เด็กไทยเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ ขณะที่ไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มรูปแบบ ส่วนจำนวนวัยแรงงานก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ นั่นหมายถึงปัญหาในอนาคตอันใกล้ ซึ่งเป็นผลจากโครงสร้างประชากรของประเทศกำลังบิดเบี้ยว หากวันนี้ยังไม่เริ่มลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อแก้ปัญหาทุกอย่างอาจสายเกินแก้ไข
จากโครงสร้างประชากรของประเทศไทย ในช่วง 50 ปีก่อน เรามีอัตราการเพิ่มประชากรที่สูงมาก โดยหญิงไทย 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 6 คน เพื่อเป็นแรงงานของครอบครัว เนื่องจากส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ปี พ.ศ.2513 รัฐบาลจึงได้ออกนโยบายด้านประชากร โดยมุ่งเน้นเรื่องการวางแผนครอบครัวและการคุมกำเนิด ส่งเสริมให้ครอบครัวหนึ่งมีบุตร 2 คน โดยกำหนดนโยบายในภาพรวมของประเทศ ทั้งมิติทางด้านสังคม เศรษฐกิจ และนโยบายต่างๆ สนับสนุนไปในทิศทางเดียวกัน ผ่านมา 50 ปี นโยบายที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันก็เห็นผล อัตราการเกิดของไทยลดลง โดยหญิง 1 คน มีบุตรเฉลี่ย 1.3 คน เท่านั้น ซึ่งไม่เพียงพอต่อ “การทดแทนประชากร” โดยพบว่า จากเดิมเคยเกิดปีละ 1 ล้านคน ลดลงเหลือเพียง 596,736 คนในปี 2562 ขณะเดียวกันก็พบว่า อัตราการคลอดในกลุ่มวัยรุ่นกลับเพิ่มสูงขึ้น โดยปี 2553 อัตราการคลอดในวัยรุ่น อายุ 15-19 ปี เท่ากับ 50.1 ต่อประชากรหญิงวัยเดียวกัน 1,000 คน
...
จากสภาพปัญหาดังกล่าว นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เล่าว่า ปี 2553 รัฐบาลได้เห็นชอบนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 1 พ.ศ.2553-2557 มุ่งเน้นการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งก็ได้ผล เมื่อสิ้นสุดแผน ในปี 2557 ก็สามารถลดอัตราการคลอดในวัยรุ่น เหลือเพียง 47.9 พร้อมกับการออกกฎหมายเฉพาะ เช่น พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 ทำให้ปีนี้อัตราการคลอดของวัยรุ่นลดลงเหลือ 28.7 เท่านั้น แต่การเป็น “คุณแม่วัยรุ่น” ก็ส่งผลกระทบต่างๆมากมาย ทั้งเสียโอกาสทางการศึกษา ความรุนแรงในครอบครัว เด็กถูกทอดทิ้ง เด็กแรกเกิดน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เป็นต้น ขณะที่ภาพรวมจากนโยบายวางแผนประชากรและคุมกำเนิดที่ได้ผลจึงส่งผลให้เกิดสภาพ “เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ”
“ต่อมาปี 2559 เราก็มีนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560–2569 แต่รอบนี้เราเน้นการส่งเสริมการเกิด และการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพ เพราะต้องการแก้ไขปัญหาของประเทศที่อัตราการเกิดเริ่มไม่เพียงพอต่อการทดแทนประชากร โดยเน้น 3 ด้านคือ 1. เพิ่มจำนวนการเกิดที่มีการวางแผน มีความพร้อมและมีความสมัครใจ 2.ส่งเสริมให้การเกิดทุกราย ให้มีคุณภาพ เด็กเกิดรอด แม่ปลอดภัย 3.เมื่อเกิดมาแล้ว ก็ส่งเสริมให้เด็กได้รับการเลี้ยงดูที่ดี มีพัฒนาการสมวัย สติปัญญาดี มีความเฉลียว ฉลาดทางอารมณ์ ที่สำคัญคือ มีการเจริญเติบโตสมส่วนเต็มตามศักยภาพ” นพ.สุวรรณชัย กล่าวถึงจุดเน้นของยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์ ระยะที่ 2
