชนที่ให้ความร่วมมือทุกอย่างขอให้เป็นต่อไป เพราะยิ่งให้ความร่วมมือมาก เรายิ่งกล้าที่จะผ่อนคลาย

ดักคอผับบาร์อย่าหมกเม็ด
...
แต่สำหรับสถานบันเทิงนั้น นายอนุทินกล่าวว่าตรงไหนที่เป็นความเสี่ยงสูงสุดจะค่อยๆผ่อนคลาย เราเห็นใจเวลามีการร้องขอเข้ามาให้เปลี่ยนรูปแบบจากผับบาร์เป็นภัตตราคาร เราก็ยอม ทั้งที่เป็นคนละ ประเภทกัน เมื่อมีการเปลี่ยนรูปแบบก็ขอให้เป็นร้านอาหารจริงๆไม่ใช่ยังเป็นผับบาร์อยู่ ตนพูดกับอธิบดีกรมควบคุมโรคว่าให้เข้าใจหัวอกคนทำมาหากิน ผู้ประกอบการ ลูกจ้างขับเคลื่อนได้ด้วยการดำเนินธุรกิจ แตกต่างจากพวกเรา เพราะข้าราชการยังไงก็มีเงินเดือน ซึ่งอธิบดีกรมควบคุมโรคเข้าใจดี ส่วนปรับมาตรการเทสต์แอนด์โกนั้น กระทรวงสาธารณสุขคงนำเสนอเรื่องนี้กลับมาปรับปรุงรูปแบบใหม่ ซึ่งทุกอย่างอยู่ที่ ศบค.จะเห็นชอบหรือไม่ กระทรวงสาธารณสุขเป็นได้แค่ผู้เสนอ
กระตุ้นภูมิเข็ม 3 สู้โอมิครอนได้
ต่อมาที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนว่าจากการเก็บตัวอย่างเลือดหรือซีรัมของผู้ที่ได้รับวัคซีน 8 สูตรที่ใช้ฉีดในไทย คือ 1.ซิโนแวค+แอสตราเซเนกา 2.แอสตราฯ+แอสตราฯ 3.ไฟเซอร์ 2 เข็ม 4.ซิโนแวค+ไฟเซอร์ 5.แอสตราฯ+ไฟเซอร์ 6.การฉีดเข็มกระตุ้น ซิโนแวค 2 เข็ม+แอสตราฯ 7.ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม+ไฟเซอร์ และ 8.ฉีดแอสตราฯ 2 เข็ม+ไฟเซอร์ โดยเก็บตัวอย่างเลือดหลังรับวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์ นำมาทดสอบกับเชื้อโอมิครอนเป็นๆ พบว่าภูมิคุ้มกันในเลือดที่เคยต่อสู้กับเดลตาได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเจอกับเชื้อโอมิครอนแล้วลดลงทุกสูตร สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้ ส่วนผู้ที่ฉีดเข็ม 3 พบว่าภูมิคุ้มกันขึ้นได้ดี สู้กับโอมิครอนได้ ดังนั้น จึงต้องฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอที่จะลดการแพร่เชื้อและลดการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิต
...
