จุดอ่อนสำคัญของการจัดการ “สิ่งแวดล้อม” ของ “ประเทศไทย” ที่ผ่านมา ข้อแรก...เรามีกฎหมายสิ่งแวดล้อมทั้งด้านมลพิษและทรัพยากรธรรมชาติหลายฉบับกระจายใน 13 กระทรวงแยกส่วนกันและไม่เคยนำมาบูรณาการร่วมกัน...ต่างคนต่างใช้ ต่างคนต่างทำ เปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนเป้าหมาย
ถัดมา...การบังคับใช้กฎหมายที่ยังหย่อนยานและขาดประสิทธิภาพจนทำให้ขาดความเชื่อถือจากประชาชน...ผู้ยากไร้ผิดเสมอ
ข้อที่สาม...ระบบการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่ยังอ่อนแอ ถ้าประชาชนไม่ร้องเรียนให้เป็นประเด็นสาธารณะเนื่องมาจาก เดือดร้อนจากการพัฒนาโครงการของรัฐหรือเอกชนแล้ว ส่วนใหญ่หน่วยงานรัฐก็จะไม่รู้หรือรู้ก็ไม่ค่อยใส่ใจ ข้อที่สี่...การสร้างจิตสำนึกแก่ประชาชนมักจะไม่ต่อเนื่อง ส่วนใหญ่นิยมจัดเป็นครั้งคราวหรือจัดอีเวนต์แล้วก็เลิกรากันไป...ถึงเวลาค่อยว่ากันใหม่
ข้อที่ห้า...การให้แรงจูงใจ หรือการยกย่องผู้ประกอบการที่ทำเพื่อสังคมและชุมชนยังมีน้อยเกินไป อย่างมากก็แค่ให้รางวัลยกย่อง แต่การที่จะส่งเสริมแบบมีผลกระทบสูงยังไม่ค่อยมี เช่น การนำไปใช้เพื่อการลดหย่อนภาษีหรือให้สิทธิพิเศษด้านภาษีเพื่อเป็นแรงจูงใจ
...
“ทุกวันนี้...จึงเกิดการทำโชว์ภาครัฐมากกว่าการทำให้เกิดความยั่งยืน”
ข้อที่หก...ขาดกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงในกระบวนการอนุมัติอนุญาตหลายโครงการจัดทำเป็นพิธีกรรมให้ครบองค์ประกอบว่ามีการทำตามกฎหมายแล้ว เพื่อให้โครงการสามารถผ่านการอนุญาตจากส่วนกลางได้ จึงเป็นสาเหตุให้เกิดความขัดแย้งของชุมชนในพื้นที่
คำถามสำคัญมีว่า... “ประเทศพัฒนาแล้ว” เขาทำอย่างไร?
เขาเริ่มจาก...สร้างระบบตรวจสอบและถ่วงดุลหรือระบบ Check&Balance โดยหน่วยงานอนุญาตจะมีหน้าที่ในการส่งเสริมและดูแลโครงการให้ปฏิบัติด้านสิ่งแวดล้อมอย่างดีที่สุด แต่หน่วยงาน ด้านสิ่งแวดล้อมจะทำหน้าที่ในการติดตามตรวจสอบและลงโทษแทน เช่น US.EPA ของประเทศสหรัฐอเมริกา
จากนั้นเขาจะกำหนดให้โครงการที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องทำประกันภัยด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทรับประกันภัยจะไปทำหน้าที่กำกับดูแลอย่างดี เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
แล้ว...กำหนดให้ทุกโครงการที่ปล่อยมลพิษต้องได้รับใบอนุญาตการปลดปล่อยมลพิษโดยจะมีการกำหนดว่าแต่ละโครงการสามารถปล่อยออกมาได้กี่ตันต่อปี หรือกี่กิโลกรัมต่อวัน (Loading) ในพื้นที่นั้น หากปล่อยออกมาเกินค่าที่กำหนดจะต้องจ่ายเงินค่าปรับ (Emission charge) ตามที่กฎหมายกำหนด
“อีกทั้งภาครัฐจะสร้างระบบวอตช์ด็อกหรือเครือข่ายประชาชนในการเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละชุมชน ข้อมูลสารเคมีและการปลดปล่อยมลพิษของโครงการพัฒนาต้องเปิดเผยได้”
ถึงตรงนี้...ระบบการขออนุญาตตั้งโครงการในพื้นที่ใดจะต้องจัดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง และตกผลึกเป็นที่ยอมรับก่อนจึงจะส่งไปให้ส่วนกลางออกใบอนุญาต
นับรวมไปถึงให้ “องค์กรเอกชน” หรือ “สมาคมด้านสิ่งแวดล้อม” ต่างๆที่ขึ้นทะเบียนไว้กับภาครัฐสามารถเป็นตัวแทนของประชาชนที่ได้รับผลกระทบทำการฟ้องคดีกับภาครัฐที่ละเลยการทำหน้าที่ได้รวมทั้งฟ้องให้รัฐจ่ายค่าชดเชยหรือบังคับให้ผู้ก่อมลพิษต้องจ่ายค่าชดเชย
สิ่งสำคัญ...คือ เป้าหมายการจัดการสิ่งแวดล้อมของ “ภาครัฐ” ต้องชัดเจน ประกาศแล้วต้องทำ เช่น กำหนดเวลาในการงดใช้พลังงานสกปรก การเริ่มใช้พลังงานสะอาดเพื่อลดโลกร้อน ฯลฯ มีนโยบายและแผนรองรับถึงแม้จะมีการเปลี่ยนรัฐบาลแต่เป้าหมายต้องไม่เปลี่ยน
ขอวกกลับมาที่ “วงจรชั่วร้าย” ของการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ลงบนพื้นที่ “ชนบท” และ “เกษตรกรรม” อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกอีกว่า กรณีการจัดตั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรมจะนะ จังหวัดสงขลา ขนาด 16,753 ไร่ของภาครัฐ
...
