ฤดูหนาวปีนี้ “มวลอากาศเย็น” มีกำลังแรง แผ่ลงมาปกคลุม “ประเทศไทย” จนอุณหภูมิลดลงต่อเนื่อง “หลายพื้นที่แถบภาคเหนือ และภาคอีสาน” ต้องเจอสภาพอากาศหนาวเย็นยะเยือก “ชาวบ้าน” ต่างพากันหาซื้อเสื้อผ้ามือสองคลายหนาวประหยัดเงินในยุคนี้
สีสันตลาดเสื้อผ้ามือสองกลับมาคึกคักอีกครั้ง “แม่ค้าพ่อค้า” พากันนำเสื้อกันหนาวมือสองวางขายหลากสไตล์หลายยี่ห้อแบรนด์เนมดังให้เลือกตามชอบ “ราคาก็เป็นตามภาพตั้งแต่หลักสิบจนถึงหลักร้อยบาท” ส่วนคุณภาพ “ตาดีได้ตาร้ายเสีย” โชคดีจะได้ของถูกใจกลับบ้าน แต่โชคร้ายก็ได้ของฉ่ำใจไปแทน
แต่ว่า “เสื้อมือสองวางขายนี้” มักนำเข้าจากต่างประเทศแทบบอกแหล่งที่มาเลย ทำให้ต้องระวังปัญหาสุขภาพที่อาจแฝงมากับ “เชื้อรา เชื้อแบคทีเรีย หรือเชื้อไวรัส” เพื่อให้สามารถใส่กันคลายหนาวได้อย่างปลอดภัยนี้ นพ.สุสัณห์ อาศนะเสน ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล บอกว่า ในช่วงฤดูหนาวอากาศเย็นนี้ “ประชาชนบางคน” มักซื้อเสื้อกันหนาวมือสองสวมใส่กันต้องระวัง “สิ่งปนเปื้อนติดมากับเสื้อผ้ามือสอง” ด้วยประการแรกคือ “โรคเชื้อแบคทีเรีย” พบมากที่สุด “แบคทีเรียประจำถิ่น” ทนทานในสภาพสิ่งแวดล้อม 1 เดือน มักก่อโรคในคนภูมิต้านทานต่ำแข็งแรงน้อยแล้วติดมาตามเสื้อผ้ามือสอง
...
อย่างเช่น “เชื้อแบคทีเรียสแตปออเรียส” ที่เริ่มติดเชื้อจนผิวหนังอักเสบ เมื่อเชื้อตัวนี้เข้าร่างกาย “เกิดการท้องเสียอุจจาระร่วง หรือติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ” เลวร้ายสุดอาจติดเชื้อในกระแสเลือดก็ได้
ถัดมา...“ไวรัสปนเปื้อนเสื้อผ้ามือสอง” มักเป็นไวรัสไม่มีเปลือกหุ้มไขมันสามารถทนทานอยู่ในสภาพแวดล้อมได้ดีกว่าไวรัสมีเปลือกหุ้มนานเป็นเดือน เช่น ไวรัสตับอักเสบเอ ไวรัสมือเท้าปาก ไวรัสเกิดอาการท้องเสีย ไวรัสโรตา ไวรัสโนโร ที่จะไม่ถูกทำลายด้วยสารละลายไขมัน เช่น แอลกอฮอล์ สบู่ สารฆ่าเชื้ออื่นได้ง่ายๆ
กลไกเกิดโรคนี้มัก “เข้าสู่ร่างกาย” จากการสะบัดเสื้อผ้าเชื้อโรคปนเปื้อนฟุ้งกระจายแล้วมือสัมผัสกับสิ่งของมีเชื้ออยู่นำนิ้วเข้าปาก อีกประเภท “ไวรัสมีเปลือกหุ้มไขมัน” ในกลุ่มอาการก่อโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น ไวรัสไข้หวัดใหญ่ ไวรัสโควิด-19 สามารถทนทานอยู่สภาพแวดล้อมได้ไม่เกิน 1 สัปดาห์เท่านั้น
แล้วทำลายล้างไวรัสได้ด้วยสบู่ แอลกอฮอล์ สารฆ่าเชื้ออื่นๆ เช่น สารประกอบคลอรีน และการซักผ้าด้วยผงซักฟอกได้ ทำให้การรับเชื้อติดมาจากเสื้อผ้ามือสองมีโอกาสเป็นไปได้น้อยด้วยซ้ำ