ติดตามอาการผู้ป่วยต่อเนื่อง
นพ.ศุภกิจกล่าวอีกว่าสิ่งที่น่าสังเกตพบว่าเชื้อโอมิครอนเพิ่มจำนวนช้ามาก ต่างจากสายพันธุ์อื่น อาจเป็นการตอบคำถามว่าทำไมผู้ป่วยเชื้อโอมิครอนถึงไม่แสดงอาการหรืออาการไม่รุนแรง แต่เรื่องนี้เป็นข้อสังเกตของกรมวิทย์เท่านั้น เราจะสอบถามห้องปฏิบัติการอื่นๆ ด้วยว่าพบเหมือนเราหรือไม่และจะสุ่มตัวอย่างโอมิครอนจากสถานการณ์จริง เพื่อดูว่าการแพร่ระบาดของโอมิครอนกับเดลตา มีสัดส่วนเท่าไรแล้ว คาดว่าอีก 1-2 วันจะทราบผล อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอีโอซีมีการมอบหมายให้กรมวิทย์ไปสำรวจว่าผู้ติดโอมิครอนปัจจุบันมีเกือบ 1 หมื่นราย ส่งให้กรมการแพทย์ เพื่อติดตามว่ามีกี่รายอาการน้อย หายดี หรืออาการหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของโอมิครอน

โอมิครอนคร่าชีวิต 2 ราย
ด้าน นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรคกล่าวถึงการเสียชีวิต 13 รายวันนี้ มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 6 ราย ภาคเหนือ 3 ราย อื่นๆ 3 ราย กทม.1 ราย มีผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน 11 ราย คิดเป็นร้อยละ 85 อายุน้อยสุด 69 ปี สูงสุด 92 ปี มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อโอมิครอนรวม 2 ราย ราย แรกหญิง อายุ 86 ปี อยู่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นผู้ป่วยติดเตียง เป็นอัลไซเมอร์และมีโรคประจำตัวฉีดวัคซีนไฟเซอร์ไป 2 เข็ม มีประวัติเสี่ยงจากหลานชายที่เดินทางกลับจาก จ.ภูเก็ต เป็นผู้ป่วยยืนยันสายพันธุ์โอมิครอน แพร่เชื้อให้คนในครอบครัว วันที่ 6 ม.ค.ผู้ป่วยมีไข้ มีเสมหะ วันที่ 12 ม.ค.ผู้ป่วยเสียชีวิตเวลา 09.20 น. ผลตรวจยืนยันสายพันธุ์โอมิครอน
...
หญิงอุดรฯติดเชื้อจากลูกชาย
นพ.เฉวตสรร ระบุว่าอีกราย จ.อุดรธานี หญิงไทย 84 ปี มีโรคประจำตัวมะเร็งปอดระยะสุดท้าย ติดเตียงรักษาแบบประคับประคองใช้ออกซิเจนตลอดเวลาไม่ได้รับวัคซีนป้องกันโควิดมีประวัติคนในครอบครัวติดเชื้อโควิด โดยลูกชายไปสังสรรค์กับเพื่อนที่ต่างอำเภอกลุ่มคนที่ร่วมสังสรรค์ 4 คน พบติดเชื้อ วันที่ 9 ม.ค.ผู้ป่วยได้รับการตรวจหาเชื้อด้วย RT-PCR ทราบผลติดเชื้อวันที่ 10 ม.ค.ผู้ป่วยและญาติปฏิเสธการรักษาใน รพ. ประสงค์แยกกักรักษาที่บ้านเป็น HI ให้ยาตามแผนการรักษาและจัดอุปกรณ์ไปตรวจติดตามตลอด หลังวันที่ 10 ม.ค.ไม่มีไข้ มีอาการรับประทานอาหารได้น้อยลง ระดับออกซิเจนค่อยๆลดลง และเสียชีวิตในวันที่ 15 ม.ค.เวลา 19.45 น.รวมอยู่ในการรักษา HI 6 วัน ซึ่งเป็นรายที่สองที่เสียชีวิตจากโอมิครอน ทั้งสองรายมีความเสี่ยงทั้งสูงอายุและมีโรคประจำตัว จึงขอรณรงค์ให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น
เริ่มโล่ง นทท.ติดเชื้อไม่เพิ่มขึ้น
นพ.เฉวตสรรกล่าวด้วยว่า รายจังหวัดติดเชื้อวันนี้สูงสุดที่ กทม. ตามด้วยสมุทรปราการ ชลบุรี ภูเก็ต นนทบุรี ขอนแก่น หลายส่วนเป็นคลัสเตอร์เดิมยังมีต่อเนื่อง ส่วนแนวโน้มจังหวัดนำร่องท่องเที่ยว หลังจากไม่ได้เปิดรับนักท่องเที่ยวนับแต่วันที่ 7 ม.ค.เป็นต้นมา ไม่ได้เพิ่มสูงกว่าเดิม เส้นกราฟรายจังหวัดไม่สูงชัน กทม.สูงเล็กน้อย ชลบุรีดูเหมือนจะผ่านจุดที่เคยมีผู้ติดเชื้อสูงสุดและลดต่ำลง ภูเก็ตและสมุทรปราการอยู่ในลักษณะคงตัวมาระยะหนึ่ง

