การพลิกโฉมมหาวิทยาลัยคือการพลิกโฉมประเทศ! และเพื่อให้สถาบันอุดมศึกษามีศักยภาพในการตอบโจทย์และขับเคลื่อนประเทศได้อย่างแท้จริง กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) จึงได้ออกประกาศกำหนดให้สถาบันอุดมศึกษาสังกัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา ประจำปีงบประมาณ 2565 จัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษา เพื่อส่งเสริม สนับสนุน ประเมินคุณภาพ กำกับดูแล และจัดสรรงบประมาณให้แก่สถาบันอุดมศึกษา

การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยนี้ เป็นไปตามจุดมุ่งเน้นตามที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เลือกเองว่าจะอยู่ในกลุ่มใด เพื่อที่จะดำเนินงานขับเคลื่อนให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาของแต่ละแห่ง โดย อว.จะช่วยสนับสนุนอย่างเต็มศักยภาพ

สำหรับการจัดกลุ่มแบ่งได้ 5 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มที่ 1 กลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก 16 แห่ง ได้แก่ 1.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2.ม.ขอนแก่น 3.ม.เกษตรศาสตร์ 4.ม.เชียงใหม่ 5.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี 6.ม.เทคโนโลยีสุรนารี 7.ม.ธรรมศาสตร์ 8.ม.นเรศวร 9.ม.มหาสารคาม 10.ม.มหิดล 11.ม.แม่ฟ้าหลวง 12.ม.วลัยลักษณ์ 13.ม.ศิลปากร 14.ม.สงขลานครินทร์ 15.สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ 16.สถาบันบัณฑิตศึกษาจุฬาภรณ์

...

กลุ่มที่ 2 กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีและส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม 18 แห่ง ได้แก่ 1.ม.ทักษิณ 2.ม.เทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ 3.ม.เทคโนโลยีราชมงคล (มทร.)กรุงเทพ 4.มทร.ตะวันออก 5.มทร.ธัญบุรี 6.มทร. พระนคร 7.มทร.รัตนโกสินทร์ 8.มทร.ล้านนา 9.มทร.ศรีวิชัย 10.มทร.สุวรรณภูมิ 11.มทร.อีสาน 12.ม.นราธิวาสราชนครินทร์ 13.ม.บูรพา 14. ม. แม่โจ้ 15.มหาวิทยาลัยราชภัฏ (มรภ.) พิบูลสงคราม 16.ม.อุบลราชธานี 17.สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา 18.สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

กลุ่มที่ 3 กลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นหรือชุมชนอื่น 41 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏ รวมทั้ง ม.กาฬสินธุ์ ม.นครพนม ม.พะเยา ม.สวนดุสิต ม.ศรีนครินทรวิโรฒ สถาบันวิทยาลัยชุมชน ม.วงษ์ชวลิตกุล

กลุ่มที่ 4 กลุ่มพัฒนาปัญญาและคุณธรรมด้วยหลักศาสนา ขณะนี้ไม่มีมหาวิทยาลัยสมัครมาอยู่

กลุ่มที่ 5 กลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพและสาขาจำเพาะ 7 แห่ง ได้แก่ 1.มรภ.นครปฐม 2.เพชรบุรี 3.ม.สวนสุนันทา 4.ม.รามคำแหง 5.สถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย 6.สถาบันเทคโนโลยีปทุมวัน 7.สถาบันอาศรมศิลป์

ทั้งนี้ ยังมีมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ได้เลือกว่าจะอยู่ในกลุ่มใดอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งจะดำเนินการต่อไป

โดยการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัย ถือเป็นครั้งแรกตามมาตรา 23 และ 24 ของ พ.ร.บ.การอุดมศึกษา พ.ศ.2562

