กระท่อม พืชสมุนไพรท้องถิ่นภาคใต้ของไทย ที่มีคุณค่าในเชิงวัฒนธรรมเพราะเกี่ยวข้องกับทั้งวิถีการทำงาน การสังสรรค์ ประเพณีพื้นบ้านพิธีศักดิ์สิทธิ์ และใช้เป็นยารักษาอาการโรคต่างๆ เช่น ไอเรื้อรัง ท้องเสีย ปวดท้อง รักษาโรคบิด ท้องร่วงอย่างรุนแรง ปวดเมื่อย คนใต้ที่ใช้กระท่อมมักใช้โดยการเคี้ยวใบสด (เอาก้านใบออก คายกาก) เคี้ยวครั้งละ 1-3 ใบ บางคนใช้วันละครั้ง หรือทุกๆ 2-3 ชั่วโมงต่อคำ หรือเคี้ยวตลอดวัน หรือใช้ร่วมกับเครื่องดื่มต่างๆ เพื่อให้ทำงานได้ทนนาน เพิ่มกำลังในการทำงานกลางแดด และเพื่อสังสรรค์

สารสำคัญที่มีในใบกระท่อมมีฤทธิ์ระงับปวดออกฤทธิ์คล้ายมอร์ฟีนแต่ระงับปวดได้ดีกว่า อีกทั้งช่วยคลายกล้ามเนื้อ และลดการเคลื่อนที่ของอาหารในลำไส้เล็ก จึงใช้ช่วยลดอาการท้องเสียเฉียบพลันได้ แต่การใช้ใบกระท่อมมีข้อเสียคือ ทำให้ท้องผูก เมากระท่อมจะมีอาการแขนขาอ่อนแรง หน้าแดงชาและตึง หูร้อน หูอื้อและชา ง่วงซึม ลิ้นชา ตาลาย พร่ามัว มึนหัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ พะอืดพะอม ถ้าใช้ปริมาณมากๆ จะเบื่ออาหารทำให้ผอม กลัวฝน ปวดหัวและติดกระท่อม ฉะนั้นหากต้องการประโยชน์จากใบกระท่อมต้องรู้วิธี ปริมาณ ความถี่ ระยะเวลาการใช้ที่เหมาะสมและปลอดภัย

...

อีกเรื่องที่มันมากับอาหารอยากเตือนท่านที่เคี้ยวใบกระท่อมสดหรือดื่มน้ำกระท่อมเป็นประจำว่า ให้ระวังอันตรายจากยาฆ่าแมลงที่อาจตกค้างอยู่ในใบกระท่อมด้วย เพราะจากการสุ่มตัวอย่างใบกระท่อมสด (ปลูกใน จ.ชุมพร ปทุมธานี) ของสถาบันอาหาร จำนวน 5 ตัวอย่าง ที่วางขายในเขตกรุงเทพฯ เพื่อนำมาวิเคราะห์ยาฆ่าแมลงตกค้าง 4 กลุ่ม คือ ออร์กาโนคลอรีน ออร์กาโนฟอสเฟต ไพรีทรอยด์ และคาร์บาเมต รวม 58 ชนิด ผลปรากฏว่าพบยาฆ่าแมลงตกค้างถึง 4 ตัวอย่าง แม้ปริมาณที่พบจะน้อยมาก ก็ไม่ควรประมาท ก่อนนำมาใช้ ควรนำใบกระท่อมสดมาแช่น้ำ ล้างด้วยน้ำสะอาดไหลผ่านและใช้มือถูเบาๆ 2 นาที เพื่อความปลอดภัย.

ไทยรัฐ+สถาบันอาหารโครงการอาหารปลอดภัย