ปัจจุบันเกษตรกรไทยนิยมเลี้ยงแพะกันมากขึ้น แต่แพะสายพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงกันส่วนใหญ่ มักไม่ทนต่อสภาพแวดล้อมของไทย ส่วนใหญ่เกิดโรคและพยาธิแล้วจะทำอย่างไรให้ข้ามพ้นข้อจำกัดนี้ไปได้
“จากการสำรวจปัญหาการเลี้ยงแพะในภาคใต้ พบปัญหาหลายอย่าง ทั้งจำนวนไม่เพียงพอต่อความ ต้องการ ขาดการรับรองคุณภาพ เกษตรกรใช้วิธีการเลี้ยงแบบดั้งเดิม ขาดข้อมูลทางการตลาด อีกทั้งยังเผชิญกับโรคและพยาธิในแพะ รวมทั้งการขาดพันธุ์แพะพื้นฐานที่เหมาะสมกับผู้เลี้ยงรายย่อย ทีมวิจัยจึงต้องการสายพันธุ์แพะที่ตอบโจทย์กับอุปสรรคต่างๆให้ครอบคลุมที่สุด งานวิจัยเกือบ 20 ปี จึงได้แพะพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 ที่เตรียมขอขึ้นทะเบียนพันธุ์กับสำนักพัฒนาพันธุ์สัตว์ กรมปศุสัตว์”
ผศ.ดร.ไชยวรรณ วัฒนจันทร์ คณบดีคณะทรัพยากรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้อำนวยการชุดโครง การวิจัย ภายใต้แผนงานวิจัยพัฒนาและขับเคลื่อนการเลี้ยงแพะภาคใต้ พ.ศ.2563-2565 ได้รับทุนสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล่าถึงที่มาของแพะสายพันธุ์ใหม่ “ทรัพย์ ม.อ.1” นับเป็นสถาบันการศึกษาแห่งแรกของประเทศ ที่มีงานวิจัยเรื่องแพะอย่างเป็นรูปธรรม จนมีงานวิจัยตีพิมพ์นับร้อยผลงาน
...
แพะพันธุ์ทรัพย์ ม.อ.1 เป็นแพะลูกผสมที่ทนทานต่อโรคพยาธิ และสภาพแวดล้อมบ้านเรา ขนาดกำลังเหมาะไม่ใหญ่หรือเล็กจนเกินไป ที่เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างแพะพื้นเมืองใต้ ที่ทนต่อสภาพแวดล้อมของไทย อยู่กับความชื้นสูงได้ดี ทนต่อพยาธิและโรค กระดูกเล็กเนื้อเยอะ กับแพะพันธุ์แองโกลนูเบียนพันธุ์แท้ ที่มีเนื้อเยอะ โตเร็ว ขนาดค่อนข้างใหญ่
ลักษณะสีน้ำตาล หลังดำ หูตก ขายาว ลำตัวยาว โตค่อนข้างเร็ว เลี้ยง 4 เดือน จะได้ขนาดกำลังขาย 25-30 กก. ผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป เนื่องจากผ่านการปรับปรุงพันธุ์จึงสามารถเลี้ยงได้ทุกภาคของประเทศ และด้วยตัวไม่ใหญ่จนเกินไปจึงบริหารจัดการง่าย ต้นทุนอาหารถูกกว่าแพะใหญ่ จึงเหมาะกับเกษตรกรรายย่อย
ที่สำคัญได้รับการเพิ่มประสิทธิภาพในการสืบพันธุ์แพะด้วยการใช้โปรแกรมฮอร์โมนในการผลิตน้ำเชื้อแช่แข็ง ผสมเทียมโดยวิธีลาพาโลสโคป ให้แพะกำเนิดลูกแฝดมากขึ้นจากเดิมอัตราตกลูกปีละ 1.5 ตัว เพิ่มเป็น 2.5-3 ตัว
ทั้งนี้ ทีมวิจัยตั้งเป้าให้เกิดจำนวนแพะภาคใต้เพิ่มขึ้นอีกกว่า 400,000 ตัว สร้างมูลค่าการซื้อขายให้ได้ราว 900 ล้านบาท และให้เกษตรกรได้รับองค์ความรู้กว่า 5,000 ราย ช่วยลดการนำเข้าแพะจากภูมิภาคอื่นๆ และเพิ่มโอกาสการส่งออกแพะไปประเทศเพื่อนบ้านได้
ปัจจุบันแพะที่ผลิตในพื้นที่ภาคใต้ ผลิตกันแทบไม่ทัน หากอยากได้ต้องจองกันตั้งแต่ยังเล็ก ขณะที่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านต้องการแพะมาก โดยแพะขนาดใหญ่ 20 กก.ขึ้นไป เวียดนามต้องการมาก เพื่อนำมาขุนต่อส่งขายจีน ส่วนแพะเล็กขนาด 20 กก.ลงมา มาเลเซียนิยมมาก ฉะนั้น การได้แพะชนิดนี้ ที่ทั้งทน และสามารถตอบโจทย์ทุกอย่างได้ จึงน่าจะเป็นการเปิดช่องทางสู่การส่งออกแพะไทยได้ไม่ยาก...สนใจสอบถามรายละเอียดได้ที่ 08-9876-0350.
กรวัฒน์ วีนิล