ดร.สมศักดิ์ ปณีตัธยาศัย นายกสมาคมกุ้งไทย เผยถึงสถานการณ์กุ้งไทยจากการหารือร่วมกับชมรมและสมาคมผู้เลี้ยงกุ้งประเทศพบว่า ผลผลิตกุ้งเลี้ยงปี 2564 โดยรวมอยู่ที่ 280,000 ตัน เพิ่มขึ้นเล็กน้อย (ปี 2563 อยู่ที่ 270,000 ตัน) คาดปี 2565 จะผลิตได้ 300,000 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 4% แบ่งเป็นผลผลิตกุ้งจากภาคใต้ตอนล่าง 33% ภาคใต้ตอนบน 32% ภาคตะวันออก 24% และภาคกลาง 11%

ส่วนผลผลิตกุ้งทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 4.24 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 16% สำหรับการส่งออกกุ้งเดือน ม.ค.-ต.ค.ปีนี้ ปริมาณ 128,758 ตัน มูลค่า 39,251 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2563 ที่ส่งออกปริมาณ 123,297 ตัน มูลค่า 35,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า ที่ 4% และ 9% ตามลำดับ แม้ประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ค่าขนส่งราคาสูง และอื่นๆ

“การเลี้ยงกุ้งของไทยในปีนี้ เกษตรกรทุกพื้นที่ยังคงเผชิญหน้ากับปัญหาโรคระบาด ทั้งอาการขี้ขาว ตัวแดงดวงขาว และโรคตายด่วน ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยง และเป็นต้นทุนแฝงกับเกษตรกร ทุกวันนี้อุตสาหกรรมกุ้งเปลี่ยนไป จากเดิมที่ไทยเป็นอันดับต้นๆในด้านการผลิตกุ้ง เพราะเรามีปัจจัยที่เหมาะสมทั้งสภาพอากาศ พันธุ์กุ้ง อาหาร และผู้แปรรูปส่งออกที่มีฝีมือ แต่ปัจจุบันเราตกไปอยู่อันดับ 6 หรือ 7 จากการไม่มีการวางแผนในการนำสินค้ากุ้งไปสร้างตลาดในต่างประเทศอย่างจริงจัง”

...

นายกสมาคมกุ้งไทยเสนอแนวทางแก้ปัญหา ทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตจำเป็นต้องผนึกกำลังร่วมด้วยช่วยกัน และมีการส่งเสริมสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรมเต็มกำลังจากภาครัฐ ที่สำคัญคือทำอย่างไรให้ต้นทุนการผลิตกุ้งของไทย สามารถควบคุมได้และลดลง มีความสามารถในการแข่งขันดีขึ้น ที่สำคัญต้องใช้เทคโนโลยีในการเลี้ยง จะเลี้ยงแบบตามมีตามเกิดแบบเดิมๆไม่ได้ สำคัญที่สุดต้องตัดต้นทุนแฝง คือความเสียหายจากโรคกุ้งที่ยังรุนแรงอยู่ให้ได้

“ขณะเดียวกันภาครัฐต้องตั้งเป้าหมาย มีธงที่ชัดเจนว่าไทยจะเดินไปทางไหน อย่างไร เช่น สินค้าคุณภาพและมูลค่าสูง มีอะไรที่แตกต่างจากคู่แข่ง และมีเป้าหมายผลผลิตที่มั่นคง ชัดเจน กำหนดระยะเวลา และปริมาณที่แน่นอน เช่น 4 แสนตันเมื่อไร ส่งออกจะเท่าไร เป็นต้น ที่สำคัญรัฐต้องมีการส่งเสริมสนับสนุน แผนดำเนินการที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม สามารถทำได้จริง เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย”

ส่วนผู้เลี้ยงต้องวางแผนและพัฒนาการผลิตกุ้งให้ได้ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ให้เพียงพอกับการส่งออกและบริโภคภายในประเทศ ที่สำคัญต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เบื้องต้นอาจไปศึกษาจากอินเดีย เอกวาดอร์ เวียดนาม ว่าเขาผลิตกุ้งส่งออกไซส์ไหน เราจะได้หลีกเลี่ยงผลิตกุ้งไซส์นั้นๆ จากนั้นหันมาส่งเสริมพัฒนาการผลิตและแปรรูปกุ้งกุลาดำที่มีราคาสูงกว่า ตลาดต้องการ โดยจัดกลุ่มเกษตรกรที่มีความพร้อม และพื้นที่ที่เหมาะสมกับกุ้งกุลาดำ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการส่งเสริม สร้างตลาดเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับผลผลิตกุ้งที่จะเพิ่มขึ้น ฯลฯ

นอกจากนั้นต้องพัฒนาการเลี้ยงให้มีรูปแบบการพัฒนาที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงจากโรค โดยรัฐสนับสนุนการเข้าถึงแหล่งเงินทุนและเทคโนโลยี สำคัญที่สุดเรื่องของต้นทุนวัตถุดิบผลิตอาหารที่สูงขึ้น และมีแนวโน้มสูงขึ้นอีก ภาครัฐมีแผนสนับสนุนอย่างไรให้เกิดประโยชน์ทั้งเกษตรกรและวัตถุดิบอาหารสัตว์ภายในประเทศอย่างไร.