เปิดม่านรับศักราชใหม่ปี 2565 กับ “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์”
ตามการคาดการณ์ปี 2565 ประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปในประเทศไทยจะขยับสัดส่วนเป็นร้อยละ 20 ของประชากรทั้งประเทศ นั่นหมายถึงประชากร 1 ใน 5 คือผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) และสหประชาชาติกำหนดสังคมที่มีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป ถือเป็น “สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์”
ปัจจุบันผู้สูงอายุในประเทศไทยมีประมาณ 11.8 ล้านคน จากประชากรกว่า 66 ล้านคน หรือร้อยละ 17.9
ผลการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทยมาจากการเปลี่ยนผ่านทางประชากรทั้งอัตราการเกิด หรือภาวะเจริญพันธุ์ลดลง ภาวะการเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและวัยแรงงานลดลงอันสืบเนื่องมาจากการพัฒนาในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน โภชนาการ การศึกษา เศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางการแพทย์ ทำให้ประชากรมีอายุขัยเฉลี่ยมากขึ้น
การสูงวัยของประชากรที่เพิ่มขึ้นสวนทางกับอัตราการเกิดที่ลดลงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หลายประเทศได้เตรียมพร้อมและดำเนินมาตรการต่างๆรองรับกับสถานการณ์
...
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลประกาศให้ “สังคมผู้สูงอายุเป็นวาระแห่งชาติ” และขับเคลื่อนตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค.2561 มีแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติครอบคลุมทั้งกลุ่มก่อนวัยสูงอายุ (25–59 ปี) เน้นเตรียมการสู่การเป็นผู้สูงอายุอย่างมีคุณภาพ การให้ความสำคัญกับการออม การปรับสิ่งแวดล้อมให้สอดคล้องกับสภาพผู้สูงอายุ รวมถึงการปรับเปลี่ยนทัศนคติไม่มองผู้สูงอายุเป็นภาระ ส่วนผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการจัดทำแผนการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวครอบคลุมผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิงที่มีมากขึ้น เน้นการเสริมทักษะใหม่แก่แรงงานผู้สูงอายุ ออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่นและสร้างแรงจูงใจให้นายจ้างจ้างงานผู้สูงอายุ จัดทำแผนบูรณาการด้านสุขภาพ และดูแลสุขภาพระยะยาวที่บ้านและในชุมชนตามระดับความจำเป็น
นางสุจิตรา พิทยานรเศรษฐ์ อธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เปิดเผยว่า ประเทศไทยได้เตรียมการรองรับสังคมผู้สูงอายุมาระยะหนึ่งแล้ว ทั้งการประกาศเป็นวาระชาติ การกำหนดแผนปฏิบัติการผู้สูงอายุแห่งชาติ โดยเฉพาะในปี 2563 ได้กำหนดแนวทางมุ่งเน้นเรื่องสังคมสูงวัยคนไทยอายุยืน ที่ขับเคลื่อนในทุกกระทรวง สำหรับในปี 2565 กรมกิจการผู้สูงอายุ (ผส.) ได้จัดทำแผนบูรณาการรองรับทั้งมิติคนก่อนวัยสูงอายุที่ต้องสร้างความรู้ความเข้าใจและตระหนักในการก้าวสู่วัยสูงอายุอย่างมีคุณภาพ และมิติวัยสูงอายุมีการส่งเสริมพัฒนาศักยภาพให้มีความแข็งแรงด้านสุขภาพ มีความมั่นคงในการมีชีวิต มีส่วนร่วมในกิจกรรมทางสังคม รวมถึงการจัดระบบสวัสดิการต่างๆรองรับ
“โรคโควิด-19 ส่งผลกระทบไม่เฉพาะกับตัวผู้สูงอายุเอง แต่ยังส่งผลไปถึงบุคคลรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นด้านสุขภาพที่เจ็บป่วย ภาวะทางเศรษฐกิจที่ขาดรายได้ รวมไปถึงสภาวะทางจิตใจ เป็นโจทย์ที่ทำให้ ผส.คิดทบทวนและนำไปสู่การกำหนดแนวทางขับเคลื่อนในปี 2565 ดังนี้ 1.การสร้างความเข้าใจกับสังคมสูงวัยหลังภัยโควิด–19 โดยมองว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายผู้สูงอายุควรได้รับการดูแลส่งเสริมมิติต่างๆ เช่นมิติเศรษฐกิจที่เกิดภาวะว่างงานมากขึ้น ผู้สูงอายุที่อาจจะไม่ได้เข้าสู่ตลาดแรงงานเหมือนเคย
...