ต่อมาคือ “โรคเชื้อรา” เรื่องนี้มีรายงานออกมาน้อย ตามปกติเชื้อราก็มักอยู่ในสิ่งแวดล้อมทั่วไปเพียงแต่ว่า “เชื้อราก่อโรคกลาก โรคเกลื้อน ปนเปื้อนเสื้อผ้ามือสอง” เกิดจากผู้ใช้เสื้อก่อนหน้านี้มีการติดเชื้อราทางผิวหนังแล้วถ่ายลงมาสู่ “เสื้อผ้ามือสอง” ทำให้คนซื้อก็มีโอกาสได้รับเชื้อก่อโรคต่อตามมานี้ก็ได้
ทั้งยังมี “โรคหิด” พบตามรักแร้ ขาหนีบ ติดต่อสู่ผู้อื่นได้ และทนทานต่อสิ่งแวดล้อมไม่เกิน 3 วัน ดังนั้น นำเสื้อเก็บไว้ในถุงพลาสติกปิดมิดชิดทิ้งไว้อย่างน้อย 5-7 วัน ก็ทำให้เชื้อโรคหิดที่ติดมาตายได้แล้ว
ทว่าส่วน “การลดการปนเปื้อนเชื้อไวรัส เชื้อรา แบคทีเรียในเสื้อมือสอง” สามารถทำได้ 3 วิธีหลัก คือ วิธีแรก...“ทางกายภาพ” เป็นการซักล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอก หรือน้ำยาซักผ้าตามปกติ แต่อาจขยายเวลาการซักนานขึ้นจากเดิม 20 นาที ก็เพิ่มเป็น 40 นาที จะช่วยลดการปนเปื้อนเชื้อโรคได้ดีขึ้น
วิธีที่สอง...“ใช้สารเคมี” แช่ในน้ำยาฟอกขาว คลอรีน หรือใช้น้ำยาปฏิชีวนะ เช่น ซิลเวอร์นาโนน้ำยาฆ่าเชื้ออเนกประสงค์กำจัดแบคทีเรีย ไวรัสและเชื้อโรค ด้วยการเติมผสมผงซักฟอกนั้น วิธีที่สาม...“ใช้ความร้อน” ที่ต้องอุณหภูมิอย่างน้อย 60 องศาฯขึ้นไปเป็นอย่างน้อย 20 นาที
...
กรณี “เครื่องซักผ้าทำความร้อนอบแห้ง” มักตั้งอุณหภูมิไม่เกิน 40 องศาฯ อาจต้องซักผ้า 1 ชม. น่าจะเป็นการดี ถ้าไม่มีเครื่องซักผ้าทำความร้อนก็ควรใช้วิธีการซักแบบต้มน้ำร้อนจะช่วยฆ่าเชื้อโรคเช่นกัน
ตามงานวิจัยการต้มด้วยความร้อน 70 องศาฯ 25 นาที สามารถลดเชื้อปนเปื้อนเสื้อผ้ามือสองได้ 99.99% ใช้สารเคมีลดเชื้อ 99.90% ความร้อนเตารีดลด 90% ซักล้างทำความสะอาดด้วยผงซักฟอกลด 90%
ตัวเลขนี้ดูผิวเผินจะไม่ห่างกันมากแต่ในทางวิทยาศาสตร์ต่างกัน 10 เท่า เช่น เสื้อผ้ามือสองมีไวรัส 1 ล้านตัว ใช้ความร้อนเตารีดลด 90% เหลือไวรัสไม่ตาย 1 แสนตัว ถ้าใช้ต้มความร้อนลด 99.99% เหลือไวรัส 10 ตัว สิ่งนี้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำความสะอาดด้วยความร้อนดีที่สุด
เช่นเดียวกับ “โรงพยาบาลทำความสะอาดเชื้อปนเปื้อนเสื้อผ้าทางการแพทย์” ที่มีกระบวนการสับสนอันเป็น “การลดอัตราโอกาสเสี่ยงอันตรายนำไปสู่ผู้ป่วย” โดยหลักก็ใช้ความร้อน 60-90 องศาฯ เพราะมีประสิทธิภาพสามารถทำลายฆ่าเชื้อโรคได้ดีกว่าวิธีอื่น
อย่างกรณีโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาใช้ความร้อนทำความสะอาดเสื้อผ้า 70 องศาฯ 25 นาที โรงพยาบาลอังกฤษใช้ความร้อน 60 องศาฯ 10 นาที โรงพยาบาลเยอรมนี 90 องศาฯ 10 นาที และโรงพยาบาลประเทศไทย 70 องศาฯ 25 นาที เพราะมีการวิจัยศึกษาแล้วสามารถทำลายเชื้อโรคครอบคลุมทุกชนิด
...
