สยามคูโบต้าร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) โชว์ความสำเร็จโครงการต้นกล้าดิจิทัลรุ่นแรก พลิกบทบาทนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี จากผู้เรียนสู่ผู้สอนถ่ายทอดความรู้ด้านดิจิทัล ให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้เพิ่มประสิทธิภาพในการทำเกษตรมากขึ้น
นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท สยามคูโบต้า คอร์ปอเรชั่น จำกัด เผยว่า คูโบต้าต้นกล้าดิจิทัลเป็นโครงการที่มุ่งหวังส่งเสริมภาคการเกษตรของไทยให้มีความเข้มแข็งด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อให้เกษตรกรก้าวทันต่อยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป โดยบริษัท จะเข้าไปให้องค์ความรู้ สนับสนุนและส่งเสริมด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลด้านการเกษตร เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์การเกษตรให้แก่นักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีทั่วประเทศ 475 ราย พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่หันมาประกอบอาชีพเกษตร กรรมมากยิ่งขึ้น จนเกิดการต่อยอดถ่ายทอดองค์ความรู้สู่เกษตรกร 820 ราย ภายในระยะเวลา 3 เดือน
“โดยทางสยามคูโบต้าจะยังคงเดินหน้าสนับสนุนโครงการต้นกล้าดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง เพื่อยกระดับเกษตรกรไทย ก้าวสู่การเป็นเกษตรอัจฉริยะ พร้อมทั้งหวังสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในการเรียนรู้ด้านการเกษตรเพื่อร่วมพัฒนาภาคเกษตรของไทยให้ก้าวต่อไปในอนาคต”
...
น.ส.พัชรี คงยศ นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 2 คณะเกษตรศาสตร์ สาขางานการเกษตร วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ กล่าวว่า ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่ได้มีการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอยู่แล้ว แต่บางรายยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการใช้และการบำรุงรักษาที่เหมาะสม รวมถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเกษตรในปัจจุบัน สิ่งที่เราได้ไปสอนเกี่ยวกับการใช้แพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันที่เป็นประโยชน์ในการสื่อสารที่รวดเร็ว เกษตรกรสามารถซักถามหรือให้ข้อมูลตอบกลับได้ง่ายขึ้น ตลอดจนช่วยให้เกษตรกรมองเห็นช่องทางในการค้นคว้าหาความรู้และเทคโนโลยีใหม่ๆ เป็นการใช้สื่อที่หลากหลายเพื่อช่วยเสริมสร้างการเรียนรู้ของตัวเองอีกด้วย
น.ส.ฉวีวรรณ สมจันทร์ นักศึกษา ปวส. ชั้นปีที่ 2 คณะเกษตร ศาสตร์ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีกระบี่ เล่าว่า กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดกระบี่มีความ เข้มแข็งและสามัคคีมาก ให้ความร่วมมือในทุกกิจกรรมเป็นอย่างดี และให้ความสนใจเกี่ยวกับความรู้ด้านดิจิทัลเบื้องต้น การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีกับการเกษตรที่เราได้ถ่ายทอดให้ ในฐานะผู้สอนรู้สึกดีใจมากที่ได้มีโอกาสส่งต่อความรู้ให้กับกลุ่มเกษตรกร และผู้เรียนของเรายังสามารถส่งต่อความรู้ได้ด้วย ซึ่งจะเป็นการขยายความรู้ในวงกว้าง เป็นการช่วยสร้างชุมชนให้เรียนรู้และเติบโตไปด้วยกัน ช่วยกันพัฒนาชุมชนไปในทางที่ดีขึ้น
ด้าน น.ส.สุภาพร ชัยสวัสดิ์ เกษตรกรผู้ทำ สวนปาล์มน้ำมัน ยางพารา พื้นที่ 20 ไร่ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ ผู้ได้รับการสอนจากน้องๆในโครงการ เล่าถึงความประทับใจว่า จากเดิมที่เคยทำเกษตรแบบลองถูกลองผิด ลองไปจนกว่ามันจะดีขึ้น แต่เมื่อมีน้องๆมาสอนวิธีการหาความรู้เพิ่มเติมโดยใช้เทคโนโลยี เหมือนมีผู้เชี่ยวชาญมาคอยสอนถึงที่ เราสามารถหาความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำการเกษตร การใช้เครื่องจักรกลการเกษตรที่เหมาะสมและทุ่นแรงเราได้ หรือวิธีการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรให้ดียิ่งขึ้น.
...