ผบช.ก.แถลงจับ 2 แก๊งโกงทำกันเป็นขบวนการ รายแรก ตำรวจ ปอศ. เปิดยุทธการ “ปราบ แก๊งโกงกู้” ค้น 10 จุดทั่วประเทศ รวบ 14 ผู้ต้องหา พร้อมของกลาง จำนวนมาก โดยเฉพาะบัญชีที่ยึดได้ ตรวจสอบมีเงินหมุนเวียน 223 ล้านบาท แฉพฤติการณ์ ทำทีเป็นนายหน้าหลอกชาวบ้านกู้เงินออนไลน์กับธนาคาร แต่ถึงเวลาได้เงิน 1 ใน 4 ของยอดกู้ ซ้ำยังตกเป็นหนี้ แบงก์อีก พบก่อเหตุหลายพื้นที่ อีกคดีกองปราบฯ ค้น 15 จุด ตะครุบ 16 ผู้ต้องหาแก๊งโกงบริษัทประกันภัย ใช้วิธีแยบยลจัดฉากสร้างแผล เบิกเงินประกัน เสียหายกว่า 20 ล้านบาท

ตำรวจสอบสวนกลางเปิดฉากลุยจับ 2 แก๊งโกง คดีแรกเมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 28 ธ.ค. ที่กอง ปราบปราม พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ภาดล จันทร์ดอน ผกก.5 บก.ปอศ. ร่วมแถลงข่าวผลการจับกุมแก๊งโกงเงินกู้ตามยุทธการ “สอบสวนกลาง ปราบแก๊งโกงกู้” หลังตรวจค้น 10 จุด ในพื้นที่ กบินทร์บุรี, ปราจีนบุรี, พัทยา, สระแก้ว, นครราชสีมา, สมุทรสงคราม และฉะเชิงเทรา จับกุมผู้ต้องหา 14 ราย ตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 27 ธ.ค.64 พร้อมของกลางที่เกี่ยวข้อง 207 รายการ รวมมูลค่ากว่า 2,383,600 บาท สำหรับผู้ต้องหามี น.ส.ณัฐกฤตา สุดสน อายุ 46 ปี น.ส.พรพรรณ ลำพา อายุ 38 ปี นายวิโรจน์ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 50 ปี น.ส.คฑามาส กิ่งเงิน อายุ 22 ปี นายศราวุธ เผ่านักรบ อายุ 28 ปี นายจักรณรงค์ พลทะรักษา อายุ 35 ปี นายยศวริศ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 23 ปี น.ส.ชุติกาญจน์ เลิศกิจลักษณ์ อายุ 24 ปี น.ส.กมลทรรศน์ คำโสดดา อายุ 31 ปี นายก้องเกียรติ ทาชมภู อายุ 24 ปี นางศศิธร พลทะรักษา อายุ 35 ปี น.ส.พวงเพ็ญ ลำพา อายุ 40 ปี น.ส.สุพัตรา สุริยา อายุ 31 ปี น.ส.ศิริลาวัลย์ พึ่งเกษม อายุ 32 ปี

...

พล.ต.ท.จิรภพกล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ระบาดต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจ การดำรงชีพของประชาชนเป็นไป ด้วยความยากลำบาก ขาดสภาพคล่องและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก รัฐบาลมีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์ออกมาตรการที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น สามารถขอสินเชื่อผ่านสมาร์ทโฟนได้ตามเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เพื่อแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ต่อมากลุ่มมิจฉาชีพเห็นช่องโอกาส ออกอุบายว่าสามารถหาแหล่งเงินทุนให้ได้ เพียงแค่บัตรประชาชนใบเดียวก็สามารถกู้ได้ กระทั่ง ส.ค.64 มีประชาชนใน จ.ปราจีนบุรี ร้องเรียนว่าถูกกลุ่ม มิจฉาชีพอ้างว่าสามารถหาเงินกู้ให้ได้ หลงเชื่อและมอบบัตรประชาชนให้ ก่อนคนร้ายพาไปสแกนใบหน้ากลางป่า อ.วังน้ำเย็น จ.สระแก้ว อ้างเป็นขั้นตอนยื่นกู้ จากนั้นกลุ่มมิจฉาชีพนำโทรศัพท์สมาร์ทโฟนมาให้พร้อมเงิน 4 หมื่นกว่าบาท อยู่ในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์อิเล็กทรอนิกส์ ต่อมาผู้เสียหายได้รับใบแจ้งหนี้จากธนาคารว่าเป็นหนี้ 160,000 บาท ตกเป็นลูกหนี้ธนาคารพาณิชย์โดยไม่รู้ตัว ได้รับเงินจริงเพียง 1 ใน 4 ของยอดเงินกู้ ขณะที่คนร้ายได้เงินไปจำนวนมาก