“การจัดกลุ่มสถาบันอุดมศึกษาหรือมหาวิทยาลัยไม่ใช่เป็นเป้าหมายสุดท้ายของการพัฒนามหาวิทยาลัย แต่เป็นเพียงเครื่องมือหนึ่งในการยกระดับมหาวิทยาลัยให้สามารถใช้ศักยภาพและความเข้มแข็งเพื่อพัฒนาประเทศให้ตรงกับจุดเด่นของมหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง มหาวิทยาลัยสามารถมุ่งเน้นว่าจะเลือกเก่งมากในมิติใด ประเด็นใดเป็นหลัก และดำเนินการอย่างเต็มที่ในประเด็นนั้นๆ ซึ่งเมื่อแต่ละมหาวิทยาลัยดำเนินการได้อย่างเต็มที่แล้วมาประกอบกันเป็นภาพรวมของประเทศ จะเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาประเทศ ดังนั้น การยกระดับด้วยการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย จึงเป็นกลไกสำคัญที่จะนำไปสู่การพลิกโฉมประเทศ สู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว ปัจจุบันประเทศไทยมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี กำลังจะมีแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งจะมุ่งเน้นการพัฒนาประเทศตามศักยภาพและทรัพยากรที่มีโดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้เศรษฐกิจ BCG ซึ่งครอบคลุมหลากหลายมิติ การที่มหาวิทยาลัยแต่ละแห่งได้เลือกมาอยู่ในกลุ่มตามความถนัด จะสามารถตอบโจทย์มิติต่างๆได้อย่างครบถ้วน” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว.กล่าวถึงเหตุผลการจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเพื่อที่จะยกระดับคุณภาพตามที่ถนัด

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล
ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล

...

โดยมหาวิทยาลัยในกลุ่มพัฒนาการวิจัยระดับแนวหน้าของโลก จะมุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยที่ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์ชาติ มหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีฯ มุ่งการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่นฯ มุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมต่อการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากและสังคมของท้องถิ่น มหา วิทยาลัยกลุ่มพัฒนาปัญญาฯ จะใช้จุดเด่นของศาสนา มาพัฒนาองค์ความรู้และกำลังคน ส่วนมหาวิทยาลัยกลุ่มผลิตและพัฒนาบุคลากรวิชาชีพฯ มุ่งเน้นการสร้างกำลังคนตรงตามความต้องการของประเทศ

การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยจึงเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำงาน มีบทบาทชัดเจนขึ้น ซึ่งจะตอบโจทย์การพัฒนาประเทศทุกมิติได้ลงตัว และเมื่อรวมกันเป็นภาพรวมของประเทศก็จะประกอบกันได้อย่างลงตัว” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ระบุ

ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล
ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล

ขณะที่ ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัด อว.ระบุว่า การจัดกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นไปในลักษณะแบ่งกันทำงานในด้านที่ตนถนัด ไม่มาแข่งกันเองในทุกๆ ด้านอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันและจะไม่กระทบต่องบประมาณประจำที่มหาวิทยาลัยได้รับ ที่สำคัญการแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยเป็นไปตามความเห็นชอบของสภามหาวิทยาลัยแต่ละแห่ง อว.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดโดยตรง นอกจากนี้ การเลือกเข้ากลุ่มเป็นความสมัครใจของมหาวิทยาลัย

...

“นี่เป็นการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยจากเดิมที่แต่ละมหาลัยพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างเหมือนกัน และแข่งขันกันเอง จนบางครั้งลืมจุดเด่นของตัวเองไป หากสามารถพลิกโฉมมหาวิทยาลัยตามแนวทางนี้ได้ ผลประโยชน์สุดท้ายจะตกอยู่กับประเทศชาติและจะกลับไปสู่มหาวิทยาลัย...

การแบ่งกลุ่มนี้ไม่ใช่เป็นการแบ่งเกรดมหาวิทยาลัย ถ้าเปรียบกับกีฬา ไม่ใช่เป็นการแบ่งลีกฟุตบอลให้แข่งตามดิวิชัน แต่เป็นการแบ่งตามประเภทกีฬาที่แต่ละคนแต่ละทีมถนัด เช่น ใครเก่งฟุตบอลก็ไปเล่นฟุตบอล ใครเก่งว่ายน้ำก็ไปเล่นว่ายน้ำ หากเก่งฟุตบอลแล้วไปว่ายน้ำก็ไม่มีโอกาสได้แชมป์เพราะไม่ถนัด” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว

“ทีมข่าวอุดมศึกษา” มองว่า การแบ่งกลุ่มมหาวิทยาลัยจะเป็นการตอบโจทย์ประเทศหรือการพลิกโฉมประเทศหรือไม่ ยังไม่มีใครรู้ได้

แต่อย่างน้อยก็ยังเห็นทิศทางและศักยภาพของแต่ละมหาวิทยาลัยที่ชัดเจนสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมและโลก ดีกว่าปล่อยให้ทุกมหาวิทยาลัยแข่งขันกันในทุกสาขาวิชาจนกลายเป็นความสูญเปล่าในที่สุด.

...

ทีมข่าวอุดมศึกษา