ปัจจุบันโคนม 1 ตัว น้ำหนักเฉลี่ย 500 กก. จะมีของเสียที่ขับถ่ายออกมาถึงวันละ 25 กก. ทั้งประเทศมีโคนมรวม 812,666 ตัว ทำให้มีของเสียถึงวันละ 20.31 ล้าน กก. ของเสียส่วนหนึ่งถูกนำไปทำปุ๋ย นอกจากนั้นถูกปล่อยทิ้งจนก่อให้เกิดมลภาวะ

หากของเสียเหล่านี้ถูกนำมาใช้ประโยชน์นอกจากทำปุ๋ยคงดีไม่น้อย...โครงการวิจัย “การศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนม และการพัฒนาที่ยั่งยืน” จึงเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือขององค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.), หน่วยบริหารและจัดการกองทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และทีมวิจัยจากสถาบันการศึกษาหลายแห่ง

เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่น พร้อมไปกับมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมอย่างบูรณาการ ไม่ได้มุ่งเน้นเพิ่มผลผลิตน้ำนมให้ได้มากที่สุดแต่เพียงอย่างเดียว แต่พุ่งเป้าไปที่การนำของเสียมาแปรรูปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในการสร้างงาน สร้างเงิน กระจายรายได้สู่ชุมชน

...

“ส่วนตัวมองว่า ที่ผ่านมาการเลี้ยงวัวนมเรามักมุ่งเน้นไปที่ปริมาณและคุณภาพน้ำนมเป็นสำคัญ แต่กลับละเลยในหลายเรื่อง โดยเฉพาะภูมิทัศน์ในฟาร์ม รวมถึงสิ่งแวดล้อม จนเมื่อราว 6 เดือนที่แล้ว ได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการสร้างต้นแบบการเลี้ยงโคนมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน จึงเข้าร่วมโครงการ มีทีมนักวิจัยเข้ามาให้ความรู้ ในการเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงวัวนมให้เป็นแบบยั่งยืน แม้ตอนนี้จะยังไม่สามารถระบุได้ว่าช่วยลดต้นทุนไปได้เท่าไร แต่ขี้วัวสร้างรายได้สารพัด ทั้งจากการขายปุ๋ย เห็ดฟาง ปลา และแก๊ส ช่วยลดค่าไฟให้ฟาร์มได้อีกด้วย”

ณัฐฏ์ เภารอด ประธานวิสาหกิจชุมชนเศรษฐกิจหมุนเวียนในฟาร์มโคนม อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี เล่าถึงฟาร์มโคนมเศรษฐกิจหมุนเวียนแห่งแรกในประเทศไทยที่พร้อมจะกลายเป็นต้นแบบให้ฟาร์มโคนมทั่วประเทศ รวมถึงต่อยอดสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ชนิดอื่น

จากเดิมเลี้ยงโคนมไม่ต่างจากฟาร์มทั่วไปนัก เมื่อเข้าร่วมโครงการ ต้องเปลี่ยนแปลงพื้นที่กว่า 14 ไร่ ในหลายเรื่อง ตั้งแต่การบริหารจัดการจัดโซนพื้นที่ ได้แก่ บ่อแยกมูลโค บ่อหมักก๊าซชีวภาพ บ่อบำบัดน้ำเสีย บ่อเลี้ยงปลา โรงเรือนเลี้ยงโคนม โรงรีดนม โรงเก็บฟาง โรงผสมดิน โรงผลิตปุ๋ยน้ำนม แปลงปุ๋ยหมัก แปลงเกษตรผสมผสาน อาทิ ผักสวนครัว ข้าวโพดหวาน แปลงเพาะเห็ดฟาง

สำหรับกระบวนการทำงานของฟาร์มโคนมระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน เริ่มตั้งแต่การแยกกากขี้วัว โดยนำขี้วัวใส่ลงในบ่อน้ำที่มีเครื่องปั่นให้ขี้วัวเป็นเนื้อเดียวกับน้ำ จากนั้นสูบขึ้นมาเข้าเครื่องแยกเอาแต่กากขี้วัวละเอียดขึ้นมาทำปุ๋ยใช้ในฟาร์มและขาย ซึ่งในอนาคตเตรียมต่อยอดเพิ่มมูลค่า ขึ้นรูปอัดเป็นกระถางต้นไม้ที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย ส่วนน้ำที่แยกออกมาจะไหลลงสู่บ่อหมักก๊าซชีวภาพ เพื่อนำมาผลิตไฟฟ้า รวมถึงก๊าซหุงต้ม

นอกจากนี้ ยังเตรียมนำก๊าซมาอัดถังใช้ ได้ไม่ต่างจากก๊าซหุงต้มทั่วไป เพราะจากเดิมก๊าซที่ได้จากการหมักขี้วัวมักมีปัญหาจุดไม่ค่อยติด หรือให้ความร้อนค่อนข้างต่ำ เพราะโดยปกติกระบวน การหมักจะได้ก๊าซคาร์ บอนไดออกไซด์ ที่ไม่ช่วยให้ไฟติด มาพร้อมกับก๊าซมีเทนที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง แต่ด้วยนวัตกรรมใหม่ เครื่องแยกก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ของบริษัท โพลีซอส บริษัทวิศวกรรมด้านแก๊สและผลิตไฟฟ้า แยกก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากก๊าซมีเทน ทำให้ได้มีเทนบริสุทธิ์ เกรดเดียวกับมีเทนที่ได้จากกระบวนการผลิตก๊าซธรรมชาติ

ต่อมาน้ำจากบ่อหมักก๊าซชีวภาพจะไหลลงสู่บ่อบำบัด ปล่อยไว้ 2-3 สัปดาห์ แล้วถึงจะปล่อยลงสู่บ่อปลาไล่ระดับลึกสูงสุด 3 เมตร ขนาด 20×20 เมตร ริมบ่อปลูกต้นไม้ เช่น กล้วย มะพร้าว ไม้ผลต่างๆ นอกจากเลี้ยงปลานิลและปลาเบญจพรรณแล้ว ยังอาศัยสูบน้ำในบ่อนี้ไปรดแปลงเกษตรผสมผสานขนาด 1.5 ไร่ อีกด้วย

...

นอกเหนือจากนั้น น้ำนมที่หมดอายุจะถูกนำมาทำเป็นปุ๋ยน้ำนม ใช้ผสมกับน้ำในอัตราส่วนปุ๋ยน้ำนม 100 ซีซีต่อน้ำ 20 ลิตร รดทุกวันจะทำให้ผักหวานกรอบอร่อย เขียวสดไม่เหี่ยวแม้ในช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง โดยมีวิธีการคือ นำน้ำนมเสื่อมคุณภาพ 80% กากน้ำตาล 20% พ.ด.6 จำนวน 2 ซอง ผสมให้เข้ากันในถัง หมักปิดถังทิ้งไว้ 60 วัน ระหว่างนี้ คนให้รวมเป็นเนื้อเดียวกันอาทิตย์ละ 2 ครั้ง

สนใจเยี่ยมชมสถานที่จริง 194 ม.1 บ้านหมาก ต.มวกเหล็ก อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี ถนนมุ่งหน้าสู่น้ำตกเจ็ดสาวน้อย สอบถามได้ที่ 08-1947-4058.

...

กรวัฒน์ วีนิล