จะมีวิธีดูแลในการประกอบอาชีพสร้างรายได้รองรับหรือจะอยู่กับครอบครัวชุมชนอย่างไร 2.พัฒนาสิทธิสวัสดิการถึงผู้สูงอายุ ทำอย่างไรจะนำสวัสดิการต่างๆ เข้าไปถึงผู้สูงอายุเนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนย้าย ต้องวางแผนให้ชัดขึ้น รวมถึงการเสริมทักษะให้ผู้สูงอายุสามารถใช้สื่อเทคโนโลยีได้สะดวกและเข้าถึงสิทธิสวัสดิการต่างๆ อย่างทั่วถึง 3.สร้างความเข้าใจสังคมสูงวัยพลังบวก ส่งเสริมกระบวนทัศน์พัฒนาความคิดเชิงบวกโดยมองสังคมเป็นสังคมที่อยู่ร่วมกันของคนหลากหลายวัยที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน และ 4.มุ่งสู่มาตรฐานการดูแลผู้สูงอายุในทุกมิติ ทั้งศูนย์ดูแล คนดูแล รวมถึงหลักสูตรการดูแลผู้สูงอายุ” นางสุจิตรา ย้ำถึงแนวทางดำเนินการในปี 2565
อธิบดี ผส. กล่าวด้วยว่า จาก 4 แนวทางดังกล่าวนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมขับเคลื่อน เช่น การพัฒนาศูนย์เรียนรู้วิถีใหม่เพื่อการดูแลผู้สูงวัยหลังภัยโควิด-19 ที่ตอบโจทย์ทั้งการดูแลสุขภาพ เศรษฐกิจ การปรับสภาพแวดล้อมในบ้าน การอยู่ร่วมกัน โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยดำเนินการ และพัฒนาให้เป็นศูนย์เดียวที่ดูแลแก้ปัญหาทุกมิติให้กับคนทุกช่วงวัย นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นให้ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพ ผู้สูงอายุ (ศพอส.) ซึ่งมี 1,900 แห่งทั่วประเทศ ทำงานเชิงรุกเพื่อสร้างสุขคนทุกวัย โดยร่วมกับอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.) จิตอาสา และชุมชนในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาดิจิทัลเซอร์วิสเพื่อให้ผู้สูงวัยเข้าใจเข้าถึงสิทธิต่างๆ เช่น กองทุนผู้สูงอายุ เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เป็นต้น
...
ขณะที่ นพ.ภูษิต ประคองสาย เลขาธิการมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย (มส.ผส.) สะท้อนมุมมองว่า การให้ความสำคัญกับผู้สูงอายุ คงไม่ใช่เฉพาะปี 2565 ที่เป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ เนื่องจากโครงสร้างประชากรจะเปลี่ยนจากพีระมิด สามเหลี่ยมฐานกว้างเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับ คลื่นประชากรหรือประชากรรุ่นเกิดล้านที่เกิดระหว่างปี 2506-2526 กำลังจะกลายเป็นผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ขณะที่หลังปี 2526 เด็กเกิดใหม่ต่ำกว่า 1 ล้านคน นั่นหมายถึงปี 2566 เป็นต้นไปจะมีผู้สูงอายุเติมเข้ามาในระบบมากขึ้นสวนทางกับประชากรเกิดใหม่ที่ลดลงเรื่อยๆ ก่อให้เกิดปัญหาขาดแคลนแรงงาน จนเวลานี้ต้องมีการนำเข้าแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องหาคำตอบในเรื่องของสังคมผู้สูงอายุ ทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีบทบาทในการอยู่ร่วมกับสังคมโดยไม่ได้เป็นภาระ เปลี่ยนวิธีคิดโดยมองผู้สูงอายุในฐานะทรัพยากรมนุษย์ที่ยังใช้ศักยภาพประสบการณ์ต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศ
นพ.ภูษิต กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ คือการทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุมีรายได้มั่นคงหลังเกษียณอายุ มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีประโยชน์กับสังคม หากเจ็บป่วยก็สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพ รวมถึงสวัสดิการสังคมก็ต้องได้รับอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ปล่อยให้ถูกทอดทิ้ง หนึ่งในข้อเสนอที่มูลนิธิ ผลักดันคือการขับเคลื่อนสู่สวัสดิการสังคมแบบถ้วนหน้า ที่รัฐบาลต้องมีความชัดเจนและกำหนดเป้าหมายดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่เช่นนั้นก็อาจจะถูกปรับเปลี่ยนอย่างเช่นเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ปรากฏเป็นข่าวจะปรับลดจากการให้ถ้วนหน้ามาให้เฉพาะกลุ่มคนยากจน จนเกิดกระแสต่อต้าน ทั้งที่แนวทางปฏิบัติควรจะปรับลดงบประมาณพัฒนาโครงสร้างต่างๆที่ไม่จำเป็น นำมาเพิ่มในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรให้มากขึ้น
...
