ภารกิจตำรวจรถไฟยาวนานมากว่า 128 ปี สืบสานพระราชปณิธานของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่อปกป้องคุ้มครอง รักษาชีวิตและทรัพย์สินของ “กรมรถไฟ” ที่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย

อำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบนอกจากถวายความปลอดภัยองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พระบรมวงศานุวงศ์ ยังมีรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ รักษาความสงบเรียบร้อย ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม

ติดตามการกระทำความผิดทางอาญาและความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องบนขบวนรถไฟ ขบวนรถไฟฟ้า แนวเขตเส้นทางรถไฟ เขตพื้นที่สถานีรถไฟฟ้า ขบวนรถไฟฟ้า และในเขตการรถไฟแห่งประเทศไทย

เหตุผลและความจำเป็นที่ “ไม่ควรยุบหน่วย” กองบังคับการตำรวจรถไฟ เพราะมี “ภารกิจหลัก” ในการถวายปลอดภัยบริเวณจุดตัดทางรถไฟ ทางร่วม ทางแยกในพื้นที่รับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย ถือเป็นภารกิจอันสำคัญ “เหนือชีวิต”

ขณะเดียวกันมีอำนาจสืบสวนสอบสวนจับกุมป้องกันปราบปรามการกระทำความผิดมากกว่าเจ้าหน้าที่การรถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่ได้เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายและไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุม

ตำรวจรถไฟยังมี องค์ความรู้เฉพาะทาง มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการตรวจค้นจับกุมจากผลการปฏิบัติเป็นที่ประจักษ์ตลอดมา

ต้องขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟตลอดเส้นทางผ่านหลายจังหวัด หากถ่ายโอนภารกิจจะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เมื่อมีเหตุเกิดบนขบวน ประชาชนอาจไม่ได้รับความสะดวก

แถมอนาคตเส้นทางรถไฟฟ้าจะขยายวงกว้างมากขึ้น ลำพังตำรวจท้องที่ฝ่ายเดียวยากจะแบ่งโซนในการดูแลรับผิดชอบคดีและรักษาความปลอดภัยไปได้ตลอดเส้นทาง

เพราะฉะนั้นตำรวจรถไฟควรยกระดับเพิ่มขุมกำลังพลขยายโครงสร้างไว้ดูแลขบวนรถไฟฟ้า

...

ดีกว่ายุบทิ้งแล้วโยนภาระให้หน่วยอื่นรับผิดชอบแทน.

สหบาท