ศบค.ระบุนักท่องเที่ยวต่างชาติจากระบบ Test & Go เป็นผู้นำเชื้อ “โอมิครอน” แพร่ในไทยมากที่สุด ส่วนร้านอาหารกึ่งผับบาร์เป็นแหล่งแพร่เชื้อกลุ่มก้อนแถมยังฝ่าฝืนมาตรการแอบเปิดขายตั้งแต่ก่อนปีใหม่ หวั่นจะทำให้ เกิดการแพร่ระบาดจำนวนมากเหมือนเคสสถานบริการ ย่านทองหล่อที่ทำไทยสะบักสะบอมจากโควิด-19 โยนประชาชนถ้าไม่ทำตามมาตรการปลอดภัยและหน่วยงานหละหลวมเจอแน่ติดเชื้อหลายหมื่นต่อวัน ขณะที่โอมิครอนลามไป 55 จังหวัด ติดกว่า 2 พันคน หากปล่อยติดวงกว้างระบบสาธารณสุขจะรับมือไม่ทัน ศบค.เตรียมปรับมาตรการใหม่ในการประชุม 7 ม.ค. ชลบุรีสถานการณ์ยังหนักหน่วง “หมอสมศักดิ์” ชี้ระบาด รอบนี้คาดเด็กติดเยอะ แต่ยังมีเตียงว่างรองรับ ด้านหมอนิธิพัฒน์ค้านปล่อยการติดเชื้อตามธรรมชาติ
สถานการณ์ “โอมิครอน” ยังเป็นที่น่ากังวล แม้ว่าผู้ที่ติดเชื้อจะมีอาการป่วยไม่รุนแรงเท่าเชื้อโควิด สายพันธุ์เดลตา เนื่องจากมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็วในหลายจังหวัด และยังมีการคาดการณ์ว่าอาจมีผู้ติดเชื้อถึง 3 หมื่นต่อวัน
...
ยอดติดเชื้อพุ่ง 3.8 พันราย
ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผอ.สำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ผู้ช่วยรองโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์โควิด-19 ในไทยประจำวันที่ 5 ม.ค.ว่า พบผู้ติดเชื้อใหม่ 3,899 ราย เป็นการติดเชื้อในประเทศ 3,662 ราย มาจากต่างประเทศ 169 ราย เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 19 ราย เป็นชาย 8 ราย หญิง 11 ราย เสียชีวิตมากที่สุดที่เชียงราย 4 ราย ยอดผู้เสียชีวิตสะสมตั้งแต่ปี 2563 จำนวน 21,769 ราย ขณะที่สถานการณ์โลกมียอดผู้ติดเชื้อสะสม 295,550,360 ราย เสียชีวิตสะสม 5,473,511 ราย เป็นไปตามการคาดการณ์ที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงแต่ผู้เสียชีวิตยังไม่เพิ่มขึ้นมาก
ติดจาก Test&Go มากที่สุด
พญ.สุมนีกล่าวว่า หากดูยอดผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. มียอดสะสม 605 ราย มาจากสหราชอาณาจักรมากที่สุด 85 ราย สหรัฐอเมริกา 76 ราย เยอรมนี 45 ราย สวีเดน 38 ราย ฝรั่งเศส 28 ราย สูงสุดคือระบบ Test&Go ถ้าดูการติดเชื้อเฉพาะรูปแบบ Test&Go พบว่าเดือน พ.ย.64 จะอยู่ที่ 0.08% ธ.ค.64 อยู่ที่ 0.38% ขณะที่เดือน ม.ค.65 อยู่ที่ 2.12% ถ้าดูเฉพาะผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศวันนี้ 169 ราย พบว่ามาจากระบบ Test&Go 67% ระบบแซนด์บ็อกซ์ 18% ระบบควอรันทีน 15%
ชลบุรีป่วยนำ กทม.อีกวัน
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า สำหรับ 10 จังหวัดผู้ติดเชื้อมากที่สุด ได้แก่ ชลบุรี 529 ราย กทม. 408 ราย อุบลราชธานี 315 ราย สมุทรปราการ 259 ราย ขอนแก่น 164 ราย ภูเก็ต 138 ราย เชียงใหม่ 135 ราย นครศรีธรรมราช 91 ราย พัทลุง 87 ราย นนทบุรี 78 ราย ใน กทม.ตัวเลขเคยลดลงไปก่อนวันสิ้นปีและกลับมาสูงหลังวันที่ 1 ม.ค.เป็นต้นมา อันดับที่ 1-7 เป็นจังหวัดที่มีผู้เดินทางไปท่องเที่ยวจำนวนมากและมีการรวมกลุ่มทำกิจกรรมในช่วงวันหยุดยาวที่ผ่านมา ขณะที่มี 2 จังหวัดที่ไม่พบการติดเชื้อคือ นราธิวาส และอำนาจเจริญ