ยันมีไฟเซอร์ฉีดให้ต่อเนื่อง
ขณะที่ นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวถึงมีกระแสข่าววัคซีนโมเดอร์นา ลอตที่รับบริจาคของรัฐบาลหมด ส่วนวัคซีนไฟเซอร์ มีใช้ได้ถึงเดือน ม.ค.นี้ว่า กรณีวัคซีนโมเดอร์นาลอตบริจาคได้มาเพียง 1 ล้านโดส ใช้หมดแล้ว ส่วนวัคซีนไฟเซอร์จะมีใช้ถึงเดือน ม.ค.65 นั้น ไม่จริง เนื่องจากเราสั่งซื้อวัคซีนไฟเซอร์อยู่ทุกเดือนและส่งเป็นประจำทุกสัปดาห์ โดยวัคซีนไฟเซอร์ที่สั่งซื้อปี 2564 จำนวน 60 ล้านโดส จัดส่งมาครบแล้วและยังใช้ไม่หมด ขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ลอตที่สั่งปี 2565 เริ่มทยอยส่ง โดยจะมาลอตแรกสัปดาห์นี้ ประมาณ 5 แสนโดส และจะทยอยส่งทุกสัปดาห์ไม่มีขาดตอนแน่นอน สำหรับวัคซีนไฟเซอร์ที่ฉีดให้กับเด็ก 5-12 ปี จะต้องเป็นวัคซีนเฉพาะของเด็ก ไม่สามารถนำของผู้ใหญ่มาใช้ได้ จึงต้องสั่งซื้อต่างหาก โดยจะเข้ามาปลายเดือน ม.ค. และเริ่มฉีดได้เดือน ก.พ.65 เป็นต้นไป
โอมิครอนครอง กทม.–ปริมณฑล
วันเดียวกันเฟซบุ๊ก Center for Medical Genomics โดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทย ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี โพสต์ข้อมูลว่าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ฯ ตรวจสายพันธุ์ไวรัสโคโรนา 2019 จาก รพ.รัฐ และเอกชน ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ระหว่างวันที่ 3-16 ม.ค.2565 พบโอมิครอนร้อยละ 97.1 (69/71) เดลตาร้อยละ 2.8 (2/71) ตัวอย่างสุ่มตรวจจากเรือนจำเดลตาร้อยละ 100 (30/30) อันหมายถึงในกรุงเทพฯ หากไม่นับในเรือนจำโอมิครอนน่าจะเข้ามาแทนที่เดลตาเกือบหมดแล้ว การติดเชื้อระหว่าง “โอมิครอนและเดลตา” ไปพร้อมกันในระยะเวลาสั้นๆ ได้จบลงแล้ว ไม่นานโอมิครอนคงจะกระจายไปทั่วประเทศไม่ช้าคงเป็นตามที่ ดร.แอนโธนี เฟาซี ผู้อำนวยการสถาบันโรคติดต่อและภูมิแพ้แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคนสำคัญในคณะทำงานเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดใหญ่ของไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้เตือนว่าในที่สุดแทบทุกคนจะติดเชื้อไวรัสโอมิครอน จากนั้นทั้งภูมิคุ้มกันจากวัคซีนและจากการติดเชื้อตามธรรมชาติจะพุ่งขึ้นสูง ลดความรุนแรงของโรคโควิด-19 และลดอัตราการเสียชีวิตลงอย่างรวดเร็ว เห็นปรากฏการณ์นี้ได้อย่างชัดเจนจากข้อมูลผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากโอมิครอน
คาดมาปิดเกมสู่โรคประจำถิ่น
ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในแอฟริกาใต้ลดลงจนเข้าสู่สภาวะปกติ ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก มีประชากรติดเชื้อไวรัสจากธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอังกฤษเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก อังกฤษใช้วัคซีนไวรัสเป็นพาหะ และเข็มกระตุ้นเป็นวัคซีนสารพันธุกรรม (mRNA) ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในอเมริกา ผู้เชี่ยวชาญคาดว่าใกล้ถึงจุดสูงสุดใน 1-2 อาทิตย์ข้างหน้า ในขณะที่ผู้เสียชีวิตไม่มาก อเมริกาใช้วัคซีน mRNA เป็นวัคซีนนำสองเข็มแรก และใช้เป็นเข็มกระตุ้นด้วย ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกับประเทศไทย รวมทั้งอิหร่าน ที่มีการติดเชื้อจากธรรมชาติในอัตราสูงนำมาก่อน ก่อนจะมารับวัคซีนเชื้อตายและสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะ และ/หรือ วัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น พบว่าได้ผลดีมากมีผู้ติดเชื้อรายใหม่จากโอมิครอนและผู้เสียชีวิตต่ำ ประเทศไทยมีการติดเชื้อจากธรรมชาติไม่มาก ได้รับวัคซีนเชื้อตายและสลับมารับวัคซีนที่ใช้ไวรัสเป็นพาหะและ/หรือวัคซีน mRNA เป็นเข็มกระตุ้น ได้ผลดีเช่นกัน แม้จะเห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นจากโอมิครอน แต่ผู้เสียชีวิตลดต่ำลงอย่างต่อเนื่อง และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป ไวรัสโคโรนา 2019 คงจะจบเกม (End game) กลายเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) เหมือนไข้หวัดใหญ่ ซึ่งมาตามฤดูกาล โดยมีผู้เสียชีวิตประมาณร้อยละ 0.1
คนกรุงแห่ปักเข็ม 3 กันโอมิครอน
ส่วนที่ศูนย์ฉีดวัคซีน สถานีกลางบางซื่อ กทม.ตลอดวันที่ 17 ม.ค. มีประชาชนเดินทางเข้ามาฉีดวัคซีนทั้งเข็ม 1 เข็ม 2 และเข็ม 3 ซึ่งเป็นเข็มกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือบูสเตอร์โดส อย่างต่อเนื่อง หลังพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใน กทม.ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์โอมิครอน โดยผู้ที่เข้ามาฉีดต้องลงทะเบียนล่วงหน้าทางเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 4 ค่ายหลักเท่านั้น ไม่รับการวอล์กอิน เว้นแต่ผู้มีอายุ 75 ปีขึ้นไป และ มีวัคซีนให้เลือก 2 ยี่ห้อทั้งแอสตราเซเนกา และไฟเซอร์ ส่วนวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 จะได้ฉีดสูตรไขว้ แอสตราฯ+ไฟเซอร์ ส่วนเข็มที่ 4 จะจัดฉีดให้เฉพาะบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยง 7 โรคเรื้อรังก่อน

นายกฯ มอบ ศธ.พาเด็กกลับมาเรียน
ส่วนที่กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ว่าเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้เด็กจำนวนมากหลุดออกจากระบบ การศึกษา คาดว่ามีกว่าแสนคน กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการติดตามนักเรียนนำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา ด้วยการสร้างความร่วมมือของแต่ละหน่วยงาน หลังจากนี้ เราจะคืนโอกาสให้กับเด็กๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยการพาเด็กๆกลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับปี การศึกษาใหม่ 2565 นี้ โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์
เลขาฯ คปภ.แจ้งติดโควิด
