ยอมรับสารภาพเพราะจนมุม หลักฐานคาอยู่ใน ครม.ว่ามีการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ของ น.สพ.สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์

แต่ไร้คำชี้แจงในประเด็นสำคัญ คือการปกปิดข้อมูลการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ตั้งแต่ปี 2562

วันนี้ประเทศไทยเพิ่งจะเริ่มนับหนึ่งในการแก้ไขปัญหา

ทั้งที่ตั้งเรื่องเบิกงบกลางกันมาตั้งแต่ปี 2562 เกือบพันล้านบาทแล้ว

หันไปดูเวียดนาม ซึ่งเป็นทั้งชาติพันธมิตรในอาเซียน และคู่แข่งสำคัญในภูมิภาค สถานการณ์ของเขาตรงข้ามกับบ้านเราโดยสิ้นเชิง

โดย เว็บไซต์ vietnamnews รายงานว่า ราคาหมูในเวียดนาม ค่อยๆปรับตัวลดลงมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2564 และช่วงเทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึง ก็ไม่มีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้น

กระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทเวียดนาม (MARD) รายงานต่อ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ยืนยันพบโรค ASF ระบาดอย่างเป็นทางการ เมื่อ วันที่ 19 ก.พ.2562 ในพื้นที่กว่า 6,000 ชุมชน จาก 500 อำเภอ ใน 62 จังหวัด

เวียดนามต้องทำลายหมูที่ติดเชื้อรวมกว่า 4,307 ตัน จากเกษตรกรรายย่อย 5,422 ราย ภาครัฐต้องจ่ายชดเชยกว่า 170 พันล้านดอง

กรมปศุสัตว์เวียดนาม เริ่มมาตรการควบคุมและป้องกันโรค ASF ทั้งประเทศ ทั้งมาตรการกักกันโรคทางชายแดน ห้ามการขนส่ง การค้า การฆ่า การบริโภคสุกรและผลิตภัณฑ์สุกรที่ไม่ทราบแหล่งที่มาทุกรูปแบบเด็ดขาด

ทั้งยังสั่งให้เกษตรกรรายย่อยใช้แหล่งน้ำจากบ่อขุดหรือบ่อเจาะบาดาลเท่านั้น ห้ามใช้แหล่งน้ำธรรมชาติ

ด้วยการยอมรับแต่เนิ่นๆประกอบกับมาตรการอันเข้มงวด ทำให้ในปี 2564 แม้ยังคงพบ ASF ระบาดอยู่ แต่ ณ ปัจจุบัน เวียดนามมีจำนวนสุกรทั่วประเทศกว่า 28 ล้านตัว รวมทั้งแม่พันธุ์อีกอย่างน้อย 3 ล้านตัว

...

ขณะเดียวกัน เขาก็อาศัยจังหวะการแพร่ระบาด วิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรค ASF จนมีความคืบหน้า

โดยกระทรวงการเกษตรฯเวียดนาม มอบหมายให้บริษัทเวชภัณฑ์ 2 แห่ง คือ Navetco Vietnam Central Veterinary Medicine JSC (Navetco) และ Dabaco Group JSC เป็นผู้วิจัยและพัฒนาวัคซีน

เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ทั้ง 2 บริษัทประกาศว่า ได้เสร็จสิ้นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัยวัคซีนแล้ว

แค่รอให้สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติเวียดนามอนุมัติ ก็สามารถผลิตในเชิงพาณิชย์ได้ทันที

มีการคาดการณ์ว่าจะเดินหน้าผลิตวัคซีนได้ในช่วงไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ของปีนี้

ตรงข้ามกับสถานการณ์ของไทย ที่สุ่มเสี่ยงจะสูญเสียความเชื่อมั่นจากการปกปิดข้อมูล

มีรายงานว่า องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) กับองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) องค์กรกลางประสานความร่วมมือป้องกันและควบคุมโรคระบาดสัตว์ที่สำคัญของโลก ทำหนังสือส่งถึงกรมปศุสัตว์ผ่านทางอีเมลนับครั้งไม่ถ้วนตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

แต่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโรคเพิร์ส (PRRS) ไม่ใช่โรค ASF

คนไทยคงต้องจดจำฝ่ายบริหารชุดนี้ให้ดี ที่ทำเอาหูไปนา-เอาตาไปไร่ เพราะหมูมันคับปากอยู่

วันนี้ทั้งประชาชน-ผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย เดือดร้อนกันสาหัส

แต่กลุ่มทุนยักษ์ อุปโภค-บริโภค ล้วนได้รับอานิสงส์จากหมู-ไก่แพง

ราคาหุ้นพุ่งกระฉูดสวนทางปากท้องพี่น้องคนไทย.

เพลิงสุริยะ