ห่วงคลัสเตอร์ร้านกึ่งผับบาร์
พญ.สุมนีกล่าวว่า คลัสเตอร์ที่ ศบค.มีความเป็นห่วงอย่างมากในช่วงเทศกาลปีใหม่คือ การแพร่ระบาดในร้านอาหารที่มีลักษณะกึ่งผับบาร์ พบที่ จ.เชียงใหม่ เป็นสถานบันเทิงย่านถนนนิมมานเหมินท์ จ.พะเยา จ.ขอนแก่น เป็นร้านลักษณะผับกึ่งบาร์ ที่ จ.ชลบุรี เป็นร้านเหล้า ที่ จ.มหาสารคาม พบในร้านอาหารกึ่งผับ จ.อุดรธานี จ.อุบลราชธานี และ กทม. พบในสถานบันเทิง จากการลงไปสอบสวนโรคพบเป็นการติดเชื้อในร้านอาหารกึ่งผับ นี่เป็นสถานบันเทิงที่ฝ่าฝืนและเปิดให้บริการ ไม่ได้ดำเนินการตามมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง เป็นสถานที่ปิดไม่จำกัดจำนวนคน มีความแออัดหนาแน่นมาก มีการส่งเสริมการขายสุรา โดยผู้ไปใช้บริการมีการกินดื่ม สังสรรค์พูดคุยเสียงดังใช้เวลาในร้านนาน ผู้ใช้บริการในสถานประกอบการเหล่านี้ใน 1 คืนจะไปหลายร้าน จากการซักประวัติผู้ติดเชื้อพบว่าร้านอาหารเหล่านี้ไม่ได้เปิดแค่ในช่วงปีใหม่ แต่เปิดมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ธ.ค.64 กระทรวงสาธารณสุขเป็นห่วงหากมีการติดเชื้อในสถานที่เหล่านี้จะมีการแพร่ระบาดจำนวนมาก มีโอกาสเป็นต้นเหตุให้แพร่ระบาดคล้ายกับการระบาดที่ย่านทองหล่อ กว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ต้องใช้เวลานาน หากดูการคาดการณ์การติดเชื้อหลังปีใหม่ปัจจุบันเส้นกราฟกระดกขึ้น
หากหละหลวมจะติดเชื้อหลักหมื่น
พญ.สุมนีกล่าวว่า หากประชาชนไม่ทำตามมาตรการความปลอดภัย และหน่วยงานองค์กรมีความหละหลวมจะพบเห็นภาพคนติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์นี้เป็นหลักหลายหมื่น เราไม่อยากให้เกิดขึ้น จึงขอให้ผู้มีความเสี่ยงสูงรีบไปรับวัคซีน และให้หน่วยงานต่างๆ เคร่งครัดมาตรการโควิดฟรีเซตติ้ง ปัจจุบันไทยฉีดวัคซีนครบ 2 เข็มแล้ว 64.1% หากมีการติดเชื้ออัตราการป่วยหนักหรือเสียชีวิตยังคงต่ำอยู่แต่ไว้วางใจไม่ได้ เพราะผู้ฉีดวัคซีนไม่ครบยังมีความเสี่ยง
...
เน้น WFH หลังกลับจากปีใหม่
พญ.สุมนีกล่าวว่า มาตรการหลังเทศกาลปีใหม่ ศบค.ขอความร่วมมือผู้เดินทางกลับจากต่างจังหวัดทำงานที่บ้านในช่วง 2 สัปดาห์แรก ตรวจคัดกรองด้วย ATK 2 ครั้งก่อนกลับไปทำงาน หากติดเชื้อให้โทร.1330 สปสช. เพื่อลงทะเบียนรับการดูแลที่บ้าน ผู้เดินทางมาจากจังหวัดที่มีความเสี่ยงคือ จ.ชลบุรี เชียงใหม่ อุบลราชธานี ขอนแก่น มหาสารคาม อุดรธานี ยโสธร กาฬสิน ภูเก็ต ยะลา ขอให้สังเกตอาการ เฝ้าระวังเป็นเวลา 14 วัน และสังเกตอาการตัวเอง หากสงสัยอาการให้รีบคัดกรองตัวเองด้วย ATK ขณะที่โรงงานต่างๆ หากพบการติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดแต่ให้ทำมาตรการบับเบิลแอนด์ซีลเพื่อจำกัดวงการติดเชื้อและจัดการรักษาในระบบของสถานประกอบการนั้นๆ ในส่วนโรงเรียน ให้ศึกษาธิการเขตหรือศึกษาธิการจังหวัดพิจารณาเปิดหรือปิดโรงเรียนตามความเหมาะสมที่ประชุมศปก.ศบค. หารือมาตรการรองรับหากมีผู้ติดเชื้อมากใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า โดยให้ทุกจังหวัดเตรียม พร้อมระบบการรักษาที่บ้านและชุมชน ให้ส่วนท้องถิ่นเตรียมการและประสานกับหน่วยงานสาธารณสุข เพื่อรองรับหากต้องรักษาใน รพ.เพิ่มเติม
...
