ยังคงอยู่ในบรรยากาศเนื่องใน “วันสิ่งแวดล้อมไทย” (4 ธันวาคม 2564) ประเด็น...“เพิ่มป่าไม้เพื่อลดโลกร้อน” อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการ สิ่งแวดล้อมไทย สะท้อนภาพ “ประเทศไทย” เปรียบกับ “ประเทศญี่ปุ่น” ไว้น่าสนใจ
หนึ่ง...ประเทศไทยประกาศที่ COP26 กรุงกลาสโกว์จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใน ค.ศ.2050 (พ.ศ.2573) และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายใน ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608)
ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 26 (COP26) ที่ผ่านมามี 105 ประเทศลงนามในคำประกาศให้คำมั่นที่จะยุติการตัดไม้ทำลายป่าและฟื้นฟูป่าไม้ภายในปี 2030 เพื่อต้องการให้ต้นไม้ช่วยดูดซึมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เพื่อลดโลกร้อน
แต่...ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วมให้คำสัญญาด้วย
สอง...ข้อมูลปี 2563 ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าไม้อยู่ที่ 163,765.57 ตร.กม. คิดเป็นร้อยละ 31.64 ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ “พื้นที่ป่า”...ลดลงจากปีที่แล้วร้อยละ 0.04
...
ที่ผ่านมามีการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติและเขตสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าทับที่อยู่อาศัยและที่ดินทำกินของชาวบ้านอีก 4,000 กว่าหมู่บ้าน... ประมาณ 4.2 ล้านไร่ มีเรื่องร้องเรียนกันอยู่
สาม...ประเทศญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่าไม้ 253,203 ตร.กม. หรือร้อยละ 67 ของประเทศ โดยพื้นที่ทั่วไปร้อยละ 70 ของญี่ปุ่น เป็นโภูเขา ทำการเกษตรน้อยมากจึงมีแนวคิดในการทำป่าไม้เศรษฐกิจมานานกว่าร้อยปีแล้วโดยรัฐแบ่งให้เอกชนและประชาชนทำสวนป่าตัดขายแล้วปลูกทดแทน
ซึ่งจะเห็นว่ามี “ป่าสน” ที่สูงใหญ่เรียงเป็นระเบียบ...บางต้นอายุถึงร้อยปี รวมทั้งรัฐยังส่งเสริมให้เอกชนทำป่าไม้เพื่อเศรษฐกิจในพื้นที่ชุมชน เช่น ปลูก “สนซีด้า” เพื่อทำเป็นไม้แปรรูปขายให้ประชาชน มีช่วงเวลาการปลูกและตัดคล้ายๆกับการทำไร่หมุนเวียนของชาวกะเหรี่ยงในไทย
ระยะเวลาตัดขึ้นอยู่กับความต้องการขนาดตามวงรอบของเนื้อไม้ประมาณห้าปีขึ้นไปโดยมีพื้นที่แทรกอยู่ตามป่าธรรมชาติด้านล่างของสันเขา
นอกจากนี้ ชาวบ้านญี่ปุ่นยังสามารถมีกรรมสิทธิ์พื้นที่ป่าในเขตอุทยานได้หากอยู่มาก่อนการประกาศเขตอุทยานซึ่งแตกต่างจากประเทศไทยที่ออกกฎหมาย กฎหมายไปทับพื้นที่ชุมชนและให้ออกไป...ญี่ปุ่นไม่เคยมีนโยบายสนับสนุนประชาชนไปหักร้างถางพงเพื่อจับจองเป็นที่ทำกินแบบไทย
สี่...ทำไมญี่ปุ่นมีพื้นที่ป่าไม้มากกว่าไทยถึง 9 หมื่นกว่า ตร.กม. ทั้งๆที่มีขนาดเล็กกว่าประเทศไทยถึง 1.36 เท่า และมีประชากรมากกว่าไทยเกือบ 2 เท่า (ญี่ปุ่นมีประชากรประมาณ 126 ล้านคน)
“เกษตรกรในญี่ปุ่นมีน้อยมากต่างจากไทยที่มีเกษตรกรประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด ไม่บุกรุกป่า...ญี่ปุ่นไม่ส่งเสริมให้ตัดไม้ของตัวเองแต่มักจะสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น จากจีน แคนาดา อเมริกา...” อาจารย์สนธิ ว่า “ญี่ปุ่นเป็นประเทศเกาะสามารถหาอาหารทางทะเลได้ง่ายและเร็วกว่าหาจากป่ามาก ไม่ต้องบุกรุกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำกิน วิถีชีวิตหลักๆของญี่ปุ่นพึ่งอาหารจากทะเลมากกว่าป่า...”