พ.ต.อ.ภาดลกล่าวว่า จากการสอบสวนทั้งหมดรับสารภาพ ยกเว้น น.ส.สุพัตราให้การปฏิเสธ สำหรับแนวทางการสืบสวนพบว่า คนร้ายมีการแบ่งหน้าที่กันทำ มีกลุ่มนายหน้ารับผลประโยชน์ ทำหน้าที่ชักชวนและสมัครบัญชีออนไลน์ เพื่อยื่นกู้บัญชีออนไลน์ เมื่อมีการอนุมัติเงินจะโอนเงินให้ผู้เสียหายร้อยละ 25 ส่วนขบวนการนี้จะได้เงินร้อยละ 75 เมื่อได้เงินมาแล้วจะยักย้ายถ่ายเทออกตลอดเส้นทางของขบวนการ มีบัญชีต้องสงสัยกว่า 40 บัญชี ยอดรวมเงินหมุนเวียนประมาณ 223 ล้านบาท เบื้องต้นแจ้งข้อหาร่วมกันปลอมและใช้เอกสารปลอม ร่วมกันฉ้อโกง, เอาไปซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย, ใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบ โดยประการที่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหาย และนำเข้าซึ่งข้อมูลอันเป็นเท็จสู่ระบบคอมพิวเตอร์

อีก 1 คดีโกงที่กระทำเป็นขบวนการ พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. พล.ต.ต.มนตรี เทศขัน ผบก.ป. พ.ต.อ.พงศ์ปณต ชูแก้ว ผกก.6 บก.ป. แถลงผลปฏิบัติการทลายเครือข่ายขบวนการฉ้อโกงบริษัทประกันภัยเสียหาย 20 ล้านบาท หลังตรวจค้น 15 จุดทั่วประเทศ จับผู้ต้องหา 16 รายคือ 1.น.ส.เตือนใจ เทศงามถ้วน อายุ 59 ปี 2. น.ส.เตือนจิตต์ เทศงามถ้วน อายุ 52 ปี 3.นายสุธี แขวงสุ่น อายุ 42 ปี 4.นางศิริพร แขวงสุ่น อายุ 41 ปี 5.นายมูฮัยมีน สาและ อายุ 31 ปี 6.น.ส.สุมลรัตน์ ลิขิตศรีไพบูลย์ อายุ 51 ปี 7.นางประภัสสร ลิขิตศรีไพบูลย์ อายุ 45 ปี 8.นายธรรมรงค์ อาศัยบุญ อายุ 41 ปี 9.นายกตัญญู จันทรัตน์ อายุ 38 ปี 10. น.ส.วราพร ประทุมสุวรรณ์ อายุ 33 ปี 11.นางเตชินี เพชรนิล อายุ 60 ปี 12.นายแสนดี เทพยศ อายุ 36 ปี 13.นางหนูพิน ปัดชัยโย อายุ 51 ปี 14.นายเคียง มิตสหมั้น อายุ 57 ปี 15.นางวนิดา มิตสหมั้น อายุ 56 ปี และ 16.นางศิริทิพย์ เล่งสีสัน อายุ 42 ปี ส่วนใหญ่จับได้ใน จ.สงขลา ปัตตานี และกรุงเทพฯ