“มีโจทย์อีกมากที่เราต้องมองถึงอนาคตผู้สูงอายุไทย ต้องทำให้เขามีที่ยืน ดึงศักยภาพผู้สูงอายุที่มีมาทำงานร่วมกับคนต่างวัย ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มทักษะเรื่องการใช้สื่อเทคโนโลยีให้กับผู้สูงอายุเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สวัสดิการความช่วยเหลือต่างๆ ทั้งนี้ หากจำแนกผู้สูงอายุ สามารถแบ่งเป็นวัยต้นที่มีอายุระหว่าง 60-70 ปี กลุ่มนี้ยังแข็งแรง 30-40% ยังสามารถทำงานได้ พอเข้าสู่วัยกลาง 70-80 ปี และวัยปลาย 80 ปีขึ้นไปจะเกิดภาวะพึ่งพิงทำอย่างไรให้ผู้สูงอายุเหล่านี้มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงให้นานที่สุด ย่นระยะเวลาที่ต้องเป็นผู้สูงอายุพึ่งพิง ติดบ้านติดเตียง ให้มีโรคภัยน้อยที่สุด รวมทั้งไม่ถูกทอดทิ้งอยู่โดดเดี่ยว เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องหาคำตอบ” นพ.ภูษิต ชี้ประเด็นพร้อมระบุว่า ชมรมผู้สูงอายุ โรงเรียนผู้สูงอายุ เป็นหนึ่งในแนวทางที่ตอบโจทย์การดูแลและพัฒนาผู้สูงอายุ แต่ต้องมีรูปแบบที่ตอบสนองผู้สูงอายุแต่ละกลุ่มวัย ขณะเดียวกัน บทบาทขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีส่วนสำคัญในการสร้างพลังที่เข้มแข็งให้กับผู้สูงอายุ ด้วยการจัดระบบช่วยเหลือผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิงและเปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุที่ยังมีกำลังใช้ศักยภาพทำประโยชน์ให้กับชุมชน เป็นสิ่งดีที่ควรสนับสนุนขยายความเข้มแข็งของชุมชนฐานรากในการดูแลผู้สูงอายุ เพราะเราคงหวังพึ่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียวไม่ได้ แต่ภาคประชาชนชุมชนก็ต้องช่วยกัน
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล สำรวจพบผู้สูงอายุมีรายได้น้อยยังต้องรับเงินจากบุตรหลานมีถึงร้อยละ 57.7 ในจำนวนดังกล่าวร้อยละ 40.0 ยังต้องทำงานหารายได้เลี้ยงชีพ ร้อยละ 99.3 พึ่งพารายได้จากเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และร้อยละ 65.2 ไม่มีการออม ยิ่งการระบาดของโรคโควิด-19 รายได้จากส่วนต่างๆก็ลดลง อีกส่วนที่ไม่อาจละเลยคือกลุ่มผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง ไม่ว่าจะกลุ่มติดเตียงที่มีจำนวนกว่า 4.3 หมื่นคน มีภาวะสมองเสื่อม 6.51 แสนคน และคาดว่าจะมีจำนวนมากขึ้นในอนาคต เป็นความท้าทายที่รัฐบาลและทุกภาคส่วนต้องจัดการ
การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างมีคุณภาพ คงไม่ใช่มุ่งเน้นเฉพาะกลุ่มเป้าหมายผู้สูงอายุเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกช่วงวัยที่ต้องเตรียมความพร้อม ต้องตระหนักและสร้างหลักประกันให้กับตนเองทั้งด้านสุขภาพอนามัยที่แข็งแรง การเงินที่มั่นคง การดำรงชึวิตอย่างมีศักดิ์ศรี เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้สูงวัยอย่างมีคุณค่าและคุณภาพ
ขณะเดียวกัน ต้องไม่เพิกเฉยต่อกลุ่มที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง จัดระบบเกื้อหนุนดูแลซึ่งกันและกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ร่วมกันเปลี่ยน “ภาระ” เป็น “พลัง” ของชาติ.
ทีมข่าวการพัฒนาสังคม