นอกจากนี้แล้ว...รัฐส่งเสริมให้เอกชนและประชาชนเช่าพื้นที่ป่าบางส่วนทำสวนป่าโดยเป้าหมายป่าต้องเพิ่มขึ้นเมื่อหมดสัมปทาน...รัฐส่งเสริมให้บริษัทเอกชนทำ CSR โดยการปลูกต้นไม้และป่าในพื้นที่ต่างๆ
“สร้างจิตสำนึกอบรมและสั่งสอนให้รักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งแต่เรียนชั้นอนุบาล...ประเทศไทยเราเดินตามรอยญี่ปุ่น โดยพยายามจะปลูกป่าใหม่ทดแทนเหมือนกัน แต่ยังไม่สามารถหลุดพ้นวงจรที่ชาวบ้านต้องการขยายพื้นที่การเกษตรกรรมได้ ทำให้การปลูกไม่ทันกับความต้องการจะตัด”
...
ประเทศไทย...“เพิ่มป่าไม้เพื่อลดโลกร้อน” ยังเป็นประเด็นให้ชวนติดตามอย่ากะพริบตา ที่ใกล้ตัวมาแล้วในรอบปีนี้ก็คือปัญหา “ฝุ่น PM 2.5” กับมาตรการเสริมที่รัฐควรทำ?
จากการคาดการณ์พบว่า “ฝุ่น PM 2.5” จะสูงขึ้นเกินค่ามาตรฐานในเขต กทม.และปริมณฑล ตั้งแต่วันที่ 6 หรือ 7 ธ.ค.64 เป็นต้นไป เนื่องจาก ความกดอากาศสูง (อากาศเย็น) จากประเทศจีนแผ่ลงมาปกคลุมแต่กำลังลมอ่อนลง ทำให้อากาศเย็นอยู่ในระดับใกล้พื้นดินแต่อากาศเหนือพื้นดินขึ้นไปกลับร้อนกว่า
ทำให้... “มลพิษ” และ “อากาศ” ใกล้พื้นดินลอยขึ้นในแนวดิ่งได้ต่ำ (อากาศเคลื่อนจากร้อนไปเย็น) ขณะที่ลมพัดในแนวราบอ่อนกำลังลง ทำให้การฟุ้งกระจายของมลพิษทั้งในแนวดิ่งและแนวนอนน้อยลง เกิด “ภาวะ Fumigation”...หรือ “มลพิษปกคลุมพื้นที่”
ปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง กทม. กรมควบคุมมลพิษ กรมขนส่งทางบก ตำรวจจราจร หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีการเตรียมการที่ดี มีตั้งด่านสกัดตรวจจับรถควันดำตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ทำให้มีรถควันดำวิ่งในเขตเมืองน้อยส่งผลให้ฝุ่น PM 2.5 เกิดน้อยลงด้วย...ส่วนภาคเหนือก็มีมาตรการชิงเก็บเศษวัสดุเพื่อลดเชื้อเพลิงในป่า
รวมทั้งมาตรการชิงเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรก่อนอากาศปิด เป็นเรื่องที่น่าดีใจที่หน่วยงานของรัฐมีแผนงานที่ชัดเจนและให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมกับสุขภาพของประชาชนมากกว่าเมื่อก่อน
...
อย่างไรก็ตาม ยังไง “ฝุ่น PM 2.5” ก็ต้องมาอย่างแน่นอน ทั้งใน กทม. ภาคกลาง ภาคอีสาน และภาคเหนือ ช่วงที่ฝุ่นมาปกคลุมพื้นที่ รัฐควรมีมาตรการสาธารณะจูงใจให้ประชาชนร่วมมือลดฝุ่นลงด้วย ไม่ใช่ให้ประชาชนเสียสละอย่างเดียว แต่รัฐต้องสนับสนุนด้วยเช่นกัน เช่น ประกาศให้เดือนธันวาคม-มกราคม...