ถูกกำหนดให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้เพื่อรองรับอุตสาหกรรม 6 ประเภท โดยในปี 2559 “รัฐบาล คสช.” อนุมัติโครงการเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน มอบอำนาจให้ ศอ.บต.เป็นผู้ดำเนินการและมติ ครม.วันที่ 7 พ.ค.62 อนุมัติให้มีการขยายโครงการฯไปสู่พื้นที่ อ.จะนะ จ.สงขลา
“เรายังใช้วิธีการแบบเดิมๆซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ที่เสี่ยงต่อการเกิดความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง กล่าวคือ...เริ่มต้นให้ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่รวบรวมจัดหาที่ดินจากประชาชนและนำไปขายให้นายทุน
หลังจากนั้นภาครัฐผลักดันให้เปลี่ยนสีผังเมืองจากพื้นที่สีเขียวซึ่งเป็นที่ดินชนบทและเกษตรกรรมเป็นพื้นที่สีม่วงหรือพื้นที่อุตสาหกรรม”
ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐจ้างที่ปรึกษาจัดทำรายงาน EIA หรือ EHIA ซึ่งในกระบวนการศึกษาต้องจัดเวทีทำประชาพิจารณ์ 2 ครั้ง คือเวทีครั้งที่ ค.1 หรือการรับฟังข้อห่วงกังวลของประชาชนและเวที ค.3 หรือการรับฟังความเห็นต่อร่างรายงานการศึกษาฯ ซึ่งเวทีดังกล่าวจัดโดยเจ้าของโครงการที่ต้องการพัฒนา
หลังจากนั้นนำเสนอต่อคณะกรรมการพิจารณารายงานฯ สผ.และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งสุดท้ายคงได้รับความเห็นชอบอย่างแน่นอนเนื่องจากเป็นโครงการของรัฐบาล...ทิ้งร่องรอยความขัดแย้งและเจ็บแค้นของประชาชนในพื้นที่ที่ถูกมองข้ามและไม่ได้มีส่วนร่วมไว้เบื้องหลัง
...
“ต้องเข้าใจว่าประชาชนในพื้นที่ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่เขาต้องการการพัฒนาอย่างยั่งยืน นั่นหมายถึงการที่ประชาชนในพื้นที่ต้องการเข้าไปมีส่วนร่วม ร่วมคิด ร่วมให้ข้อมูล ร่วมทำและร่วมตัดสินใจด้วย”
ในประเทศที่พัฒนาแล้วเขาจะแต่งตั้งคณะกรรมการประสานความร่วมมือประกอบด้วยผู้แทนจากประชาชนทุกภาคส่วน 2 ใน 3 ร่วมประชุมพูดคุยกับภาครัฐและเอกชนที่มาลงทุน โดยต้องศึกษาหาทางออกในทุกประเด็นที่เป็นข้อห่วงกังวลของประชาชนจนตกผลึกทางความคิดร่วมกัน
แล้วนำไปสู่ “เวทีประชาพิจารณ์อย่างกว้างขวาง” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาเท่านั้น สุดท้ายจะเกิดผลดีและเป็นที่ยอมรับ ทั้งประชาชนในพื้นที่ ภาครัฐและภาคเอกชน (win win win)
แต่เท่าที่ทำอยู่ในปัจจุบันภาครัฐยังคิดว่า...การจัดเวทีประชาพิจารณ์ที่จัดทำโดยที่ปรึกษาและเจ้าของโครงการคือ...การจัดการให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมแล้วและครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว ซึ่งแท้จริงแล้วคนเห็นด้วย หรือที่ถูกจัดตั้งมาเท่านั้นจะได้อยู่ในเวที แต่คนเห็นแย้งจะไม่ได้เข้าร่วม
...
อาจารย์สนธิ ทิ้งท้ายว่า กระบวนการศึกษาของ EIA/EHIA ของประเทศไทยทุกวันนี้ยังทำแบบเดิมๆคือการรวบอำนาจการตัดสินใจทั้งหมดไว้ที่ส่วนกลางของบุคคลที่ไม่ได้สัมผัสพื้นที่เลย แต่พิจารณาจากรายงานที่เจ้าของโครงการศึกษามาให้อ่านแล้วตัดสินใจแทนคนพื้นที่...
“ผลที่ตามมาโครงการได้รับความเห็นชอบสามารถดำเนินการได้แต่อาจเกิดความขัดแย้งและการแตกแยก จนถึงการล่มสลายของชุมชนในพื้นที่”
ซึ่งเป็นผลพวงจากการศึกษาที่ไม่เป็นธรรม... “ประเทศที่พัฒนาแล้ว” ไม่มีใครทำแบบนี้.