พล.ต.ต.มนตรีกล่าวว่า สืบเนื่องจากมีกลุ่มบริษัทประกันภัยแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีกลุ่มผู้ต้องหาที่จัดฉากสร้างบาดแผลขึ้นมาฉ้อโกงเงินประกันจากบริษัทประกันภัย เริ่มจากชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมขบวนการ ทำข้อตกลงให้ค่าจ้างตามลักษณะบาดแผล ยกตัวอย่าง หากบาดเจ็บนอนโรงพยาบาลจะได้รับเงินคืนละ 3,000 บาท เมื่อมี ผู้สนใจผู้ต้องหาจะย้ายชื่อผู้สมัครเข้ามาในบ้านที่จัดเตรียมไว้ จากนั้นจะให้ไปเปิดบัญชีธนาคาร ทำบัตรเอทีเอ็ม แต่ยึดสมุดบัญชีและบัตรเอทีเอ็ม ไว้แล้วไปทำประกันภัยกับบริษัทต่างๆ เมื่อได้กรมธรรม์ จะนัดให้ผู้สมัครใจมาวางแผนสร้างบาดแผลลักษณะต่างๆ เช่น นำน้ำแกงเผ็ดเดือดๆราดที่ขา ทำรถล้ม เอากระดาษทรายถูให้เกิดบาดแผล ฯลฯ แล้วส่งโรงพยาบาล นำเอกสารกรมธรรม์ไปยื่นเบิกเงินกับบริษัทประกันภัยที่ทำไว้คนละหลายบริษัท จากการสืบสวนพบว่า มีผู้เอาประกันที่บาดเจ็บมีบาดแผลน้ำร้อนลวกเหมือนกัน และเบิกเงินประกันในลักษณะดังกล่าว 13 ราย นอกจากนี้ยังพบว่ามีขบวนการกลุ่ม มิจฉาชีพที่กระผิดลักษณะดังกล่าว 3 เครือข่ายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ ความเสียหายกว่า 20 ล้านบาท ในจำนวนนี้พบว่าบริษัทประกันภัยจ่ายเงินค่าชดเชยไปแล้วกว่า 14 ล้านบาท อยู่ระหว่างพิจารณาอีกกว่า 6 ล้านบาท

...

พ.ต.อ.พงศ์ปณตกล่าวเสริมว่า สำหรับผู้ต้องหาที่จับกุมได้ 16 คน ตัวการใหญ่มีอยู่ 3 คน คือ น.ส.เตือนใจ น.ส.สุมลรัตน์ และนางเตชินี รวมถึงผู้ต้องหาคนสำคัญที่ทำหน้าที่สร้างบาดแผลให้ผู้สมัครใจ เอาประกัน คือ นายสุธี และนายธรรมรงค์ จากการสอบปากคำทุกคนให้การปฏิเสธ มีเพียงนายธรรมรงค์ ที่รับว่ามีหน้าที่สร้างบาดแผล ได้ค่าจ้างครั้งละ 500-1,000 บาท แล้วแต่ความยากง่ายของบาดแผล นำตัวผู้ต้องหาทั้งหมดส่ง กก.6 บก.ป.ดำเนินคดี รายงานข่าวแจ้งว่า แนวทางการสืบสวนยังพบว่า ทั้ง 3 เครือข่ายเริ่มคิดก่อเหตุตั้งแต่ปี 59 จนถึงปัจจุบันยังพบว่ามีการกระทำผิดอยู่ นอกจากจะก่อเหตุภายในพื้นที่ภาคใต้แล้ว กลุ่มเครือข่ายเหล่านี้ยังได้ขยายมายังภาคกลางและภาคอีสาน คาดว่าน่าจะมีการกระทำผิดลักษณะนี้หลายร้อยคดี อยู่ระหว่างขยายผล