โอมิครอนไป 55 จว. ติดเชื้อ 2,338
พญ.สุมนีกล่าวอีกว่า ขณะที่การจำแนกสายพันธุ์จากการสุ่มตรวจระหว่างวันที่ 1 พ.ย.64- 4 ม.ค.65 พบสายพันธุ์เดลตา 78.91% สายพันธุ์โอมิครอน 20.92% คิดเป็นผู้ป่วยโอมิครอน 2,338 ราย กระจายไป 55 จังหวัด จังหวัดที่มีการติดเชื้อและแพร่ระบาดในจังหวัด พบที่ กทม. กาฬสินธุ์ ชลบุรี ร้อยเอ็ด ภูเก็ต สมุทรปราการ ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ติดเชื้อที่มาจากต่างประเทศ อีกครึ่งติดจากผู้กลับจากต่างประเทศ กลุ่มเสี่ยงของการติดเชื้อยังเป็นกลุ่มผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน จังหวัดที่ฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัวได้น้อยต้องเตรียมพร้อมการรักษาใน รพ. โดย 10 จังหวัดที่มีการฉีดวัคซีนให้กลุ่มดังกล่าวน้อยที่สุด มีปัตตานี นราธิวาส แม่ฮ่องสอน ยะลา นครนายก ขอนแก่น ตาก ลพบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี รวมถึงแยกรักษาที่บ้านและในชุมชน เพื่อไม่ให้แพร่กระจายเชื้อ
ปล่อยติดวงกว้างจะรองรับไม่ทัน
เมื่อถามว่า กรณีเชื้อโอมิครอนแพร่กระจายง่ายแต่ไม่รุนแรงควรให้มีการติดเชื้อตามธรรมชาติเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือควรได้รับวัคซีนเพื่อให้มีภูมิคุ้มกัน พญ.สุมนีกล่าวว่า หากปล่อยให้ระบาดวงกว้างระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ทัน แม้คนไทยได้รับวัคซีน 2 เข็มแล้วจำนวนมาก แต่มีผู้ยังไม่ได้รับวัคซีนหรือได้รับวัคซีนไม่ครบหลักล้าน อย่างนี้จะมีความเสี่ยงอาการหนัก เชื้อสายพันธุ์ใหม่ยังไม่แน่ใจว่าหายแล้วจะมีอาการข้างเคียงอะไรบ้าง หากปล่อยให้มีการแพร่เชื้อมากเสี่ยงจะมีการกลายพันธุ์ การมีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนจึงดีกว่าการมีภูมิคุ้มกันจากการติดเชื้อ
จับตา 7 ม.ค. ศบค.ปรับมาตรการใหม่
พญ.สุมนีกล่าวด้วยว่า วันนี้ ศปก.ศบค.ประชุมเตรียมมาตรการต่างๆเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่วันที่ 7 ม.ค. วาระสำคัญคือการปรับพื้นที่สีตามสถานการณ์ จะมีการจำกัดจำนวนคน การรวมกลุ่มทำกิจกรรม รวมถึงอนุญาตดื่มสุราในร้านอาหาร จะมีการพิจารณาปรับมาตรการในการควบคุมโรค จากเดิมมีแนวโน้มจะเปิดสถานบันเทิงหรือไม่ แต่ช่วงปีใหม่ที่ผ่านมาพบผู้ติดเชื้อจำนวนมากในคลัสเตอร์ร้านอาหารกึ่งผับบาร์ ไม่ได้ดำเนินการมาตรการตามที่ ศบค.กำหนด ตรงนี้จะเป็นข้อมูลเป็นตัวชี้วัดการตัดสินใจสำคัญในวันที่ 7 ม.ค.ว่าจะมีการเปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ หรือคาราโอเกะหรือไม่ จะมีการปรับมาตรการของผู้ที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยแบบ Test & Go ที่มีการชะลอก่อนหน้านี้ รวมถึง มีวาระเพิ่มเรื่องการจัดการสายพันธุ์โอมิครอน ขอให้ประชาชนติดตามการประชุมเพื่อปฏิบัติตัวได้ตามมาตรการ
...
ประเมินโควิดอีก 4 สัปดาห์
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและ รมว.กลาโหม ติดตามสถานการณ์โควิด-19 หลังจากหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ กิจการ ภาคธุรกิจ เอกชนกลับมาเปิดดำเนินการปกติ เพื่อเตรียมแนวทางการป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์ต่างๆ พร้อมนำเข้าสู่พิจารณาเพื่อปรับมาตรการในที่ประชุม ศบค.วันที่ 7 ม.ค. โดยรัฐบาลจะประเมินสถานการณ์การติดเชื้อระลอกหลังปีใหม่เป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์ โดย 2 สัปดาห์แรกจะประเมินสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ 2 สัปดาห์หลัง จะประเมินผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการเสียชีวิต ก่อนตัดสินใจปรับมาตรการต่างๆ ขอความร่วมมือประชาชน สำหรับผู้ที่ยังไม่เคยฉีดวัคซีนให้รับการฉีดวัคซีนโดยเร็วที่สุด นายกฯ กล่าวว่า ภายหลังเทศกาลปีใหม่ขอความร่วมมือประชาชนให้ความสำคัญการใส่หน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง ตรวจคัดกรองตนเองด้วย ATK และเวิร์กฟรอมโฮม 14 วัน หากจำเป็นต้องเริ่มปฏิบัติงานทันทีขอให้ตรวจ ATK ก่อนเข้าทำงานและควรตรวจซ้ำทุก 3 วันเพื่อเฝ้าระวังอาการ
จี้ นทท.ร่วมมือกักตัวรอผล
นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีนักท่องเที่ยวไม่รอฟังผลตรวจเชื้อโควิด-19 ที่ จ.ชลบุรี ว่า ที่หนี 2 รายเมื่อคืนวันที่ 4 ม.ค. ทั้งคู่ได้เดินทางเข้ามารักษาตัวเองที่ รพ.เลิดสิน ส่วนความกังวลเรื่องเตียงรักษาโควิด-19 ยืนยันว่ามีเตียง ยาและเวชภัณฑ์เพียงพอ เรื่องนี้กระทรวงสาธารณสุขได้เตรียมความพร้อมตลอดในการรับมือโอมิครอน เนื่องจากอาการส่วนใหญ่ไม่รุนแรง จึงเน้นไปที่การรักษาที่บ้านและศูนย์พักคอยในชุมชน กทม.ได้เตรียมศูนย์พักคอยในชุมชนให้กลับมาเปิดดำเนินการทุกเขต แยกการรักษาเด็กกับผู้ใหญ่ แต่ติดปัญหาที่ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เข้าใจระบบการรักษาแบบ HI จึงกังวลและอยากเข้ารับการรักษาที่ รพ. จึงขอให้โรงพยาบาลทำความเข้าใจกับคนไข้ในการรักษาแบบ HI อยากให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาไทยร่วมมือปฏิบัติตัวตามมาตรการสาธารณสุข หากไม่ปฏิบัติตามจะมีบทลงโทษ
ชลบุรีหนักติดเชื้อต่อเนื่อง
ด้าน นพ.ณรงค์ อภิกุลวณิช ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 6 ระบุถึงสถานการณ์โควิด-19 ที่ จ.ชลบุรี ว่า ได้สั่งการให้นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลงพื้นที่แก้ไขปัญหา เร่งค้นหาผู้ป่วยติดเชื้อมากขึ้น แต่ส่วนใหญ่ประชาชนยังไม่เข้าใจระบบและสถานการณ์ เมื่อทราบว่าป่วยติดเชื้อจึงเดินทางมาขอรับบริการที่ รพ. ทำให้เห็นสภาพแออัด แต่ระบบที่วางไว้คือผู้ป่วยสีเขียวติดเชื้อไม่มากให้พักรักษาตัวที่บ้านหรือเข้าระบบรักษาในชุมชน ต้องเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจ เบื้องต้นจะใช้ฮอสพิเทลที่ใช้โรงแรมที่พักกักตัว ทั้งในระบบ Test&Go และ Sandbox ไปก่อน พร้อมสนับสนุนให้ทุกหน่วยงานทำงานที่บ้าน ยอมรับว่าสถานการณ์ติดเชื้อเขต 6 ในส่วน จ.ชลบุรี เริ่มมีผู้ป่วยมากขึ้นมาตั้งแต่เทศกาลลอยกระทง จนถึงเทศกาลปีใหม่ การติดเชื้อพบเพิ่มต่อเนื่อง เช่นเดียวกับ จ.สมุทรปราการ ที่เริ่มพบผู้ติดเชื้อมากขึ้น
ทุก จว.ให้เข้มสถานที่เสี่ยง
ขณะที่ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรม ควบคุมโรค กล่าวว่า ได้เน้นย้ำให้คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดทุกจังหวัดเข้มงวดสถานที่ที่มีความเสี่ยง หากไม่ปฏิบัติตามที่กำหนดให้ดำเนินการตามกฎหมายอย่างจริงจัง สิ่งที่คาดหวังในปีนี้คือการปรับระบบให้กลายเป็นโรคประจำถิ่น มีปัจจัยหลัก 3 อย่าง 1.เชื้ออ่อนลง ไม่ทำให้คนที่ติดเชื้อถึงขั้นเสียชีวิต แต่แพร่กระจายได้มากขึ้นตรงกับสายพันธุ์โอมิครอน 2.ประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้นเกิดได้จากการฉีดวัคซีน ปีนี้เป็นการฉีดวัคซีนเข็ม 3 หรือเข็ม 4 และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อม ลดความเสี่ยง การรักษาดีขึ้น ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้และมียามากขึ้น ขอเน้นย้ำผู้ที่ฉีดวัคซีนเข็ม 2 ก่อนวันที่ 1 พ.ย.64 ให้ไปรับการฉีดเข็ม 3 ได้ที่สถานพยาบาลใกล้บ้าน บุคลากรการแพทย์และเจ้าหน้าที่ด่านหน้า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ฉีดเข็ม 3 แล้วเกิน 3 เดือน ให้เข้ารับเข็ม 4 ได้ เพื่อรองรับการระบาดของโอมิครอน
คาดติดสูงสุด 3 หมื่นต่อวัน
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เผยถึงแนวทางการรับมือผู้ติดเชื้อโอมิครอน ว่า แนวทางการรักษาหากอาการไม่มากจะใช้การรักษาตัวที่บ้านเป็นหลัก จะมีการติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมงหลังติดเชื้อ อีกแนวทางคือการดูแลโดยศูนย์ดูแลช่วยเหลือในชุมชนที่รัฐจัดไว้ แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดหายาต้านไวรัสโควิดใหม่ๆ เพิ่มเติมและให้การรักษาตามอาการ นักวิชาการด้านสถิติจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้ระบุสถานการณ์การระบาดของไทยเข้าสู่ระลอกที่ 5 แล้ว ดูจากตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นมากขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ แต่อาการผู้ติดเชื้อโอมิครอนส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เชื้อลงปอดน้อย ครึ่งหนึ่งจึงไม่มีอาการแสดงออก อาการไข้จึงไม่ใช่ตัวบ่งชี้ถึงการติดเชื้อและแยกจากอาการหวัดทั่วไปยาก หากประเมินตัวเองพบอาการผิดปกติ ปวดเมื่อย ไม่สบาย ขอให้ตรวจ ATK ทันที พร้อมกักตัวงดไปในที่ชุมชน ได้เตรียมเตียงรองรับผู้ป่วยโอมิครอนทุกระดับทั่วประเทศไว้ถึง 52,300 คนต่อวัน ตัวเลขผู้ป่วยที่คาดการณ์สูงสุด 30,000 คน ต่ำสุดประมาณ 15,000 คน หากไม่เกินตามคาดยืนยันเพียงพอ ส่วนยาที่รักษาขณะนี้ยังใช้ฟาวิพิราเวียร์เป็นหลัก ส่วนยาแพคซ์โลวิด จะเข้ามาปลาย ก.พ.หรือต้น มี.ค. ยาโมลนูพิราเวียร์พร้อมส่งแล้ว อยู่ในขั้นตอนการยื่นเอกสารรับรองกับ อย.
