กรมปศุสัตว์ ระดมพลตรวจสอบ "ฟาร์มสุกร" ค้นหาสอบสวนโรคทุกพื้นที่ พร้อมเน้นย้ำเรื่องระบบการป้องกันโรคภายในฟาร์ม เพื่อเฝ้าระวัง-ป้องกันการเกิดโรคระบาดในสุกร



วันที่ 8 ม.ค. 2564 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ชี้แจงกรณีที่สื่อมวลชนได้นำเสนอข่าวว่าขณะนี้มีการเกิดโรคระบาดในสุกรในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ส่งผลให้ราคาเนื้อสุกรปรับสูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าเป็นการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (ASF) ทั้งนี้โรค ASF เป็นโรคไวรัสที่ติดต่อร้ายแรงในสุกรที่แพร่กระจายในภูมิภาคต่างๆ ใน 35 ประเทศทั่วโลก หากพบการระบาดของโรคในประเทศแล้วจะกำจัดโรคได้ยาก เนื่องจากยังไม่มีวัคซีนในการป้องกันและยารักษาโรค

นอกจากนี้ เชื้อไวรัสที่ก่อโรคยังมีความทนทานในผลิตภัณฑ์จากสุกรและสิ่งแวดล้อมสูง แม้โรคนี้จะไม่ติดต่อสู่คนและสัตว์อื่นแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง ในปัจจุบันมีการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา สหพันธรัฐมาเลเซีย และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ซึ่งยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นและขยายเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรของแต่ละประเทศ

ดังนั้น จากสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่องของโรค ASF ในประเทศเพื่อนบ้านและทั่วโลก กรมปศุสัตว์จึงได้มีการกำหนดมาตรการการเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรค ASF อย่างเข้มงวด หากพบฟาร์มสุกรมีความเสี่ยงในระดับสูงถึงสูงมากที่มีความเสี่ยงต่อโรค ASF กรมปศุสัตว์จะดำเนินการลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในทันที โดยการทำลายสุกรซึ่งอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 พร้อมชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย

...

รวมทั้ง ดำเนินการเฝ้าระวังโรคทั้งในเชิงรุกและเชิงรับในทุกพื้นที่ของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นในฟาร์มสุกร โรงฆ่าสุกร สถานที่จำหน่ายเนื้อสุกร และสถานที่จำหน่ายอาหารสัตว์ รวมไปถึงเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายสุกร/หมูป่าที่มีชีวิตและซาก ทั้งการเคลื่อนย้ายสุกรภายในประเทศ และการเคลื่อนย้ายสุกรระหว่างประเทศ และเฝ้าระวังการลักลอบเคลื่อนย้ายทุกกรณีอย่างเข้มงวด

ขณะที่ก่อนหน้านี้ Thairath Plus - ไทยรัฐพลัส ได้พูดถึงประเด็นปัญหาเนื้อหมูราคาแพงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในรอบสิบกว่าปี ที่ผู้บริโภคชาวไทยประสบกันอยู่ในตอนนี้ เกิดจากหลายสาเหตุประกอบกัน แต่สาเหตุสำคัญคือ การที่ผลผลิตในตลาดน้อยลงกว่าภาวะปกติมาก เนื่องจากหมูป่วยแล้วตายไปเป็นจำนวนมาก ทำให้ผลผลิตหายไปจากตลาด และส่งผลให้เกษตรกรรายเล็กรายย่อยขาดทุน

เมื่อหมูตาย ทำให้ขาดทุน เกษตรกรรายเล็กรายย่อยจำนวนมากจึงไม่กล้าลงทุนเลี้ยงหมูรอบใหม่ เพราะกลัวว่าหมูจะตายทำให้ขาดทุนมากกว่าเดิม จึงยิ่งซ้ำเติมให้ปริมาณหมูในตลาดน้อยลงไปอีก ปัญหาที่หมูในประเทศไทยติดโรค มีอาการป่วย และตายนั้น คนในอุตสาหกรรมเลี้ยงหมู และคนในวงการปศุสัตว์ทราบกันว่าเป็นโรค อหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) ซึ่งเป็นโรคระบาดสัตว์ระดับรุนแรง

สำหรับเรื่องนี้มีข่าวเล็ดลอดออกมา และถูกนำเสนอเป็นข่าวออกมาแล้วอย่างน้อยราวๆ 1 ปี แต่กรมปศุสัตว์ปฏิเสธมาตลอดว่าไม่ใช่โรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร พร้อมยืนยันว่ายังไม่พบการระบาดของโรคนี้ในประเทศไทย และให้เหตุผลว่าสาเหตุที่หมูตายนั้น เพราะป่วยเป็นโรคเพิร์ส (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) หรือโรคระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจของสุกร ซึ่งไม่ร้ายแรงเท่า ASF การชี้แจงของกรมปศุสัตว์เป็นไปคนละทางกับข้อมูลที่ไทยรัฐพลัสได้รับจากแหล่งข่าว ซึ่งยืนยันว่าหมูป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรจริง

คนในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูและวงการปศุสัตว์ทราบกันว่า ลักษณะการติดเชื้อและอาการของหมูที่ป่วยนั้นเป็นโรค ASF แต่ผู้บริหารกรมปศุสัตว์ไม่เปิดเผยว่าเป็นโรคนี้ แล้วบอกว่าเป็นโรคเพิร์ส นอกจากกรมฯ ปฏิเสธเองแล้ว ในตอนหลังยังมีการดึงมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์เข้ามาตรวจชันสูตรซากหมูด้วย เพื่อหวังให้มหาวิทยาลัยช่วยยืนยันอีกเสียงหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้รายงานผลตรวจตามจริงว่ามีการตรวจพบหมูป่วยเป็นโรค ASF สำเนาเอกสารแจ้งผลการชันสูตรซากหมูที่ไทยรัฐพลัสได้รับมาจากแหล่งข่าว ระบุชัดว่า ตัวอย่างซากสุกรที่ส่งตรวจนั้นป่วยเป็นโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever: ASF) เมื่อทราบผลชันสูตร คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้รายงานผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการดังกล่าวไปยังหน่วยงานในกรมปศุสัตว์เรียบร้อยแล้ว จึงไม่น่าเป็นไปได้ที่กรมปศุสัตว์จะไม่ทราบว่ามีโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรแพร่ระบาดในประเทศไทย.

...