แต่ด้วย “เสื้อผ้าทางการแพทย์” มีเชื้อโรคปนเปื้อนสูง เมื่อผ่านขั้นตอนใช้ความร้อนต้องมา “ใช้สารเคมีความเข้มข้นสูง” เข้าช่วยลดทำลายเชื้อโรคซ้ำให้มีความปลอดภัยร้อยเปอร์เซ็นต์อีกด้วย
ดังนั้น “การทำความสะอาดเสื้อกันหนาวมือสองก่อนสวมใส่” แม้มีหลากหลายวิถีแตกต่างกันไป แต่สิ่งฆ่าเชื้อโรคได้ประสิทธิภาพสูงคือ “การต้ม” ที่ความร้อนจะช่วยทำลายเชื้อโรคได้ดีกว่าทุกวิธี แต่ก็ต้องคำนึงถึงประเภทเสื้อกันหนาวมือสองด้วย “เสื้อผ้าบางชนิด” อาจไม่เหมาะต้มอาจทำให้เกิดความเสียหายก็ได้
ประเด็นต่อมาเมื่อมี “เสื้อผ้ากันหนาวมือสองใช้ได้อย่างปลอดภัยแล้ว” ก็ยังมีเรื่องน่าห่วงในช่วงอากาศหนาวของทุกปีคือ “การระบาดของเชื้อไวรัส” เพราะสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมหนาวเย็นได้ดีแล้วอุณหภูมิที่เย็นลงนี้ “เชื้อไวรัสอยู่รอดได้นาน” สามารถแพร่กระจายการติดต่อเชื้อโรคง่ายอีกด้วย
ทว่า...“เชื้อไวรัส” แพร่กระจายอย่างมากในฤดูหนาวมีมากมาย เช่น “ไข้หวัดใหญ่” จากเชื้อไวรัสทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันที่พบมากรองจากไข้หวัดถัดมา “ไวรัสโควิด–19” ระบาดได้ดีในสภาพหนาวเย็น สามารถป้องกันด้วยการสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง ล้างมือบ่อยๆ สบู่ เจล สเปรย์แอลกอฮอล์
...
ซ้ำร้าย “วิธีป้องกันด้วยสบู่ สเปรย์แอลกอฮอล์” ไม่สามารถใช้ได้ผลกับ “เชื้อไวรัสโรคระบบทางเดินอาหาร” ที่ไวรัสไม่มีเปลือกหุ้มไขมันมักพบระบาดมากในฤดูหนาวเช่นกัน อย่างกรณีโรคอุจจาระร่วง ไวรัสโรตา ไวรัสโนโร ที่สามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนอาจเป็นอันตรายในเด็กเล็ก และผู้สูงอายุได้เสมอ
อย่างกรณี “เรือสำราญแห่งหนึ่ง” ใช้ความเย็นถนอมอาหารป้องกันการก่อตัวขยายตัวเชื้อแบคทีเรีย แต่วิธีนี้ใช้กับ “เชื้อไวรัสในอาหาร และน้ำดื่มไม่ได้” เพราะยิ่งอุณหภูมิเย็นมากเท่าไรเชื้อไวรัสก็สามารถอยู่ได้นานเท่านั้น จนทำให้มีคนป่วยที่มีอาการอาเจียน ท้องเสียเกิดขึ้นจำนวนมากตามมา ในคราวนั้น
สุดท้าย “การดูแลสุขภาพฤดูหนาว” คงหนีไม่พ้นต้องเฝ้าระวัง “เชื้อโควิด-19” เท่าที่ติดตามสถานการณ์การระบาดไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนในต่างประเทศแล้ว ดูท่า “ประเทศไทย” น่าจะยับยั้งอยู่ได้ไม่นาน สุดท้ายต้องเข้ามาระบาดในบ้านเราไม่ช้าก็เร็วแน่ๆ แต่ปัจจุบันผู้คนโซเชียลดิสแทนซิงมานานจนอ่อนล้ากันด้วยซ้ำ
ผลตามมาคือ “ประชาชน” อาจจะให้ความร่วมมือน้อยลงแล้วตอนนี้ “วัคซีนที่มีอยู่” ก็มิใช่ตัวแปรอันเป็นที่พึ่งสำคัญอีกต่อไป ฉะนั้นคงต้องรณรงค์กันใหม่ “ในการป้องกันตัวเอง ล้างมือ สวมหน้ากาก เว้นระยะห่าง” แต่มองว่า “รัฐบาล” กำลังกังวล ไม่กล้าทำที่อาจส่งผลให้สังคมแตกตื่นกระทบต่อการท่องเที่ยวปลายปีนี้
เช่นนี้ “ประชาชน” คงต้องระวังตัวเองขั้นสูงสุดเพราะ “วัคซีนฉีดก่อนหน้านี้” อาจช่วยป้องกันไม่ดีพอกับ “ไวรัสโอมิครอน” โดยเฉพาะการติดเชื้อในครอบครัวที่กำลังกลายเป็นปัญหาหลักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
หนาวนี้คนไทยควรดูแลสุขภาพ ทำให้ร่างกายอบอุ่นเสมอ “อย่าละเลยคาถาป้องกันโควิด-19” ทำได้ง่ายๆสวมหน้ากาก หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างเป็นเกราะคุ้มภัยตัวเอง ครอบครัวปลอดภัย.