ระบาดรอบนี้คาดเด็กติดเยอะ
นพ.สมศักดิ์กล่าวต่อว่า คาดการณ์รอบนี้จะเกิดการระบาดในเด็กเยอะ เพราะเด็กยังไม่ได้ฉีดวัคซีน แต่เด็กติดอาการไม่รุนแรง หากไม่มีโรคประจำตัว ได้มอบหมายให้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี หรือ รพ.เด็ก เตรียมยาน้ำฟาวิพิราเวียร์รองรับการรักษา รวมถึงประสานจัดเตรียมเวชภัณฑ์การให้ ความรู้ดูแลเด็กและหมอเด็กให้คำปรึกษากับเครือข่าย ประสาน กทม. จัดทำเตียง CI สำหรับเด็กและครอบครัว 6 โซน โซนละ 1 แห่ง แห่งละอย่างน้อย 50 เตียง รวมทั้งยังเตรียม CI สำหรับแรงงานต่างด้าวโซนละ 1 แห่ง แห่งละ 100 เตียง
เตียง กทม.-ปริมณฑลยังว่าง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สถานการณ์เตียงกรุงเทพฯและปริมณฑล วันที่ 4 ม.ค. รวมทุกประเภทรวม 31,701 เตียง ครองเตียงแล้ว 5,873 เตียง แบ่งเป็น 1. เตียงไอซียู ห้องความดันลบ รวม 232 เตียง ครองเตียง 65 เตียง ว่าง 167 เตียง อัตราครองเตียง 28% 2. ห้องดัดแปลงความดันลบ รวม 1,184 เตียง ครองเตียง 456 เตียง ว่าง 728 เตียง อัตราครองเตียง 38.5% 3.ห้องไอซียูรวม รวม 470 เตียง ครองเตียง 30 เตียง ว่าง 440 เตียง อัตราครองเตียง 6.4% 4.ห้องแยกโรค รวม 3,964 เตียง ครองเตียง 929 เตียง ว่าง 3,035 เตียง อัตราครองเตียง 23.4% 5.ห้องสามัญ รวม 8,223 เตียง ครองเตียง 1,952 เตียง ว่าง 6,271 เตียง อัตราครองเตียง 23.7% 6.ฮอสพิเทล รวม 16,084 เตียง ครองเตียง 2,278 เตียง ว่าง 13,806 เตียง อัตราครองเตียง 14.2% 7.เตียงสนาม รวม 1,544 เตียง ครองเตียง 163 เตียง เตียงว่าง 1,381 เตียง อัตราครองเตียง 10.6%
เพิ่มระบบสายด่วน 1330
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงการรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 หลังเทศกาลปีใหม่ ว่า สปสช.ได้เปิดระบบสายด่วน 1330 รับสาย กรณีตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 ทั้งการตรวจด้วย ATK หรือ RT-PCR เพื่อส่งต่อผู้ติดเชื้อไปยังสถานพยาบาลตามระดับอาการและการเชื่อมต่อกับคลินิกชุมชนอบอุ่นใกล้บ้านเพื่อดูแลผ่าน HI หรือ CI จนถึงขณะนี้ 1330 มีผู้โทร.เข้าวันละ 2-3 พันราย โดยเฉพาะ กทม.และปริมณฑล ต่างจังหวัดยังไม่แน่นมาก แต่เกิดปัญหาตรงที่เราเชื่อมต่อผู้ติดเชื้อกับคลินิกฯ หรือศูนย์บริการที่จะนำเข้าระบบภายใน 6 ชั่วโมง บางทีผู้ติดเชื้อเข้าระบบไปแล้ว แต่ตัวเลขยังค้างในแดชบอร์ด ตอนนี้ได้ปรับระบบเพื่อให้มั่นใจว่าคนไข้เข้าระบบในภายใน 6 ชั่วโมง ด้วยการให้คอลเซ็นเตอร์โทร.กลับใน 6 ชั่วโมง ถ้าหน่วยบริการยังไม่รับจะจัดยา อุปกรณ์ ส่งให้ที่บ้านไปก่อน คาดว่าปัญหาจะอยู่ที่ กทม.และปริมณฑล ได้เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ต่อเนื่อง
เชื่อต่อไปฮูเลิกนับตัวเลขผู้ป่วย
ทางด้าน ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ โพสต์เฟซบุ๊กว่า การติดเชื้อ ทั่วโลกขณะนี้เพิ่มมากขึ้นวันละเป็นล้าน แต่อัตราตาย โดยเฉลี่ยลดลงกว่าที่ผ่านมามาก ตัวเลขขณะนี้จะนับ จำนวนผู้ป่วยเฉพาะผู้ที่ตรวจยืนยันแล้ว ผู้ป่วยส่วนมาก ที่มีอาการแล้วไม่ได้ตรวจเช่นในประเทศที่การตรวจ RT-PCR ไม่ทั่วถึง และการที่ป่วยแบบไม่มีอาการ มีอีกมาก เมื่อรวมแล้วน่าจะมากกว่ายอดที่แจ้งองค์การ อนามัยโลกหลายเท่า เมื่อติดเชื้อแล้วจะมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น การติดเชื้อครั้งต่อไปอาการความรุนแรงก็จะ ลดลง เมื่อประชากรส่วนใหญ่มีภูมิเกิดขึ้นและความรุนแรงของโรคน้อยลง อัตราตายของโรคในปัจจุบันจึงลดลงมาโดยตลอด ในที่สุดเชื่อว่าองค์การอนามัยโลก หรือ WHO จะเลิกนับจำนวนผู้ป่วย หลังจากนั้นจะตรวจ เฉพาะผู้ที่มีอาการของโรคเท่านั้น จะไม่เหวี่ยงการตรวจ RT-PCR ที่มีราคาแพงมากมายเหมือนในปัจจุบัน
ค้านปล่อยติดเชื้อตามธรรมชาติ
รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชา โรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล โพสต์เฟซบุ๊กสรุปว่า ความเห็นที่ว่าโอมิครอนไม่ร้ายแรง ดังนั้น การปล่อยให้ติดเชื้อตามธรรมชาติมากๆจะได้ มีภูมิวงกว้างและช่วยหยุดการระบาดของโควิด-19 ได้เร็ว ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ด้วยเหตุผล 3 ข้อ ล่าสุด ทีมนักวิจัยจากเดนมาร์กติดตามผู้ที่เคยมีการ ตรวจสมรรถภาพปอดไว้ก่อนป่วย พอป่วยแล้วแม้จะ ไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อย เมื่อร่างกายหายดี แต่พบมีการถดถอยของสมรรถภาพปอดไปจากเดิม เราอยากจะเป็นเช่นนั้นกันหรือ
วัคซีนมีประโยชน์ใช้คู่มาตรการ
วันเดียวกัน ศ.นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการแพร่ระบาดของโอมิครอนว่า เราพบโอมิครอนมากว่า 5 สัปดาห์แล้ว ไม่อยากให้ สังคมตื่นตระหนก แต่ไม่อยากให้ผ่อนคลายมากเกินไป เชื่อว่าไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะพบการติดเชื้อใหม่ทะลุ หมื่นรายแน่นอน ภายในปลายเดือน ม.ค. จะเห็นตัวเลข วันละ 2-3 หมื่นราย อีก 3-4 วันก็เกินหมื่นราย ต่อวัน แต่บางคนอาจมองว่าไม่เห็นตัวเลขเสียชีวิต จะเพิ่ม อาจประมาทเป็นสิ่งอันตรายคิดแบบนี้ไม่ได้ ที่สำคัญคือ คนรอบข้างที่อาจติดเชื้อจากตัวเองแล้วเสียชีวิตได้เช่นกัน ตัวอย่าง 2 ประเทศ คือ สหราช อาณาจักร พบว่า ประชากรได้รับวัคซีนเข็มแรก 90% ได้รับเข็ม 2 83% และได้รับเข็ม 3 อีก 60% แล้ว แต่ติดเชื้อวันละกว่า 2 แสนราย ขณะที่แอฟริกาใต้ ฉีดวัคซีนน้อยแต่เริ่มคุมสถานการณ์ดีขึ้น ผู้ติดเชื้อลดลง สิ่งที่ต้องย้ำคือวัคซีนมีประโยชน์แต่ต้องคู่กับมาตรการสังคม การป้องกันตัวเอง สถานการณ์ตอนนี้ยังวางใจไม่ได้เด็ดขาดไม่ควรเสี่ยง ตัวเราลดโอกาสเสี่ยงได้ด้วยการฉีดวัคซีนและป้องกันตัวเอง เพื่อให้เราปลอดภัย
ไม่สั่งงดงานแข่งนกพัทยา
ผู้สื่อข่าวรายงานจาก ศปก.ศบค.ว่า กรณีการแข่งขันนกพิราบนานาชาติพัทยาครั้งที่ 6 ระหว่างวันที่ 7-9 ม.ค. ที่จะมีผู้ร่วมงานกว่า 500 คน ศปก.ศบค.ไม่ได้พิจารณาให้งดจัดงานดังกล่าว เพราะได้ขออนุญาตจัดมาก่อนหน้านี้แล้ว แต่ขอให้เคร่งครัดมาตรการ เช่น ผู้เข้าร่วมงานต้องฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือตรวจหาเชื้อแบบ ATK ก่อนเข้าร่วมงาน สถานที่จัดงานต้องเป็นสถานที่โล่ง เป็นต้น การจัดงานรูปแบบเดียวกันกับการแข่งนกพิราบ ศปก.ศบค.ได้กำชับกับทุกจังหวัดให้เคร่งครัดมาตรการอย่างละเอียดแล้ว หากดูจากข้อมูลการติดเชื้อแบบคลัสเตอร์ส่วนใหญ่เกิดจากร้านอาหารที่เป็นสถานที่ปิดทึบ
ผู้ว่าฯยัน ขรก.เลิกทุกกิจกรรม
ด้านนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี กล่าวว่า จังหวัดชลบุรีจะจัดทีมสาธารณสุขเข้าไปดูแลตรวจ ATK ผู้เข้าร่วมงานแข่งนกพิราบทุกคนก่อนเข้างาน ไม่อยากให้งดกิจกรรมของภาคเอกชนแต่อยากให้จัดอย่างปลอดภัย เคร่งครัดมาตรการ สวมหน้ากากอนามัย พื้นที่ไม่แออัด ขณะที่ในส่วนราชการงดจัดกิจกรรมร่วมกลุ่มคน
ไม่เลื่อนพิธีรับพระราชทานปริญญา
ขณะเดียวกัน นายวัชรินทร์ กาสลัก อธิการบดีมหาวิทยาลัยบูรพา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โอมิครอนในจังหวัดชลบุรีที่เพิ่มสูงขึ้น มหาวิทยาลัยบูรพาได้ปรับระบบเป็นเรียนออนไลน์ทุกวิชา เรื่องกำหนดวันพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่ผู้สำเร็จการศึกษา ประจำปีการศึกษา 2561-2562 ที่จะจัดในวันที่ 19-21 ม.ค.65 จากการหารือร่วม ระหว่างนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี ผวจ.ชลบุรี และผู้แทนสำนักพระราชวัง ได้ข้อสรุปว่า งานพิธีพระราชทานปริญญาบัตรจะยังคงให้มีต่อไป โดยกำหนดมาตรการคัดกรองอย่างเคร่งครัด วันพระราชทานปริญญา 19-21 ม.ค.65 จะให้เข้าร่วมงานเฉพาะบัณฑิตและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกคนต้องตรวจ ATK ก่อนเข้างาน ส่วนการถ่ายภาพหมู่แสดงความยินดีของญาติให้ถ่ายในช่วงวันซ้อมใหญ่ 15-17 ม.ค.ต้องมีการตรวจ ATK ทุกคนเช่นกัน แม้ว่าจะมีข่าวนิสิตมหาวิทยาลัยบูรพาติดโควิด แต่นิสิตกับบัณฑิตเป็นคนละกลุ่มกัน บัณฑิตจะเป็นคนที่มาจากจังหวัดอื่นๆ และมีการคัดกรองก่อนเข้างานอย่างเข้มงวด
เจอคลัสเตอร์นิสิต ม.บูรพา