อธิบดีกรมอนามัย เล่าเพิ่มเติมว่า ส่วนหนึ่งของการดำเนินการตามนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนาอนามัยการเจริญพันธุ์แห่งชาติ ฉบับที่ 2 ได้แก่ การจัดโครงการวิวาห์สร้างชาติ ซึ่งเป็นนโยบาย ของนายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คนในประเทศหันมาให้ความสนใจกับปัญหา เด็กเกิดน้อย ด้อยคุณภาพ และนำไปสู่การเพิ่มจำนวนการเกิดที่มีความพร้อม มีความสมัครใจ และมีการวางแผน โดยมุ่งเป้าตอบสนองความต้องการของคน 3 กลุ่ม คือ กลุ่มคนโสดที่ต้องการมีคู่ เนื่องด้วยวิถี ชีวิตคนในปัจจุบันที่ทำให้โอกาสพบปะผู้คนน้อยลง โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตผ่านโลกออนไลน์ จึงเกิดกิจกรรม “โสดออนซูม” เปิดหน้าจอ รอเจอหน้าจริงเป็นกิจกรรมที่ให้คนพบกันในช่องทางที่ปลอดภัย มีผู้สนใจสมัครร่วมกิจกรรม 1,500 คน ผ่านการคัดเลือกเข้ากิจกรรม 150 คน ในจำนวนนี้มี 3 คู่ที่สามารถสานความสัมพันธ์จนเป็นคนรัก ที่เหลือแม้จะไม่ได้เป็นคนรัก แต่ก็มีทัศนคติที่ดีที่สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับคนอื่นๆ อันจะนำไปสู่โอกาสที่จะมีครอบครัวได้ต่อไป
กลุ่มที่สองคือ กลุ่มที่ใช้ชีวิตคู่และต้องการมีบุตร และมีบุตรได้ตามธรรมชาติ ในกลุ่มนี้กรมอนามัยส่งเสริมด้านวิตามินเหล็กและโฟลิก อย่างน้อย 3 เดือนก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อลดภาวะซีด และป้องกันการพิการแต่กำเนิด และกลุ่มที่สามคือ กลุ่มที่มีภาวะมีบุตรยาก โดยจัดกิจกรรม For Baby เพื่อส่งเสริมการตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ มีคนเข้าร่วมกิจกรรม 3,060 คน พบว่าร้อยละ 80 แค่รับคำแนะนำใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซับซ้อน เช่น วัดอุณหภูมิ หาวันที่ตกไข่ หรือมีเพศสัมพันธ์ในระยะเวลาที่เหมาะสม ก็มีบุตรได้ และอีกเพียงร้อยละ 20 ที่ต้องใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์ นอกจากนี้ ยังมีประชาชนที่สนใจขอรับข้อมูลข่าวสารด้านอนามัยเจริญพันธุ์ และรับคำปรึกษาทุกวัน
...
“การที่เราจะปรับโครงสร้างประชากร ให้มีการเกิดเพิ่มมากขึ้น เด็กเมื่อเกิดมาแล้วสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีความฉลาดทางอารมณ์ เป็นวัยแรงงานที่มีประสิทธิภาพ ขณะที่ผู้สูงอายุก็เป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพ พึ่งพาตนเองได้ สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกัน เราเคยสำเร็จมาแล้วครั้งหนึ่งจากการวางแผนครอบครัวและคุมกำเนิด โดยครั้งนั้นมีนโยบายที่ชัดเจนจากภาครัฐ ทุกหน่วยงานกำหนดภารกิจที่สนับสนุน ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ต้องให้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมมีส่วนร่วม และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ การแก้โครงสร้างประชากรไม่สามารถที่จะทำได้สำเร็จในระยะเวลาสั้น และไม่สามารถที่จะเริ่มกระทำได้ ถ้าไม่เกิดการเตรียมการ เตรียมพร้อม และการเห็นพ้องโดยรวม และที่สำคัญคือ ถ้าไม่ทำตั้งแต่ตอนนี้อย่างเพียงพอ และอย่างเหมาะสม ใน 20 ปีข้างหน้า เรามีปัญหาแน่นอน โดยปี 2583 คาดว่า หากไม่มีการปรับนโยบายด้านโครงสร้างประชากร จะทำให้มีวัยแรงงานเหลือเพียง 1.7 คน ที่จะดูแลผู้สูงอายุ 1 คน จากเดิมปี 2551 มีวัยแรงงาน 6 คน ดูแลผู้สูงอายุ 1 คน” นพ.สุวรรณชัย กล่าว
...
“ทีมข่าวสาธารณสุข” มองว่า การปรับโครงสร้างประชากรของประเทศ คงไม่สามารถทำได้เพียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกภาคส่วนในสังคมต้องร่วมกันตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากปัญหาเด็กเกิดน้อยและด้อยคุณภาพ โดยต้องเริ่มลงมือแก้ไขตั้งแต่บัดนี้
เพราะการที่คนคนหนึ่งจะเกิดและเติบโตอย่างมีคุณภาพต้องใช้เวลา และทุกหน่วยงานต้องมีนโยบายสนับสนุนที่สอดคล้องกัน
เพื่อให้เด็กไทยที่เกิดมาเติบโตอย่างมีคุณภาพในสังคมที่น่าอยู่.
ทีมข่าวสาธารณสุข