ขณะเดียวกันตลอดวันมีคนดังคนบันเทิงทยอยประกาศติดเชื้อโควิด-19 โดยนายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.)โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กสำนักงาน คปภ. ว่า ติดเชื้อโควิด-19 พร้อมแจ้งไทม์ไลน์อย่างละเอียดระหว่างวันที่ 10-14 ม.ค. 2565 โดยระบุว่า ส่วนใหญ่ ประชุมออนไลน์ สำนักงานฯ และเดินทางไปประชุมนอกสถานที่บ้าง แต่สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด ขณะที่วันศุกร์ที่ 14 ม.ค.ช่วงเช้าแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนบริเวณหน้าตึกศาลปกครองกลางและเข้าชี้แจงคดีที่ห้องพิจารณาคดี ศาลปกครองกลาง สวมหน้ากากอนามัยสองชั้นตลอด ยกเว้นช่วงรับประทานอาหารกลางวันที่ห้องอาหารศาลปกครองกลาง ซึ่งแยกมาทานโต๊ะเดี่ยว วันเสาร์ที่ 15 ม.ค.เริ่มมีอาการคล้ายๆ แพ้อากาศ คัดจมูก และมีไข้เล็กน้อย จึงตรวจ ATK ช่วงบ่าย ผลเป็นบวก จึงรีบไปตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาล แล้วรีบกักตัวทันที และวันอาทิตย์ที่ 16 ม.ค.ทราบผลตรวจว่าติดเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาและกักตัว
ฉีดเข็ม 4 แล้วยังไม่รอด
เลขาธิการ คปภ.ระบุอีกว่าได้ฉีดวัคซีนกระตุ้นเข็ม 4 เป็น Moderna เมื่อวันศุกร์ที่ 7 ม.ค. ส่วนช่วงเวลาในไทม์ไลน์ ไม่ได้ไปเดินห้าง ไม่ได้ไปซื้อของข้างนอก และไม่ได้ไปรับประทานอาหารที่ร้านอาหารใดๆ จึงไม่ทราบว่าติดเชื้อโควิดจากที่ใด และได้ประสานแจ้งบุคคลที่ใกล้ชิด ได้พบและประชุมให้ทราบ พร้อมได้รายงานผู้บังคับบัญชาแล้ว นอกจากนี้ การจัดประชุมต่างๆ ขอให้ทำผ่านทางระบบ Online รวมถึงขอให้ทุกท่านยึดถือมาตรการป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ด้วยการสวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ อย่างเคร่งครัด ทั้งนี้คุณหมอบอกว่าอาการไม่รุนแรงเนื่องมาจากที่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นแล้ว จึงขอเชิญชวนให้ทุกท่านแม้ว่าจะไม่ประมาท ก็ควรไปฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อในกรณีที่ติดเชื้อ อาการจะได้ไม่รุนแรง
มีประกันเจอจ่ายจบแต่จะไม่ใช้
นายสุทธิพลเปิดเผยในเวลาต่อมาว่าภรรยาตนซื้อประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ให้ตนทางออนไลน์ ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว และภรรยาต่อประกันเมื่อครบกำหนด ตอนซื้อภรรยาตนไม่ทราบว่ามีข้อความให้บริษัทบอกเลิกสัญญาได้ ซึ่งคนทั่วไปเชื่อว่าคงไม่ทราบเช่นกัน ภรรยาเอากรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทส่งมาให้ทางออนไลน์ให้ดูภายหลัง ปรากฏว่าข้อความที่เป็นเงื่อนไขของกรมธรรม์ประกันภัยนั้นมี ถ้าอยากทราบต้องคลิกเข้าไปอ่าน คนส่วนใหญ่จะไม่คลิกเข้าไปดู แต่ยืนยันจะไม่เคลมประกันภัยโควิดแบบเจอ จ่าย จบ ที่ซื้อไว้ ด้วยเหตุผล 1.เวลานี้ยังมีสวัสดิการและเงินเดือนพอที่จะดูแลค่ารักษาพยาบาลได้ เพื่อบริษัทประกันภัยจะได้เอาเงินประกันภัยเจอ จ่าย จบ ไปจ่ายให้ผู้เอาประกันภัยคนอื่นที่เขาเดือดร้อน และ 2.เพื่อแสดงถึงความบริสุทธิ์ใจ และไม่ให้เกิดประเด็นที่อาจจะไปอ้างว่าที่ตนต่อสู้เรื่องไม่ให้เลิกประกันภัยเจอ จ่าย จบ เพราะต้องการจะป่วยเป็นโควิด แล้วเคลมประกันภัยเพื่อประโยชน์ส่วนตัว

“หญิง-วิคเตอร์” ติดโควิด
ส่วนคนบันเทิงที่ติดโควิด-19 เพิ่มได้แก่ หญิง-รฐา โพธิ์งาม นักร้องและนักแสดงชื่อดังโพสต์ในไอจีเมื่อวันที่ 17 ม.ค.ว่าติดเชื้อโควิด-19 โดยวันที่ 11 ม.ค.ไปถ่ายละครตามปกติ วันที่ 12 ม.ค.ทางกองแจ้งว่ามีนักแสดงที่ถ่ายทำวันที่ 11 ติดเชื้อโควิด-19 ตนจึงกักตัวอยู่บ้านจนวันที่ 14 ม.ค.มีอาการเจ็บคอ ปวดศีรษะ จึงเดินทางไปตรวจ RT-PCR แบบไดรฟ์ทรู และวันที่ 15 ม.ค. ผลออกมาว่าติดเชื้อโควิด-19 ตอนนี้เข้าพักรักษาตัวที่ฮอสพิเทล ขณะที่บริษัทจีเอ็มเอ็มทีวี จำกัด แจ้งว่านักแสดงหนุ่ม “วิคเตอร์-ชัชชวิศ เตชะรักษ์พงศ์” ติดเชื้อโควิด-19 แพทย์ประเมินอาการเป็นผู้ป่วยสีเขียว จึงได้ให้แยกกักตัวที่บ้าน หรือโฮม ไอโซเลชัน เพื่อ ติดตามอาการและรักษา รวมทั้งปฏิบัติตามมาตรการที่ถูกต้องต่อไป
คุมเข้มการเปิดเรียนตามปกติ
สำหรับสถานการณ์ทั่วประเทศ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายจังหวัดกลับมาเปิดการเรียนการสอนแบบออนไซต์ ให้นักเรียนกลับมาเรียนที่โรงเรียนตามปกติ ทำให้บรรยากาศหน้าโรงเรียนหลายแห่งกลับมาคึกคัก โดยนักเรียนทุกคนต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด ทั้งการคัดกรองที่ประตูโรงเรียน วัดอุณหภูมิ ตรวจ ATK ฯลฯ โดยที่ จ.ยะลา มีโรงเรียนเปิดเรียนวันแรก 46 แห่ง นายนพปฎล มุณีรัตน์ ผอ.โรงเรียนคณะราษฎรบำรุง จังหวัดยะลา เปิดเผยว่า ได้เน้นย้ำในการปฏิบัติตาม มาตรการต่างๆอย่างเคร่งครัด มีการจัดการเรียนการสอน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือนักเรียนที่มีเลขคี่ จำนวน 773 คน และนักเรียนเลขคู่ จำนวน 774 คน มาเรียนสลับกันใน 2 อาทิตย์แรก พร้อมทั้งตรวจ ATK มีการตรวจเป็นระยะและสม่ำเสมอ รวมถึงเน้นย้ำเรื่องของการดูแลรักษาตนเอง ไม่ให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้านนายธนธร แสงสมนึก นักเรียนชั้น ม.3 เปิดเผยว่า ดีใจและตื่นเต้นที่โรงเรียนเปิด ได้เจอเพื่อน ที่ผ่านมาเรียนออนไลน์ไม่ค่อยเข้าใจ บางครั้งสัญญาณไม่ค่อยดี ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการเรียน
ให้สลับเรียนคนละสัปดาห์
เช่นเดียวกับที่บริเวณหน้าโรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ ผู้ปกครองเดินทางมาส่งบุตรหลานที่ดีใจได้เข้าเรียนแบบออนไซต์เป็นวันแรกหลังจากที่เรียนออนไลน์มานาน โดยแบ่งชั้นเรียนมากันละ 1 สัปดาห์ แบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือสัปดาห์แรกเป็นของนักเรียนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 3 ป.2 ป.4 และชั้น ป.6 ส่วนอาทิตย์ถัดไปเป็นของนักเรียนชั้นอนุบาล 2 ป.1 ป.3 และชั้น ป.5 ด้านนายโกวิท หมื่นทา ผอ.โรงเรียนอนุบาลเชียงใหม่ เปิดเผยว่า โรงเรียนแบ่งการเรียนการสอนออกเป็น 2 รูปแบบ คือการเรียนออนไซต์ และออนไลน์มีการแบ่งเป็นสัปดาห์และให้เด็กอยู่ภายในห้องเรียนได้ไม่เกิน 25 คน นอกจากมาตรการคัดกรองก่อนเข้ามาในโรงเรียนแล้ว ยังเน้นย้ำเรื่องของการสวมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และบริเวณจุดสัมผัสร่วมกันภายในโรงเรียนจะมีแม่บ้านเข้ามาทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ และทุกสัปดาห์จะมีการฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อบริเวณโดยรอบโรงเรียน ประกอบกับครู และบุคลากรของโรงเรียนได้รับการฉีดวัคซีนทั้ง 2 เข็ม เพื่อป้องกันโควิด-19 ไปแล้วทั้งหมด

โคราชคลัสเตอร์ใหม่ผุดอีก 3
ส่วน จ.นครราชสีมา รายงานพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 124 คน ไม่มีผู้ป่วยเสียชีวิต โดย อ.เมืองนครราชสีมา ยังเป็นพื้นที่สีแดงติดเชื้อมากที่สุด 54 คน ส่วนโอมิครอนสะสมยังอยู่ที่ 17 คน นอกจากนี้ยังพบคลัสเตอร์ใหม่ 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์เด็กเล็กสระประทีป ต.เสิงสาง อ.เสิงสาง พบผู้ป่วยทั้งหมด 11 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 150 คน โรงงานน้ำตาลครบุรี อ.ครบุรี ตรวจพบผู้ป่วย 15 คน เป็นพนักงานแผนกออโต้ 11 คน และผู้สัมผัสใกล้ชิด 4 คน ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 74 คน เป็นพนักงานในโรงงาน 67 คน กักตัวในโรงงาน และผู้สัมผัสร่วมบ้านและในชุมชน 7 คนให้กักตัวที่บ้าน และคลัสเตอร์งานศพ หมู่ 8 บ้านแสนสุข และหมู่ 13 บ้านสันติสุข ต.ห้วยแถลง อ.ห้วยแถลง เริ่มจากญาติที่มาจากต่างจังหวัดถึง 6 จังหวัด (กรุงเทพฯ-สุรินทร์-ระยอง-ชลบุรี-ฉะเชิงเทรา-จันทบุรี) พบมีการติดเชื้อ 34 คน
คลองเขื่อนระดมฉีดเข็ม 3-4
ที่ อ.คลองเขื่อน จ.ฉะเชิงเทรา นายเสฏฐวุฒิ วงศ์เลอวุฒิ นายอำเภอคลองเขื่อน ร่วมกับ รพ.คลองเขื่อน สาธารณสุขอำเภอคลองเขื่อน รพ.สต. และ อสม.จัดฉีดวัคซีนป้องกันโควิดเข็มที่ 3 และ 4 ให้แก่บุคลากรด่านหน้าประกอบด้วยส่วนราชการทุกส่วน ตำรวจ ฝ่ายปกครองท้องที่ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ข้าราชการ บุคลากร ลูกจ้างทุกคนและโอกาสนี้ พล.ต.ต.นันทวุฒิ สุวรรณละออง ผบก.ภ.จ.ฉะเชิงเทรา ได้นำตำรวจ สภ.คลองเขื่อน มาร่วมรับวัคซีนกระตุ้น เป็นแบบอย่างในการสร้างความมั่นใจที่ดีให้กับประชาชนอีกด้วย
ฝรั่งเศสผ่าน ก.ม.พาสปอร์ตวีซ่า
ด้านสถานการณ์ทั่วโลก เมื่อวันที่ 17 ม.ค.สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ฝั่งสภาของฝรั่งเศสลงมติเห็นชอบมาตรการต่างๆ ที่ช่วยป้องกันโควิด-19 รวมถึงพาสปอร์ตวัคซีน ด้วยคะแนน 215 ต่อ 58 เสียง ซึ่งกฎหมายใหม่นี้เตรียมออกบังคับใช้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ที่จะให้ประชาชนที่มีใบรับรองการฉีดวัคซีนแล้ว สามารถเข้าไปใช้บริการสาธารณะชุมชนได้ เช่น ร้านอาหาร คาเฟ่ โรงภาพยนตร์ รถไฟที่วิ่งทางไกล หลังประธานาธิบดี เอ็มมานูเอล มาครง ประกาศก่อนหน้าว่าจะใช้วิธีกดดันคนที่ไม่ฉีดวัคซีนให้ใช้ชีวิตยากลำบากขึ้นเพื่อจะได้เข้ารับการฉีดวัคซีน จากปัจจุบันคนที่ไม่ฉีดวัคซีนยังสามารถเข้าใช้บริการสถานที่ต่างๆ ได้หากผลตรวจออกมาเป็นลบ ซึ่งประชากรเกือบร้อยละ 78 ฉีดวัคซีนครบสองเข็มแล้ว แต่การระบาดระลอก 5 ยังพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ทำสถิติกว่า 300,000 รายต่อวัน แต่ผู้ติดเชื้อป่วยหนักจนเข้าห้องไอซียูยังต่ำกว่าการระบาดระลอกแรกช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย.2563