ในส่วนสถานการณ์ที่ จ.ชลบุรี นพ.อภิรัต กตัญญุตานนท์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชลบุรี เผยว่า มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่ 529 ราย ในจำนวนนี้พบคลัสเตอร์นิสิตมหาวิทยาลัยบูรพา 17 ราย มาจากการไปสังสรรค์ร้านอาหารที่จำหน่ายแอลกอฮอล์และนายภัครธรณ์ เทียนไชย ผวจ.ชลบุรี ได้ออกมาตรการควบคุมเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโอมิครอนในเขตพื้นที่จังหวัดชลบุรี โดยให้ผู้ประกอบการหรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบภายในสถานประกอบการ ดำเนินการตามมาตรการป้องกันควบคุมโรค พนักงาน นักดนตรี นักแสดง ทุกคนต้องผ่านการตรวจ ATK ก่อนให้บริการทุกวัน ตรวจ ATK ผู้รับบริการและให้ผู้รับบริการแสดงหลักฐานผลการตรวจหาเชื้อเป็นลบ ไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเข้าใช้บริการ หากสถานประกอบการใดไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการข้อ 1 ข้อ 2 ได้ให้หยุดดำเนินการชั่วคราว
นอภ.แจง รพ.ไม่รับรักษาคนไข้
ส่วนกรณีหญิงชาว จ.ชลบุรี อายุ 50 ปี ตรวจพบเชื้อโควิดด้วย ATK หอบกระเป๋ามานั่งร้องไห้อยู่ริมถนนในเขตพัทยา อ้างว่าถูก รพ.แห่งหนึ่งปฏิเสธการรักษาและมีพลเมืองดีช่วยประสานให้ นอภ.บางละมุงช่วยเหลือนั้น นายวุฒิศักดิ์ สิงหเดโช นอภ.บางละมุง เผยว่า เคสหญิงที่ติดเชื้อโควิดแล้วถูก รพ.ปฏิเสธ เนื่องจากขณะนั้นผู้ป่วยใน รพ.บางละมุงมีเยอะมาก รพ.ต้องมีการคัดแยกออกเป็นสีต่างๆ และให้ไปกักตัวดูอาการที่บ้าน โดย รพ.จะรับผู้ป่วยสีแดงก่อนเท่านั้น ผู้ป่วยตรวจพบว่าติดเชื้อ แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะต้องไปรักษาตัวที่ รพ. รพ.จึงให้กักตัวอยู่ที่บ้านและ รพ.จะนำยามาให้
รุกตรวจ ATK ในชุมชน
ที่ศาลเจ้าปุนเถ้ากง ซอยตากสิน 4 เขตธนบุรี กลุ่มเส้น-ด้ายร่วมกับโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิและอาสาสมัครชุมชน จัดตรวจเชิงรุกคัดกรองด้วยชุดตรวจ ATK ให้ชาวบ้านในชุมชนตากสินสัมพันธ์ 121 คน เนื่องจากเป็นชุมชนแออัดมีความเสี่ยงที่จะเกิดการกระจายของโอมิครอน จากการสุ่มตรวจเบื้องต้นพบผู้มีเชื้อเพียง 2 ราย เจ้าหน้าที่ได้แยกตัวไว้รอส่งตัวไปรักษาที่ฮอสพิเทลในเครือ รพ.พริ้นซ์สุวรรณภูมิ ต่อไป
วอนรัฐบาลเร่งตรวจหาเชื้อ
นายคริส โปตระนันทน์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มเส้น-ด้าย กล่าวว่า หลังพ้นช่วงหยุดยาวปีใหม่ 2565 กลุ่มเส้น-ด้าย หน่วยงานสาธารณสุข ร่วมกันลงพื้นที่สุ่มตรวจคัดกรองหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 เชิงรุกในหลายชุมชนของ กทม. พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจเมื่อเทียบกับช่วงเดือน ธ.ค.64 จากการสุ่มตรวจไปเพียง 3 เขต คือจตุจักร พญาไท ธนบุรี พบผู้ติดเชื้อ 30 กว่าคนแล้ว อยากให้รัฐบาลโดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งลงพื้นที่ตรวจคัดกรองเชิงรุกตามชุมชนต่างๆของแต่ละจังหวัดหรือแจกชุดตรวจ ATK ให้ประชาชนตรวจเองคนละ 2 ชุด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ระบาดใหญ่ สร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคมอีก กลุ่มเส้น-ด้าย เป็นเพียงกลุ่มอาสาสมัครเล็กๆ ไม่สามารถช่วยดูแลได้อย่างทั่วถึง ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 ม.ค. เพจ “เส้นด้าย-Zendai” ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก ระบุว่า เป็นวันแรกในรอบ 3 เดือนที่เพจเส้นด้ายโทรศัพท์แทบแตก เนื่องจากมีคนโทร.เข้ามาขอเตียงเป็นจำนวนมาก ทำให้เกิดความสงสัยว่ามีผู้ติดเชื้อรายวันแค่ 3,000 รายจริงหรือ พร้อมเตือนให้ทุกคนระวังตัวเองกันให้ดี
ฆ่าเชื้อทุกร้านบนถนนข้าวสาร
นายธนวินท์ ภิญโญโสภณ ประธาน อปพร.เขตพระนคร เปิดเผยว่า ได้นำทีมอาสาสมัคร 6 คน พร้อมน้ำยาฆ่าเชื้อโรค เข้าฉีดพ่นบริเวณสถานบันเทิงในถนนข้าวสาร โดยก่อนหน้านี้ตนและทีม อปพร.เขตพระนครร่วมกันฉีดพ่นฆ่าเชื้อโรคที่บริเวณถนนข้าวสารและในเขตพระนครอาทิตย์ละ 1 ครั้ง มาตลอด 2 ปีที่โควิดระบาด กระทั่งมีข่าวพบนักท่องเที่ยวต่างชาติติดเชื้อโควิด-19 เขตพระนครจึงประสานให้มาฉีดพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคภายในร้านที่ให้บริการแก่ลูกค้าทุกร้านบนถนนข้าวสาร โดยฉีดพ่นในร้านค้าทุกชั้นที่มีลูกค้ามาใช้บริการ
