ยังปลื้มใจไม่หายจากข่าว “ข้าวหอมมะลิ 105” ของประเทศไทย คว้ารางวัลข้าวอร่อยที่สุดและดีที่สุดของโลก ได้รางวัล “world’s Best Rice Award” มาครอบครองอีกสมัยหนึ่ง... นับเป็นสมัยที่ 7 หรือปีที่ 7 จากการจัดประกวดมาแล้ว 13 ปี โดยสถาบันการค้าข้าวโลก หรือ Rice Trader ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่สหรัฐอเมริกา

ตามข่าวบอกว่าปีนี้ ซึ่งเป็นปีที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหาโควิด-19 ระบาด...ทำให้มีประเทศที่มีชื่อเสียงด้านการปลูกข้าวส่งข้าวไปประกวดเพียง 6 ประเทศเท่านั้น ได้แก่ สหรัฐฯ, จีน, อินเดีย, เวียดนาม, เมียนมา และไทย

ขาดประเทศสำคัญที่เคยได้แชมป์โลกมาแล้ว 3 ครั้ง (แชมป์เดี่ยว 2 แชมป์ร่วม 1) อย่าง กัมพูชา เจ้าของพันธุ์ข้าวหอม “มาลีอังกอร์” ไป 1 ประเทศ...

ที่ต้องเอ่ยถึงข้าวหอมของกัมพูชาไว้ด้วยก็เพื่อเตือนใจให้กรมการข้าวกระทรวงเกษตรฯของเราตลอดจนกระทรวงพาณิชย์ผู้จำหน่ายได้ตระหนักไว้ เพื่อความไม่ “ประมาท” จะได้หาทางพัฒนาคุณภาพของข้าวหอมมะลิไทยเราให้ “หอมหวาน” อยู่ตลอดกาล จนสามารถเอาชนะใจกรรมการในการประกวดได้ครั้งแล้วครั้งเล่าตลอดไป

เมื่อได้แสดงความปลื้มใจพร้อมเตือนสติส่วนราชการของเราที่เกี่ยวข้องแล้ว...ทีมงานซอกแซกก็ขอกลับมาทำหน้าที่เปิดตำนานถึงประวัติและความเป็นมาของ “ข้าวหอมมะลิไทย” แชมป์โลก 7 สมัย ตามที่ได้พาดหัวคอลัมน์วันนี้เอาไว้

ในบันทึกของ ดร.สละ ทศานนท์ อดีตอธิบดีกรมการข้าว และนำมาตีพิมพ์ในหนังสือ “80 ปีของ ชีวิตสละ ทศานนท์ 1 มิถุนายน 2539” ระบุข้อความไว้ตอนหนึ่งว่า ท่านได้รู้จัก ข้าวหอมดอกมะลิ เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ พ.ศ.2493-2494

โดย นาย สุนทร สีหะเนิน พนักงานข้าวอำเภอบางคล้า ได้นำมาให้ท่านรับประทานครึ่งกระสอบ พร้อมกับเล่าให้ท่านฟังว่า ข้าวสายพันธุ์นี้เป็นข้าวคุณภาพดี ที่ชาวนา อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา นิยมปลูกแล้วแยกเก็บใส่ฉางไว้ต่างหาก เพื่อที่จะสีส่งไปขายที่สำเพ็ง ในราคาพิเศษสูงกว่าข้าวสารทั่วไปเกือบเท่าตัว

...

ด้วยความติดอกติดใจในรสชาติของข้าวที่พนักงานนำมามอบให้ท่าน จึงสั่งการให้ดำเนินการ คัดแยกพันธุ์ข้าวหอมมะลิบางคล้าส่งไปที่สถานีทดลองข้าว โคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เพื่อพัฒนาพันธุ์ และส่งไปทดลองตามภาคอื่นๆต่อไป

พบว่าสายพันธุ์ 105 ให้ผลดีมากในภาคอีสาน และสายพันธุ์ 103 ให้ผลดีทางภาคเหนือ แต่เนื่องจากข้าวเจ้าไม่เป็นที่นิยมของภาคเหนือ จึงปลูกน้อย ส่วนในภาคอีสานมีการปลูกกันมากในบริเวณทุ่งกุลาร้องไห้

ดร.สละเล่าด้วยว่า ได้นำรายละเอียด โดยเฉพาะการทดลองทางภาคอีสานมาจัดทำเป็นรายงานเสนอต่อการประชุม PACIFIC SCIENCE CONGRESS ที่โฮโนลูลู รัฐฮาวาย สหรัฐอเมริกา เมื่อ 10 สิงหาคม 2504

ส่วนอีกตำนานหนึ่งระบุว่า เมื่อ พ.ศ.2497 นาย ทรัพธนา เหมพิจิตร ผู้จัดการบริษัทการส่งข้าวจังหวัดฉะเชิงเทรา รวบรวมพันธุ์ข้าวหอมใน

