- คลัสเตอร์ใหม่ผุดเพียบ พบส่วนใหญ่มาจากร้านอาหารกึ่งผับ ทำเชื้อลามระบาด 8 จังหวัดสีฟ้า ส่วนการติดเชื้อ "โอมิครอน" ในเด็กอัตราครองเตียงยังไม่สูง อาการส่วนใหญ่คล้ายไข้หวัด
- เผยลักษณะอาการป่วยในเด็ก คล้ายไข้หวัด แนะผู้ปกครองสงสัยตรวจ ATK เผยอาการไม่หนัก หายเองได้ภายใน 3-4 วัน พบปัจจัยติดเชื้อยังมาจากการ "สัมผัส-ใกล้ชิด" ผู้ป่วย
- เตรียมแผนฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี รอเอกสารอนุมัติ "เชื้อตาย" ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ฉีด "ไฟเซอร์" ย้ำฉีดวัคซีนในเด็กเป็นไปตามความสมัครใจ เร่งกลุ่ม 608 กระตุ้นเข็ม 3 สู้โควิดฯ
สถานการณ์โควิดฯ ในไทยปะทุต่อเนื่อง หลังผ่านพ้นปีใหม่มา 1 สัปดาห์ นับตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค.65 เป็นต้นมา พบผู้ติดเชื้อรายใหม่พุ่งกว่า 6-8 พันคนต่อวัน ส่วนสถานการณ์ "โอมิครอน" ขณะนี้อยู่ในช่วงเริ่ม "พีก" พบผู้ติดเชื้อจำนวนมากและคลัสเตอร์ผุดขึ้นในหลายจังหวัด โดยเฉพาะตามร้านอาหารกึ่งผับ-กึ่งสถานบันเทิง ล่าสุดมีคนไทยสังเวยชีวิตให้เจ้าไวรัสสายพันธุ์นี้แล้ว 2 ราย ส่วนการติดเชื้อ "โอมิครอน" ในเด็กนั้น ขณะนี้พบอัตราป่วยครองเตียงยังไม่เพิ่มสูง อาการส่วนใหญ่ยังคล้าย "ไข้หวัด" แนะผู้ปกครองตรวจ ATK บุตรหลาน หากเห็นอาการต้องสงสัย ซึ่งหากพบว่าป่วยให้เน้นรักษาตามอาการ ขณะที่การฉีด "วัคซีน" ให้เด็กเล็กเพื่อป้องกันการติดเชื้อโควิดฯ จะมาช่วงปลายเดือน ม.ค. และเริ่มฉีดได้ต้น ก.พ.นี้
...
ห่วง 8 จ."สีฟ้า" ติดเชื้อเพิ่ม-ร้านอาหารกึ่งผับทำ "คลัสเตอร์ใหม่" ลาม
ภายหลังยอดผู้ติดเชื้อโควิดฯ พุ่งสูงขึ้นอีกระลอก โดยเฉพาะพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (สีฟ้า) ที่มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น ล่าสุดที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก มีความเป็นห่วง 8 จังหวัดพื้นที่สีฟ้า จึงเน้นย้ำพื้นที่ดังกล่าว แม้จะเปิดกิจกรรม-กิจการได้ แต่ต้องกำกับติดตามมาตรการต่างๆอย่างเข้มข้น ทั้งโควิดฟรีเซตติ้ง และมาตรการป้องกันตัวเองแบบครอบจักรวาล ส่วน “คลัสเตอร์ใหม่” ที่พบมากสุดตอนนี้ ยังคงเป็นร้านอาหารกึ่งผับกึ่งสถานบันเทิง พบที่ จ.อุบลราชธานี จ.น่าน จ.อุดรธานี จ.พะเยา จ.ขอนแก่น จ.เชียงใหม่ และ จ.ศรีสะเกษ ส่วนคลัสเตอร์สังสรรค์ปีใหม่พบที่ จ.อุดรธานี และ จ.หนองบัวลำภู คลัสเตอร์โรงงานพบที่ จ.นครพนม คลัสเตอร์งานบุญพบที่ จ.อุบลราชธานี คลัสเตอร์สถานพยาบาลพบที่ กทม. และคลัสเตอร์สถานศึกษาพบที่ จ.จันทบุรี จ.นนทบุรี และ กทม.
เข้มแผนเผชิญเหตุในโรงเรียนรับมือโควิดฯ
ส่วนการเรียนการสอนในหลายพื้นที่ หลังสถานการณ์โควิดฯ กลับมาแพร่ระบาดอีกครั้ง พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่า ที่ประชุมอีโอซี กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้หารือถึงเรื่องการปิด-เปิดโรงเรียนและสถานศึกษา เพราะจากสถานการณ์ขณะนี้ทำให้มีสถาบันการศึกษาหลายแห่ง ปรับการเรียนการสอนมาเป็นออนไลน์ส่วนใหญ่ โดยกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กับ สธ.ได้ประชุมร่วมกันและจัดทำมาตรการต่างๆ เตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน เพื่อทำแผนเผชิญเหตุในกรณีพบการติดเชื้อของนักเรียนและนักศึกษา หรือบุคลากรในโรงเรียน โดยใช้มาตรการที่เรียกว่า 6-6-7 คือ 6 มาตรการหลัก ได้แก่ เว้นระยะ สวมหน้ากากตลอดเวลา ล้างมือ วัดไข้ ไม่ทำกิจกรรมที่มีคนแออัดจำนวนมาก ส่วน 6 มาตรการเสริม ได้แก่ ใช้ช้อนกลางส่วนตัว ลงทะเบียนก่อนเข้า-ออกโรงเรียนหรือสถานศึกษา และ 7 มาตรการเข้มงวด ที่เป็นมาตรการที่ทุกสถานศึกษาต้องดำเนินการ ได้แก่ ประเมินด้วยแอปพลิเคชันไทยสต็อปโควิดพลัส นอกจากมาตรการ 6-6-7 แล้ว การจะเปิดเรียนจะต้องได้รับวัคซีนเกิน 75% เด็กนักเรียนได้รับการฉีดวัคซีน ช่วงอายุ 12 ปีขึ้นไป ตรวจคัดกรองด้วย ATK เป็นระยะ
อาการ "โอมิครอน" คล้าย "หวัด" ไม่หนักเหมือน "เดลตา"
ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าห้องไอซียู เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ ผู้ป่วยหนักและโรคผู้สูงอายุ รพ.วิชัยยุทธ ระบุถึงอาการป่วย "โอมิครอน" ว่า ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่จะมีอาการไม่มาก เช่น มีไข้ต่ำๆ น้ำมูก ระคายคอ เสลดในลำคอ ไอบ้าง จาม ปวดเมื่อยตัว อาการคล้ายไข้หวัด ไม่รุนแรงเหมือนสายพันธุ์เดลตาที่มีไข้สูง ไอมาก หอบเหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดต่ำ เพราะสายพันธุ์เดลตาเข้าไปในถุงลมของปอด บางคนเกิดปอดอักเสบ ระบบหายใจล้มเหลว ผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่ต้องไปนอนรักษาใน รพ. สามารถอยู่บ้านได้ แยกตัวจากคนอื่นในบ้านอย่างน้อย 5 วัน สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้คนอื่น ถ้าผ่านไป 5 วัน ไม่มีอาการ ออกจากบ้านได้ แต่ยังต้องใส่หน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดอีก 5 วัน
แนะวิธีรักษา "โอมิครอน" ด้วยตัวเองที่บ้าน
นพ.มนูญ ระบุต่อว่า โอมิครอนรักษาตามอาการ เหมือนหวัด มีไข้กินยาแก้ไข้ มีน้ำมูกกินยาลดน้ำมูก ไอกินยาแก้ไอ มีเสมหะกินยาละลายเสมหะ เจ็บคอดื่มน้ำผึ้งผสมมะนาว ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ทำใจให้สบายอย่าเครียด อาการส่วนใหญ่ดีขึ้นเองใช้เวลาประมาณ 5 วัน สหรัฐอเมริกามีคนติดเชื้อวันละ 1 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่บ้านไม่ได้รักษาในโรงพยาบาล เขาแนะนำซื้อยาจากร้านขายยาโดยไม่ต้องพบแพทย์ กินอาหารเสริมจากธรรมชาติ
...
กิน "ฟ้าทะลายโจร" ได้ แต่ไม่ควรกิน "ยาฟาวิพิราเวียร์"
ส่วนผู้ป่วยรายใดอยากกินยาฟ้าทะลายโจร หากพบว่าตัวเองติดเชื้อนั้น นพ.มนูญ ระบุอีกว่า ใครอยากกิน เพื่อลดอาการไอ เจ็บคอ ลดไข้ บรรเทาอาการหวัดก็ได้ หรือถ้าเชื่อว่าฟ้าทะลายโจรมีแอนโดรกราโฟไลด์ ช่วยลดจำนวนไวรัสโควิดฯ ต้องกินแอนโดรกราโฟไลด์ขนาดสูง 180 มก./วัน สำหรับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีน้ำหนักตัวตั้งแต่ 50 กิโลกรัมขึ้นไป แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารนาน 5 วัน สมุนไพรฟ้าทะลายโจรใช้มานานหลายสิบปี มีความปลอดภัยถ้าใช้ถูกต้อง ไทยผลิตได้เอง ราคาไม่แพง แต่ไม่ควรกินยาฟาวิพิราเวียร์ ปัจจุบันยังไม่มีการรายงานเปรียบเทียบการใช้ยาจริงกับยาหลอกว่า ยาฟาวิพิราเวียร์ใช้ได้ผลในการรักษาโรคโควิดฯ และเสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ญี่ปุ่นที่เป็นผู้คิดค้นและผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ ไม่อนุญาตให้คนญี่ปุ่นใช้ยานี้รักษาโรคโควิดฯ
เผยลักษณะอาการป่วยในเด็ก แนะผู้ปกครองตรวจ ATK หากต้องสงสัย
ส่วนการติดเชื้อโควิดฯ และอัตราการครองเตียงในเด็กขณะนี้นั้น นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก กล่าวว่า การติดเชื้อและอัตราการครองเตียงในเด็กขณะนี้ ไม่ได้มากขึ้นกว่าปกติ เป็นไปตามคาดการณ์ว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น เป็นเหมือนกันทั่วโลก เพราะเด็กอายุ 5-11 ขวบ เป็นกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ไม่ใช่เชื้อมีความรุนแรง แต่ต้องป้องกันไม่ให้มีผู้ป่วยมากเกินไป เพราะไม่เช่นนั้นอาจมีอาการรุนแรงได้
ส่วนลักษณะอาการของเด็กที่พบนั้น คล้ายไข้หวัด อาการน้อยมากถึง 50% เพียงมีไข้ ไอ บางคนอาจท้องเสีย หากผู้ปกครองไม่แน่ใจตรวจ ATK ในเด็กได้ แต่ต้องอาศัยคนช่วยจับศีรษะ ป้องกันเด็กดิ้น ใช้การป้ายน้ำมูกตรวจเชื้อ ไม่จำเป็นต้องแยกสายพันธุ์ เน้นการรักษาตามอาการเพียง 3-4 วันก็หาย
...
ปัจจัยติดเชื้อยังมาจากการ "สัมผัส-ใกล้ชิด" คนป่วย
นพ.อดิศัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนปัจจัยของการติดเชื้อนั้น ยังเป็นเรื่องของการสัมผัสใกล้ชิดกับบุคคลในครอบครัวที่มีอาการป่วย เพราะส่วนใหญ่เด็กอยู่กับบ้าน ส่วนอาการหรือสัญญาณที่ควรนำตัวเด็กมารักษาดูอาการใน รพ.คือ เมื่อมีไข้สูง 39 องศาฯ หายใจเร็ว ซึม ไม่ทานอาหาร ควรมาพบแพทย์ทันที ทั้งนี้ การรับวัคซีนในเด็กจะช่วยป้องกันการติดเชื้อได้
เตรียมแผนไล่ฉีดวัคซีนเด็ก 5-11 ปี