ห้ามเรือนจำประมาทเด็ดขาด
นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม กล่าวระหว่างการประชุมผู้บริหารกระทรวงผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เกี่ยวกับมาตรการเฝ้าระวังโอมิครอนของเรือนจำทั่วประเทศว่า กรมราชทัณฑ์ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนมีคำสั่งยกระดับมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันอย่างเข้มงวด แม้สถานการณ์โควิดในเรือนจำขณะนี้จะดีมาก พบเรือนจำมีการติดเชื้อเพียง 7 แห่ง แต่ห้ามประมาทเด็ดขาด เพราะเชื้อโอมิครอนสามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว ต้องป้องกันอย่างเข้มงวดที่สุด เพราะหากมีการหลุดเข้าไปเรือนจำแล้วเราจะป้องกันได้ยากกว่าเดิม
แด๊กซ์วง Rock Rider ติดโควิด
วันเดียวกัน ค่ายเพลง ME RECORDS ต้นสังกัดของนักร้องดัง “แด๊กซ์-เอกรัตน์ วงศ์ฉลาด” หรือแด๊กซ์ วง Rock Rider อดีตนักร้องวงบิ๊กแอส แจ้งว่า แด๊กซ์ตรวจพบติดเชื้อโควิด-19 และจะเข้ารักษาตัวต่อไป ได้แจ้งผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงเวลาที่มีความเสี่ยงให้ทราบแล้ว งานทั้งหมดของ “แด๊กซ์ Rock Rider” จะถูกเลื่อนออกไปจนกว่าจะหายเป็นปกติ ส่วนอาการของนักร้องสาว “แจม เนโกะจัมพ์” ที่แจ้งว่าติดโควิด-19 ที่ประเทศอังกฤษ ผู้จัดการส่วนตัวเปิดเผยว่า ตอนนี้แจมมีอาการเจ็บคอ เสียงแหบ รักษาโดยกินยาตามอาการและต้องกักตัวอยู่ในที่พักอีก 10 วัน จะครบกำหนดในวันที่ 14 ม.ค. และเจ้าหน้าที่กรมอนามัยของอังกฤษจะมาตรวจหาเชื้ออีกครั้งเพื่อพิจารณาเรื่องอนุญาตให้เดินทางกลับประเทศไทยต่อไป
ฮ่องกงระงับเที่ยวบิน 8 ชาติ
วันเดียวกัน รัฐบาลฮ่องกงประกาศมาตรการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ระลอกที่ 5 จากผลพวงของตัวกลายพันธุ์โอมิครอน สั่งห้ามนั่งรับประทานภายในร้านอาหารหลัง 18.00 น. ระงับการให้บริการสระว่ายน้ำ ศูนย์ออกกำลังกาย สถานบันเทิงคลับบาร์ เป็นเวลา 2 สัปดาห์ เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. พร้อมสั่งระงับเที่ยวบินจาก 8 ประเทศ ได้แก่ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส อินเดีย ปากีสถาน ฟิลิปปินส์ อังกฤษ และสหรัฐฯ ตั้งแต่วันที่ 8-21 ม.ค. นอกจากนี้ ยังทำการเรียกเรือสำราญ “รอยัล แคริบเบียน” กลับท่าเรือ เพื่อตามตัวคนกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ ขณะที่สหรัฐฯพบผู้ติดเชื้อในวันเดียว 885,541 คน หลังวันก่อนพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทะลุ 1 ล้านคน อังกฤษพบผู้ติดเชื้อในวันเดียวทำสถิติสูงสุด 218,724 คน เท่ากับช่วง 7 วันที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อสะสม 1.26 ล้านคน เพิ่มจากสัปดาห์ก่อน 51%
‘ลองโควิด’-ภูมิฯทำลายตัวเอง
ด้านสถาบันการแพทย์ซีดาร์ส์-ไซนาย ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ รายงานผลการศึกษาการสังเกตอาการบุคลากรการแพทย์ 177 คน ที่ไม่หายขาดจากไวรัสโควิด-19 หรือได้รับเชื้อต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน หรือ LONG COVID (ลองโควิด) ตั้งแต่ก่อนการฉีดวัคซีน ที่พบว่าถึงคนเหล่านี้จะหายดีในเวลาต่อมา ไม่มีเชื้อโควิดหลงเหลือในร่างกายอีกต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือในร่างกายจะมีภูมิคุ้มกันส่วนหนึ่งที่สับสน เข้าทำลายเซลล์ต่างๆในร่างกายอย่างต่อเนื่อง หรือที่เรียกกันว่า “ออโต้แอนติบอดี” ส่งผลให้เกิดอาการบาดเจ็บที่ข้อต่อ ผิวหนังหรือระบบประสาท ไปจนถึงเกิดอาการอักเสบเรื้อรังในอวัยวะต่างๆของร่างกาย ส่วนมหาวิทยาลัยปารีส ฝรั่งเศส วิจัยพบว่าภูมิคุ้มกันที่ร่างกายผลิตออกมาหลังได้รับวัคซีนต้านไวรัสชนิดต่างๆนั้น มีสัดส่วนเพียง 30 เปอร์เซ็นต์ที่จะรู้จักว่าโอมิครอนคือเชื้อโรคที่ต้องกำจัดทิ้ง ที่เหลือส่วนใหญ่ไม่รู้จักว่าโอมิครอนคืออะไร แสดงให้เห็นว่าเชื้อโอมิครอนมีความสามารถหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดี