เมื่อวันที่ 15 ธันวาคมที่ผ่านมา 3 ศิลปิน ดาราดัง เป๊ก ผลิตโชค อายนบุตร มิน พีชญา วัฒนามนตรี และ แบมแบม กันต์พิมุกต์ ภูวกุล ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเฟรนด์ส ออฟ ยูนิเซฟ คนล่าสุด เพื่อช่วยส่งเสริมสิทธิเด็กและระดมความช่วยเหลือของสาธารณชนเพื่อช่วยเด็กๆ ในภาวะที่โลกกำลังเผชิญกับวิกฤตหลากหลายรูปแบบ เพื่อให้พวกเขาได้รับโอกาส และมีความฝันเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น
นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2552 เฟรนด์ส ออฟ ยูนิเซฟ ได้ช่วยสร้างการรับรู้ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิเด็ก อีกทั้งยังช่วยระดมความช่วยเหลือจากสังคมในการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก เป๊ก-มิน-แบมแบม จะช่วยยูนิเซฟในการรณรงค์ประเด็นต่าง ๆ อาทิ ความเหลื่อมล้ำ การพัฒนาเด็กปฐมวัย การศึกษาที่มีคุณภาพ การปกป้องคุ้มครองเด็ก ตลอดจนเรื่องสุขภาพใจของเด็ก การมีส่วนร่วมของพวกเขา สภาวะโลกร้อน และอื่น ๆ
ทั้งนี้ ภารกิจของเฟรนด์ส ออฟ ยูนิเซฟ จะท้าทายยิ่งขึ้นไปอีก เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นวิกฤตที่หนักหนาสาหัสที่สุดในประวัติศาสตร์ 75 ปีของยูนิเซฟ ส่งผลกระทบต่อการศึกษาและระบบบริการด้านสุขภาพในประเทศไทย ความเหลื่อมล้ำสูงขึ้นและส่งผลให้เด็กหลายล้านคนต้องเสี่ยงต่อการถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ภายในระยะเวลาเพียงสองปี เด็กๆ อีกนับร้อยล้านคนทั่วโลกต้องตกอยู่ในสภาวะยากจน และยูนิเซฟได้ประเมินว่าต้องใช้เวลา 7-8 ปีในการฟื้นฟู จึงจะกลับมาสู่ระดับของความยากจนก่อนยุคโควิด-19 และในประเทศไทยเอง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาพบว่าเด็กนักเรียนมากกว่า 6,500 คน ต้องออกจากโรงเรียนในปีการศึกษา 2564
คยองซัน คิม ผู้อำนวยการ องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย กล่าวว่า “สำหรับปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ปัจจุบันต้องอาศัยการร่วมแรงร่วมใจของทุกคนเพื่อรับมือกับความท้าทายอันใหญ่หลวงนี้ เพื่อจะปกป้องกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดในสังคม และสร้างอนาคตที่สดใสให้กับเด็กๆ ทุกคน ยูนิเซฟต้องการพันธมิตรอย่างคุณเป๊ก คุณมิน และคุณแบมแบม ที่มีความตั้งใจเหมือนกับเรา เพราะเราไม่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพัง เรามั่นใจว่าทุกท่านจะช่วยให้สังคมเห็นความสำคัญของการลงทุนในเด็ก เรามั่นใจว่าความตั้งใจจริงและความสามารถของทุกท่าน จะช่วยยูนิเซฟสร้างความรับรู้ด้านเด็กและเข้าถึงหัวใจของคนทั่วประเทศ”
แม้ว่าจะเพิ่งได้รับการแต่งตั้งให้เป็น เฟรนด์ส ออฟ ยูนิเซฟคนใหม่ แต่เป๊ก-ผลิตโชค อายนบุตร, มิน-พีชญา วัฒนามนตรี และแบมแบม-กันต์พิมุกต์ ภูวกุล เคยร่วมงานกับยูนิเซฟ ประเทศไทยในโครงการและภารกิจต่างๆ เพื่อปกป้องสิทธิเด็กกับยูนิเซฟมาแล้วตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เป๊กยังจำภาพความเป็นอยู่ที่ยากลำบากของเด็ก ๆ ในวันที่เขาลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ และประเทศเคนยาได้ขึ้นใจ
เป๊กเล่าว่า “ยังมีเด็กอีกมากมายที่ต้องใช้ชีวิตอยู่กับความยากจน และมีโอกาสในชีวิตน้อยเหลือเกิน บ้านที่ผมเคยไปเยี่ยม เด็กๆ ไม่มีหนังสือ หรือบางคนไม่มีแม้แต่ดินสอ เลยทำให้ผมอยากร่วมงานกับยูนิเซฟต่อไป เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและช่วยเหลือเด็กๆ เหล่านี้ได้มีอนาคตที่ดีขึ้นกว่าเดิม ผมรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ร่วมงานกับยูนิเซฟ และหวังว่าผมจะสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับชีวิตเด็ก ๆ ได้”
มิน-พีชญา วัฒนามนตรี กล่าวว่า “เด็ก ๆ ทุกคนต้องได้รับโอกาสในชีวิต มินเชื่อว่านี่เป็นหน้าที่ของทุกคนที่จะสร้างหลักประกันว่า เด็กทุกคนต้องได้รับโอกาสในชีวิตอย่างเท่าเทียม และพวกเขาต้องได้รับการสนับสนุนให้พัฒนาตนเองอย่างเต็มศักยภาพ”
ด้านแบมแบมได้พูดถึงความสำคัญต่อการรับฟังเสียงของเด็กๆ นั้นเพื่อเป็นการสร้างความมั่นใจและส่งเสริมให้พวกเขาทำตามความฝันของตน “เด็กทุกคนมีความเฉพาะตัวและเต็มไปด้วยศักยภาพ แต่ละคนล้วนแข็งแกร่ง ผู้ใหญ่ควรฟังและสนับสนุนพวกเขาเพื่อให้พวกเขาได้ค้นพบความแข็งแกร่ง เติมเต็มความฝัน และโตมาเป็นผู้ใหญ่ในแบบที่พวกเขาอยากเป็น”
ยูนิเซฟก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2489 เพื่อช่วยเหลือเด็กทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากนั้นเพียง 2 ปี ยูนิเซฟก็เริ่มดำเนินการในประเทศไทย โดยเน้นไปที่การส่งเสริมสุขภาพเด็ก การสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน ขจัดโรคร้าย ปัจจุบัน ประเทศไทยพัฒนาไปมากและเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง งานของยูนิเซฟจึงเน้นไปที่การจัดทำข้อมูลด้านเด็กเพื่อประกอบการวางนโยบาย และการสนับสนุนกฎหมาย นโยบาย และเสริมสร้างระบบโครงสร้างด้านเด็กให้เข้มแข็ง กฎหมายและนโยบายสำคัญที่ยูนิเซฟมีส่วนร่วมผลักดันที่ผ่านมา ก็เช่น กฎหมายเรื่องเกลือเสริมไอโอดีน และ พ.ร.บ.นมแม่ ที่ควบคุมการตลาดของนมผง ตลอดจนผลักดันเรื่องนโยบายที่ให้เงินอุดหนุนรายเดือนแก่เด็กเล็กในครอบครัวยากจนเดือนละ 600 บาทจนสำเร็จ
“การแต่งตั้ง Friends of UNICEF คนใหม่คราวนี้คือการฉลองการครบ 75 ปีของยูนิเซฟที่ดียิ่ง เพราะนี่คือการเดินทางที่ท้าทายแต่มีความหมายร่วมกันในอนาคต” นางคิมกล่าวทิ้งท้าย