ส่วนการฉีดวัคซีนให้เด็กอายุ 5-11 ปีนั้น พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ อย.อนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์ในเด็ก 5-11 ปีแล้ว วัคซีนที่ใช้ในเด็กอายุช่วงดังกล่าว (ฝาสีส้ม) จะต่างจากวัคซีนไฟเซอร์ที่ใช้ในผู้ใหญ่ (ฝาสีม่วง) ในเด็กใช้ 10 ไมโครกรัม ในผู้ใหญ่ใช้ 30 ไมโครกรัม ดังนั้นถ้าใช้ฝาสีม่วงของผู้ใหญ่มาแบ่งเป็น 3 โดส โดสละ 10 ไมโครกรัม เพื่อจะฉีดให้เด็กได้หรือไม่ ต้องบอกว่าใช้ทดแทนกันไม่ได้ เด็กต้องใช้แบบเฉพาะเด็กฝาสีส้มเท่านั้น ส่วนเด็กโตขึ้นไปและผู้ใหญ่ต้องใช้ในสูตรที่เป็นฝาสีม่วง 30 ไมโครกรัม ทดแทนกันไม่ได้ ตอนนี้วัคซีนเด็กฝาสีส้มประเทศไทยสั่งเข้ามาแล้ว จะเริ่มทยอยเข้ามาช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือภายในเดือน ก.พ. ถือว่าเร็วมาก เพราะวัคซีนในโดสเด็กตอนนี้เป็นที่ต้องการของทั่วโลก ไทยนำเข้าวัคซีนโดสเด็กถือว่าเป็นประเทศอันดับ 2 ที่ได้วัคซีนเด็กในเอเชีย ตอนนี้ได้มีการเตรียมแผนฉีดวัคซีนเด็กอายุ 5-11 ปีแล้ว โดยเตรียมฉีดไล่จากเด็กอายุ 11 ปีลงมา ส่วนวัคซีนเชื้อตายทั้งซิโนแวคและซิโนฟาร์มนั้น คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เร่งขึ้นทะเบียนวัคซีนเชื้อตายอยู่ แต่ต้องรอผ่านมติคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วย เมื่อผ่านแล้วผู้ปกครองจะเลือกสูตรการฉีดให้บุตรหลานได้ด้วยความสมัครใจ ขอให้รอสักนิดตอนนี้อยู่ระหว่างการดำเนินการ
...
รอเอกสารอนุมัติ "เชื้อตาย" ประเมินฉีด "ไฟเซอร์" เด็กเล็กปลอดภัย
ด้าน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา อธิบายถึงวัคซีนโควิดฯ ที่จะฉีดให้กับเด็กว่า กรมควบคุมโรคแจ้งว่า วัคซีนเด็กที่ถึงไทยปลายเดือน ม.ค.นี้ ตัวยาเป็นชนิดเดียวกันกับผู้ใหญ่ เพียงแต่ผู้ผลิตปรับสูตรผสมน้ำกลั่น ความคงตัวที่ทำให้วัคซีนเก็บในอุณหภูมิ 2-8 องศาฯ ได้นาน 2 เดือน เป็นข้อดีว่าจะใช้และเก็บรักษาได้ง่ายขึ้น สำหรับวัคซีนเชื้อตายซิโนแวคและซิโนฟาร์มนั้น ผู้ผลิตซิโนแวคที่องค์การเภสัชกรรมได้รับอนุญาตนำเข้า ส่งเอกสารเรื่องความปลอดภัยในเฟส 1, 2, 3 มาแล้ว เหลือเอกสารด้านประสิทธิภาพเท่านั้น ขณะนี้ได้ให้องค์การเภสัชฯ ติดต่อผู้ผลิตในประเทศจีน เพื่อติดตามเอกสารนี้ ข้อดีซิโนแวค คือ วัคซีนที่นำไปศึกษาในเด็กเป็นตัวเดียวกับผู้ใหญ่ ต่างจากไฟเซอร์ที่ต้องรอวัคซีนรุ่นใหม่สำหรับเด็ก ผู้ปกครองบางคนกังวลไฟเซอร์ ที่จะมีอาการข้างเคียงกล้ามเนื้ออ่อนแรง อย.ประเมินไฟเซอร์ที่ฉีดในเด็ก 12-18 ปี พบว่าผลข้างเคียงไม่ใช่อย่างที่หลายคนกังวล ไม่ค่อยมีปัญหา และโดสเด็กเล็กใช้ลดลงก็ประเมินว่ามีความปลอดภัย แต่การฉีดเป็นไปตามความสมัครใจของผู้ปกครอง
ผู้ปกครองส่วนใหญ่ให้ฉีดไฟเซอร์ ย้ำฉีดวัคซีนในเด็กเป็นไปตามสมัครใจ