หากประชาชนไม่นำรถออกมาใช้รัฐมีมาตรการจ่ายค่าเดินทางด้วยรถไฟฟ้า, รถขนส่งสาธารณะและค่าแท็กซี่คนละครึ่ง, ค่าที่จอดรถยนต์ที่สถานีรถไฟฟ้าฟรี, ห้ามรถเครื่องยนต์ดีเซล 10 ล้อขึ้นไปเข้าเมือง, ห้ามจอดรถยนต์ริมถนน, จับกุมรถที่อุด EGR...ทะลวงแคต (catalytic converter)...รถปล่อยควันดำ
นำน้ำมันดีเซลยูโร 5 มาจำหน่ายราคาถูก, ลดการก่อสร้างบนถนนและคืนพื้นที่ผิวให้จราจรเพื่อลดการติดขัดของรถยนต์, ล้างพื้นล้างถนน, ขอความร่วมมือให้อาคารสูงสเปรย์ละอองน้ำไปในอากาศ
งดการจุดธูปเทียนของศาลเจ้าหรือวัดในที่โล่ง, งดการปิ้งย่างที่ปล่อยควันในที่โล่ง, ดูแลและซ่อมบำรุงเตาเผาศพของวัดให้เผาไหม้ได้สมบูรณ์, ลงโทษผู้ที่เผาขยะหรือเศษวัชพืชในที่โล่ง, ควบคุมมลพิษจากปล่องของโรงงานและกิจการที่ใช้ถ่านหิน น้ำมันเตา...น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง, แจกหน้ากากป้องกันฝุ่นละอองให้ผู้ที่ทำงานริมถนน เช่น พ่อค้าแม่ค้า, วินมอเตอร์ไซค์, เสนอรูปแบบห้องปลอดฝุ่น PM 2.5 ราคาประหยัด ฯลฯ
...
ถึงตรงนี้...โรงงานน้ำตาล 57 แห่ง จะเริ่มเปิดรับอ้อยเข้าหีบประจำฤดูการผลิตปี 2564/65 ในวันที่ 7 ธ.ค.นี้ คาดมีปริมาณผลผลิต 90 ล้านตัน... รัฐบาลกำหนดให้มีอ้อยไฟไหม้ไม่เกิน 10% ประเทศไทยปลูกอ้อยประมาณ ปีละ 5.4 ล้านไร่...คาดว่าจะมีการเผาเพื่อเอาอ้อยไฟไหม้เข้าโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 5.4 แสนไร่
“การเผาจะเกิดขึ้นช่วงเดือนมกราคม...มีนาคม อย่างไรก็ตาม รัฐจะช่วยสนับสนุนเงิน 120 บาทต่อตัน หากตัดอ้อยสดและหักเงินผู้ตัดอ้อยไฟไหม้ตันละ 30 บาทด้วย”
สิ่งที่รัฐควรทำคือหากมีการเผาไร่อ้อยซึ่งมักทำในช่วงกลางคืนต้องให้ท้องถิ่นตรวจสอบ หากพบว่ามีฝุ่นเกินมาตรฐานหรือก่อให้เกิดการรบกวนต้องใช้มาตรการตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุข 2535 ลงโทษ
ในช่วงเกิด “ฝุ่น 2.5” เกินมาตรฐาน ส่วนกลางต้องกระจายความรับผิดชอบและงบประมาณให้ท้องถิ่นในการกำกับดูแลกิจการและกิจกรรมที่จะส่งผล ให้เกิดปัญหาฝุ่นละอองในพื้นที่ตนเอง รวมทั้งใช้กฎหมายดำเนินการอย่างเข้มงวดร่วมกับหน่วยงานอนุญาตและต้องช่วยดับไฟที่เกิดบริเวณริมทาง...ในป่าในเบื้องต้นด้วย
ฤดูฝุ่น PM 2.5 มาแน่ ขอให้ทุกคนทุกฝ่ายพร้อมรับมือ เฝ้าระวังแก้ไขอย่างเต็มกำลัง.