ททท. เตรียมเปิดตัวการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย เดือน ม.ค. 2565 จับมือสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย ประเดิมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเกษตรอินทรีย์ รับคะแนน Earth Points เป็นสัญลักษณ์ให้รับรู้ว่าเป็นการท่องเที่ยวที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และรักษาสิ่งแวดล้อม
นางน้ำฝน บุณยะวัฒน์ รองผู้ว่าการด้านนโยบายและแผน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ททท. ได้เริ่มต้นทำงานโดยกำหนดให้การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) เป็นโครงการพัฒนาต้นแบบการส่งเสริมการท่องเที่ยว ภายใต้นโยบายของรัฐบาล ที่ต้องการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy : BCG Model) โดย ททท. มุ่งหวังให้การท่องเที่ยวเชิงอาหาร เป็นโครงการต้นแบบในการส่งเสริมและยกระดับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนฐานราก และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศ
“ททท. เล็งเห็นว่าอาหารเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักท่องเที่ยวตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย มีสัดส่วนของมูลค่าการใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่น ๆ อีกทั้งยังมีเรื่องราวที่เป็นเอกลักษณ์เชื่อมโยงกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ในพื้นที่ และการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรในการประกอบอาหาร สอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลต้องการผลักดันการเพิ่มมูลค่าและเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่งในปัจจุบันสินค้าเกษตรอินทรีย์ ถือเป็นตัวอย่างที่ดีของผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ BCG Model ได้ครบทุกมิติ จึงจะเริ่มต้นส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์”
สำหรับการดำเนินงาน ททท.ได้ร่วมมือกับสมาคมผู้บริโภคอินทรีย์ไทย (Thai Organic Consumer Association : TOCA) ที่มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาด้านอุปทานในการสนับสนุนการขับเคลื่อนสังคมอินทรีย์ และขยายช่องทางการเข้าถึงสินค้าอินทรีย์ที่น่าเชื่อถือในราคาที่เป็นธรรม มาผนวกกับความเชี่ยวชาญของ ททท. ในการเล่าเรื่องหรือสร้างอุปสงค์ด้านการท่องเที่ยว เพื่อพัฒนาให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงอาหารที่เกี่ยวข้องกับเกษตรอินทรีย์ โดยผ่านการใช้งานระบบ TOCA Platform ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับและประมวลผลออกมาเป็นคะแนน Earth Points เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ที่เข้าร่วมโครงการได้ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกระบวนการผลิต และการจัดการขยะของเสียอย่างเป็นระบบในจำนวนเท่าใด เมื่อได้นำมาใช้กับด้านการท่องเที่ยวก็เท่ากับได้ช่วยเติมต้นทุนที่ดีให้กับแหล่งท่องเที่ยวและประเทศด้วย
“ในช่วงแรกของการเปิดโครงการภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ททท. ได้นำกลุ่มนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นนักศึกษาจากสหรัฐอเมริกา ไปเที่ยวในสวนเกษตรอินทรีย์ บ้านสวนผักกูดทอง ของลุงกัมพล กิ่งแก้ว เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ทางการท่องเที่ยว เริ่มต้นจากรับฟังบรรยายว่าเกษตรอินทรีย์เป็นอย่างไร พร้อมทั้งมีการร่วมกิจกรรมภายในบ้านสวนผักกูดทอง หลังจากนั้น ได้พานักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ไปทานอาหารในร้านอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ ซึ่งนักท่องเที่ยวประทับใจมาก และรู้สึกว่าได้รับประสบการณ์ใหม่ๆ”
ทั้งนี้ ใน จ.ภูเก็ต มีผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารในพื้นที่ เข้าร่วมโครงการและใช้งานเครื่องมือ TOCA Platform เป็นโรงแรม 2 แห่ง ได้แก่ โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ภูเก็ต ป่าตอง และโรงแรม ตรีสรา และร้านอาหาร 3 แห่ง ได้แก่ 1.Torry's Ice Cream 2.บ้านอาจ้อ 3.ร้าน Pru Jampa ซึ่งแต่ละแห่งรับซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์มาเป็นวัตถุดิบ รวมทั้งคิดเมนูอาหารที่ทำจากเกษตรอินทรีย์ขึ้นมาโดยเฉพาะ
นางน้ำฝน กล่าวว่า การส่งเสริมการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model สอดคล้องกับแนวคิดของการท่องเที่ยวไทยปี 2565 ที่ต้องการพลิกโฉมการท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้แคมเปญ Visit Thailand Year 2022 : Amazing New Chapters ซึ่งจะมีการเปิดตัวกิจกรรมเพื่อจุดกระแสการท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model ในงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย ช่วงเดือน ม.ค.2565
“ททท.จะส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหารเกษตรอินทรีย์กับนักท่องเที่ยวชาวไทยก่อน เพื่อสร้างกระแสให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมองเห็นว่าพฤติกรรมของคนไทยเปลี่ยน เขาก็จะเปลี่ยนตาม นอกจากนี้ การท่องเที่ยวในรูปแบบ BCG Model ภายใต้การเล่าเรื่องของ ททท. ในระยะต่อไป จะไปไกลกว่าวัตถุดิบอินทรีย์ด้วย”
นายกัมพล กิ่งแก้ว สวนเกษตรอินทรีย์ บ้านสวนผักกูดทอง กล่าวว่า เมื่อ 20 ปีที่แล้วเคยทำเกษตรเคมีมาก่อนแต่มีปัญหาในเรื่องของผลผลิตออกมาไม่สม่ำเสมอ หลังจากที่ทำไปได้ 5 ปี จึงเปลี่ยนมาทำเกษตรอินทรีย์แทน โดยเริ่มต้นเรียนรู้วิธีการทำการเกษตรอินทรีย์ โดยมุ่งเรื่องการรักษาสมดุลทางธรรมชาติ แทนการใช้สารเคมีและปุ๋ยเคมี จนปัจจุบันได้รับการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ Organic Thailand ซึ่งทางโรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ภูเก็ต ป่าตอง มาขอซื้อผลผลิตโดยตรง
ขณะเดียวกัน ได้เปิดบ้านสวนผักกูดทองให้คนทั่วไปที่สนใจมาเรียนรู้วิธีทำการเกษตรอินทรีย์โดยเฉพาะ โดยไม่คิดมูลค่า และเปิดรับกลุ่มนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ ในราคาคนละ 850 บาท มาท่องเที่ยวภายในสวน ได้มาเรียนรู้และทำกิจกรรมการเก็บผักกูด ที่ปลูกโดยวิธีเกษตรอินทรีย์ รวมทั้งร่วมประกอบอาหารจากผักอินทรีย์ และทำขนมชนิดต่างๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติชอบกันมากที่สุด คือ การแคะขนมครก
“ผมมองว่าการท่องเที่ยวแบบนี้กระจายรายได้สู่เกษตรกรโดยตรง เพราะถ้าทำเฉพาะการเกษตร อาจจะมีรายได้ไม่มากเท่าใด แต่เมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในสวน ได้ช่วยให้มีรายได้จากการท่องเที่ยวเพิ่มอีกทางหนึ่ง ซึ่งตอนนี้ใน จ.ภูเก็ต กำลังตื่นตัวในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์กันอย่างมาก”