ต่อจากตอนที่แล้วว่ากันถึงท่าเรือน้ำลึกหวุงอ๋างในเวียดนามที่มีลาวถือหุ้น 60% เวียดนาม 40%...เป็นท่าเรือที่สามารถให้บริการเรือสินค้าที่มีน้ำหนักบรรทุกตั้งแต่ 5,000-100,000 ตัน เรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ 50,000-1,200,000 ตู้ และเรือบรรทุกสินค้าเทกอง ตั้งแต่ขนาดบรรทุก 3 ล้านตัน-20 ล้านตัน โดยจะเปิดให้บริการเฟสแรกในปี 2566

ระยะทางไม่ถึง 300 กม. จ.นครพนม จะเป็นเกตเวย์ออกสู่มหาสมุทรแปซิฟิก ขนส่งสินค้าจากไทย ลาว เวียดนาม ไปอเมริกา แคนาดา ละตินอเมริกา จีน ฮ่องกง เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน รัสเซีย และยุโรปเหนือ โดยไม่ต้องผ่านสิงคโปร์

นอกจากนั้น ลาวยังได้พัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษควบคู่ไปด้วย เขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำในแขวงบ่อแก้วใกล้เชียงราย เขตเศรษฐกิจพิเศษมหานทีสีทันดอน แขวงจำปาสัก ตรงข้ามอุบลราชธานี นี่ยังไม่รวมเขตเศรษฐกิจพิเศษลาว-เวียดนาม-กัมพูชา และเขตเศรษฐกิจพิเศษเวียงจันทน์ แม้จะเผชิญกับผลกระทบโควิด-19 พร้อมกับอุปสรรคนานัปการ แต่ลาวไม่ท้อไม่ถอย ยังเดินหน้าสานฝันต่อไม่ยอมหยุด

อีสาน 20 จังหวัด ประชากร 22 ล้านคน อยู่ในมุมอับ เป็นดินแดนไม่มีทางออกทะเลไม่ต่างจากลาว ทำให้โอกาสของอีสานอับไปด้วย เมื่อโอกาสมาแล้ว จึงต้องวางวิสัยทัศน์และเส้นทางการพัฒนาใหม่สำหรับอีสานและประเทศไทย

ฉะนั้น ไทยต้องจับมือกับลาวอย่างใกล้ชิดเสมือนหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ พึ่งพาร่วมแรงร่วมใจแบบพี่น้องเครือญาติ เคารพและให้เกียรติกันและกัน ผนึกศักยภาพของ 2 ประเทศเข้าด้วยกัน

นี่คือคำตอบของยุทธศาสตร์ใหม่ และการสร้างจุดเปลี่ยนประเทศด้วย “อีสานเกตเวย์” และ “ระเบียงเศรษฐกิจอีสาน” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ 1 กลุ่มจังหวัด 1 นิคมอุตสาหกรรม

...

เส้นทางใหม่ๆเสมือนโอกาสในการขนส่งสินค้า เพื่อเพิ่มการส่งออกสร้างรายได้ให้ประเทศ พร้อมกับพัฒนาฐานการแปรรูปสร้างเกษตรมูลค่าสูงกระจายไปทุกภูมิภาค ด้วยการเชื่อมโยงระบบโลจิสติกส์และระเบียงเศรษฐกิจกับเพื่อนบ้าน สุดท้ายคือ การบริหารการพัฒนาด้วยโมเดลใหม่ๆ ให้ฉับไวรวดเร็ว

เพื่อนบ้านเขาไปไกลแล้ว แต่เราที่มีศักยภาพมากกว่ากลับแทบไม่กระดิกตัวอะไรเลย.

สะ–เล–เต