เขตอำเภอบางคล้า ได้จำนวน 199 รวง เสนอต่อ ดร.ครุย บุณยสิงห์ (ผู้อำนวยการกองบำรุงพันธุ์ข้าวในขณะนั้น) ซึ่งก็สั่งการให้ปลูกทดลองที่สถานีข้าวโคกสำโรง (ลพบุรี) โดยมีนักวิชาการเกษตร ชื่อ นาย มังกร จุมทอง ภายใต้การดูแลของนายโอภาส พลศิลป์ หัวหน้าสถานีในขณะนั้น

ต่อมาในปี 2502 ก็ได้พันธุ์บริสุทธิ์ ข้าวหอมดอกมะลิ 4-2-105 และได้รับการอนุมัติให้เป็นพันธุ์ส่งเสริมแก่เกษตรกร เมื่อวันที่ 5 พ.ย.2502 โดยเกษตรกรจะเรียกกันว่า ข้าวดอกมะลิ 105 ซึ่งมีการปลูกอย่างกว้างขวางในเขตพื้นที่ “ทุ่งกุลาร้องไห้” ของภาคอีสาน

จะเห็นได้ว่าทั้ง 2 ตำนานข้างต้นมีข้อสอดคล้องกันอยู่ 3-4 ประเด็น ได้แก่ 1.พันธุ์ข้าวหอมมะลิ 105 เป็นพันธุ์ข้าวของ อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา และ 2.ถูกส่งไปทดลองและพัฒนาที่สถานีโคกสำโรง ลพบุรี และ 3.เผยแพร่สู่อีสานโดยเฉพาะในเขตทุ่งกุลาร้องไห้

สำหรับการเผยแพร่เข้าสู่ ทุ่งกุลาร้องไห้ ซึ่งอยู่ในเขตรอยต่อของ 5 จังหวัด อันได้แก่ สุรินทร์, ศรีสะเกษ, ยโสธร, ร้อยเอ็ด และ มหาสารคาม นั้น ตามประวัติพบว่าเป็นความริเริ่มของ กรมการข้าว ในยุคนั้นเช่นกัน

สาเหตุสำคัญก็คือ ณ บริเวณซึ่งมีพื้นที่กว่า 2 ล้านไร่ ในเขต 5 จังหวัดดังกล่าวนี้ แห้งแล้งเหลือเกิน ปลูกอะไรก็ไม่สำเร็จ หากสามารถพัฒนาให้ปลูกข้าวหอมมะลิได้ อาจจะเป็นหนทางหนึ่งในการส่งเสริมอาชีพแก่ราษฎรแถบนี้

ปรากฏว่าการทดลองและการส่งเสริมได้ผลอย่างดียิ่ง ชาวนาในเขตกุลาร้องไห้หันมาปลูกข้าวหอมมะลิอย่างกว้างขวางจนทุกวันนี้เข้าไปในซุปเปอร์มาร์เกตแห่งใดก็ตาม เพื่อซื้อหาข้าวหอมมะลิ เราจะพบว่ายี่ห้อดังๆที่ขายดีติดอันดับต้นๆล้วน เป็นข้าวหอมมะลิจากจังหวัดต่างๆใน “ทุ่งกุลาร้องไห้” หรือไม่ก็จังหวัดในภาคอีสานทั้งสิ้น

ขอขอบคุณทุกๆรายชื่อ “ในตำนาน” ไว้ ณ ที่นี้อีกครั้ง...แม้แต่ท่านอดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย พิศาล มูลศาสตรสาทร หรือ “ปลัดฮิ” คนสุรินทร์ ถิ่นกุลาร้องไห้ โดยกำเนิด ซึ่งก็มีชื่ออยู่ในตำนานเช่นกัน ว่าท่านมีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมการปลูกข้าวหอมมะลิในภาคอีสาน ในช่วงที่ท่านเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย (2524-2532)

มีการเขียนเชิงหยอกล้อในสื่อมวลชนว่า เหตุที่ท่านปลัดพิศาลส่งเสริมข้าวหอมมะลิอย่างเอาจริงเอาจัง เพราะศรีภรรยาของท่านชื่อ “มะลิ” นั่นเอง (คุณหญิงมะลิ มูลศาสตรสาทร) ตำนานนี้จะจริงไม่จริงอย่างไรก็ต้องขอขอบคุณท่านปลัดฮิไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

หมายเหตุ ภาพประกอบสัปดาห์นี้เป็นข้าวหอมมะลิส่งขายต่างประเทศ (มีภาษาจีนด้วย) ของ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของรัฐ นำลงให้ฟรีๆไม่คิดค่าโฆษณาใดๆครับ.

“ซูม”