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิดในเด็ก 5-12 ปีนั้น นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ตามที่บริษัทไฟเซอร์นัดหมายจะส่งวัคซีนสำหรับเด็ก 5-12 ปี มาในช่วงปลายเดือน ม.ค.65 เชื่อว่าเป็นไปตามกำหนด ขณะที่กระทรวงศึกษาธิการรายงานว่า จำนวนเด็กในกลุ่ม 5-12 ปี มี 5 ล้านคน จากการสุ่มสำรวจ ผู้ปกครองสมัครใจให้ลูกรับวัคซีนไฟเซอร์ร้อยละ 70 ยืนยันว่าวัคซีนที่ อย.รับรองมีความปลอดภัย และสามารถฉีดได้ตามกำหนด รายงานต่างประเทศพบว่าการฉีดในเด็กเล็กนั้น เกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้เหมือนผู้ใหญ่ แต่เกิดขึ้นได้น้อยกว่ามาก ด้วยปริมาณที่ใช้ต่างจากผู้ใหญ่ ทั้งนี้การฉีดวัคซีนเป็นไปตามความสมัครใจ และยืนยันว่าไม่ใช่เงื่อนไขการเข้าเรียนออนไซต์ หรือการเอามากำหนดแนวทางการเรียนของเด็ก
พยายามกดผู้ป่วยให้อยู่ในเส้นสีเขียว-ย้ำเข้มงวดมาตรการป้องกัน
นพ.โอภาส กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ในไทยว่า ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของไทยเข้าสู่เส้นสีส้มในการคาดการณ์ฉากทัศน์ ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่ไม่พุ่งขึ้นไปในหลักหลายหมื่น เราพยายามกดให้อยู่ในเส้นสีเขียว ต้องมีมาตรการเข้มงวดมาก เช่น ปิดกิจกรรม แต่ไม่อยากทำเช่นนั้น ต้องประคองทุกมิติให้อยู่ร่วมกันได้ และพยายามทำให้โควิดฯ เป็นโรคประจำถิ่น ขณะนี้ผู้ติดเชื้อโควิดฯ ที่แยกกักตัวที่บ้านหรือ HI ส่วนใหญ่มีอาการป่วยน้อยมากถึงไม่มีอาการ เพราะส่วนใหญ่รับวัคซีนไปแล้ว แต่ตัวเลขที่สรุปชัดเจน กำลังประสานกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่รับผิดชอบสายด่วน 1330 และระบบ HI ดูแลผู้ติดเชื้อในระบบ ยืนยันว่าหากอาการน้อย ได้รับวัคซีนแล้วรักษาที่บ้านได้ ขณะที่คนมีโรคประจำตัวจะให้อยู่ใน รพ.
เร่งกลุ่ม 608 ฉีดเข็ม 3 กระตุ้นภูมิ
นพ.โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ต้องย้ำเตือนให้ระวังในกลุ่มคนที่ใกล้ชิดผู้ป่วยเปราะบาง ต้องเคร่งครัดมาตรการส่วนบุคคล สวมหน้ากากอนามัย เคร่งครัด ระยะห่าง ล้างมือ นอกจากนี้ ควรนำกลุ่มเปราะบางที่เป็นผู้สูงอายุ และป่วยเรื้อรังที่รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 3 เดือน ภูมิเริ่มตก และเมื่อมีโอมิครอนที่ระบาดเร็ว อาจต้องการภูมิสูงขึ้นเล็กน้อย จึงประกาศให้กลุ่มเสี่ยง 608 เข้ามารับวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือเข็ม 3 หลังจากรับเข็ม 2 มาแล้ว 3 เดือน โดยฉีดเข็ม 2 เมื่อ ต.ค.64 ให้มารับเข็ม 3 ได้ใน ม.ค.65 ฉีดครบเข็ม 2 พ.ย.64 ให้รับเดือน ก.พ.65 ครบเดือน ธ.ค.64 มาฉีดเดือน มี.ค.65 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เพราะการรับวัคซีนแม้ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ช่วยลดความรุนแรงของโรคและอาการป่วยหนักได้