กรอบ “แผนพลังงานชาติ” มุ่งลดคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ ขับเคลื่อนนโยบายพลังงาน เพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ
สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา ได้ดำเนินการจัดรับฟังความคิดเห็นกรอบแผนพลังงานชาติ (National Energy Plan 2022) โดยมีผู้เข้าร่วมแสดงความคิดเห็นกว่า 300 คน จากกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ อาทิ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สถาบันพลังงานเพื่ออุตสาหกรรม สมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) สมาคมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย (TAIA) กลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่น / กลุ่มผู้ค้ามาตรา 7 กลุ่มสถาบันปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ผู้แทนด้าน Renewable Energy ผู้แทนจากสมาคมบริษัทจัดการพลังงานไทย ผู้แทนจากสมาคมค้าเอทานอลไทย ผู้แทนจากสมาคมผู้ผลิตไบโอดีเซลไทย ผู้แทนจากภาคประชาสังคม สถาบันการศึกษา สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สถาบันการเงิน คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการการพลังงาน วุฒิสภา และคณะกรรมาธิการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เป็นต้น
โดยผู้เข้าร่วมดังกล่าว ได้ให้ข้อเสนอแนะความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่างๆ เช่น การนำหลักการโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ มาใช้เป็นเกณฑ์พิจารณาความมั่นคงในการวางแผนจัดหาไฟฟ้า การเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงานมาเป็นพลังงานไฟฟ้า การเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าใหม่ ลดสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบไฟฟ้ายุคใหม่ (Grid Modernization) บริหารจัดการระบบไฟฟ้าด้วยเทคโนโลยี Smart Grid การผลิตพลังงานและโครงสร้างพื้นฐาน แบบกระจายศูนย์ รวมถึงเรื่องกฎระเบียบและกฎหมายด้านไฟฟ้าที่ควรปรับปรุง
ซึ่งกรอบแผนพลังงานชาตินั้น จะเป็นแผนที่กำหนดทิศทางของกรอบเป้าหมายนโยบายพลังงานให้มีทิศทางการดำเนินงานที่ชัดเจน ดังนั้น กรอบแผนนี้จะเป็นการบูรณาการว่าทิศทางในการพัฒนาพลังงานของประเทศในอีก 5 ปี 10 ปี และ 20 ปีข้างหน้านั้น จะไปสู่เป้าหมายได้อย่างไร เช่น การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน หรือ Energy Transition ซึ่งเป็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากการใช้ฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว และการมีนวัตกรรมใหม่ต่าง ๆ มารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ ที่ทั่วโลกมีการเปลี่ยนการก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว รวมทั้ง การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทั่วโลกได้มีการเตรียมการที่จะรองรับประเด็นนี้ไว้ตั้งแต่การประชุม COP21 หรือข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) เมื่อปี 2015
สนพ. จึงได้มีการกำหนดกรอบแผนพลังงานนี้ โดยมีการตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี (พ.ศ. 2565 - 2569) จะมีความคืบหน้าด้านพลังงานของประเทศในหลาย ๆ ด้าน เช่น การสนับสนุนใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่มีการประกาศนโยบาย 30@30 การสนับสนุน ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) สำหรับการสำรองไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเชื่อมโยงไปถึงพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียน ที่จะเข้ามาในระบบปัจจุบัน การพัฒนาระบบสายส่งให้เป็นลักษณะการสื่อสารสองทาง
ทั้งนี้ แผนพลังงานชาติ ไม่ได้เป็นแผนของใครหรือกลุ่มบุคคลใดโดยเฉพาะ ดังนั้น ประชาชนจากทุกภาคส่วนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงความคิดเห็นต่อกรอบแผนพลังงานชาติ ได้ที่ www.eppo.go.th ซึ่งการเปิดรับฟังความเห็นกรอบแผนพลังงานชาตินี้ จะเป็นกรอบและทิศทางของแผนฯ ที่จะมุ่งสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น และเพื่อแสดงถึงจุดยืนและการเตรียมการในการปรับเปลี่ยนให้รองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจแบบคาร์บอนต่ำ (Neutral-carbon economy) การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยและโอกาสในการดึงดูดการลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศที่มีนโยบายมุ่งเน้นการใช้พลังงานสะอาด โดยประชาชนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นเริ่มต้นจัดทำแผนฯ เพื่อร่วมกันกำหนดทิศทางให้นโยบายด้านพลังงานของประเทศไทยต่อไปในอนาคต