"ศักดิ์สยาม" เร่งยกระดับมาตรฐานท่าเรือสำราญ ชายฝั่ง "อ่าวไทย-อันดามัน" จ่อเปิด PPP หลังนักลงทุนไทย-ต่างชาติสนใจจำนวนมาก เดินหน้าพัฒนา-ฟื้นฟู 10 ชายหาดทราย ระยะทางกว่า 42 กม.เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว พร้อมสั่งเดินหน้าแลนด์บริดจ์ "ชุมพร-ระนอง" จี้ สนข.ศึกษาโครงการ คาดกลาง ธ.ค.จะได้ข้อสรุป

เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.64 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวภายหลัง ตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาชายฝั่งทะเล และสิ่งล่วงล้ำลำน้ำในพื้นที่ จ.ชลบุรี ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมเจ้าท่า (จท.) ว่า ได้มอบนโยบายให้กรมเจ้าท่าเร่งพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทางทะเล ระหว่างประเทศของไทยและในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งจากการศึกษาเบื้องต้นพบว่ามีหลายพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ที่จะเปิดเป็นถ้าเทียบเรือสำราญขนาดใหญ่ เช่นที่ อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ส่วนฝั่งทะเลอันดามันบอกว่ามีที่พื้นที่เหมาะสมจำนวน 5 แห่ง  ซึ่งขณะนี้ได้รับความสนใจและมีเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น นักลงทุนจากประเทศเยอรมัน อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี และจีน สอบถามเข้ามาจำนวนมาก ส่วนรูปแบบในการลงทุนพัฒนาท่าเรือสำราญขนาดใหญ่นั้น จะเป็นรูปแบบการร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership หรือ PPP) 

"มั่นใจว่าหากมีการลงทุนจะดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีกำลังจ่ายสูง เนื่องด้วยประเทศไทยมีชายฝั่งทะเลทั้งด้านอ่าวไทยและอันดามันรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร พร้อมทั้งทรัพยากรเกาะแก่ง แหล่งท่องเที่ยว และเมืองริมชายฝั่งที่มีความสวยงาม มีชื่อเสียง ท่าเรือมารีน่าเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีกำลังจ่ายสูง ซึ่งมีอยู่อย่างจำกัดและกระจุกตัวอยู่ทางด้านบริเวณชายฝั่งอันดามัน" นายศักดิ์สยาม กล่าว

...

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ จท.ได้จัดทำแผนการพัฒนาชายฝั่งทะเล ด้านการเสริมทรายชายหาด (Beach Nourishment) เพื่อแก้ไขปัญหาการกัดเซาะ ฟื้นฟูพื้นที่แหล่งท่องเที่ยว สร้างรายได้ และส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่ง จท.ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีในการเสริมทรายฟื้นฟูชายหาดพัทยา จ.ชลบุรี ระยะทาง 2.8 กิโลเมตร ตั้งแต่ชายหาดพัทยาเหนือ บริเวณหน้าโรงแรมดุสิตธานี ถึงชายหาดพัทยาใต้ บริเวณวอล์คกิ้งสตรีท แล้วเสร็จในปี 62 จึงเป็นต้นแบบขยายโครงการต่อเนื่องไปในอนาคต 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเสริมทรายชายหาดจอมเทียน จ.ชลบุรี ระยะที่ 1 ระยะทาง 3.6 กิโลเมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณกลางปี 65 รวมทั้งมีแผนงานเสริมทรายชายหาดท่องเที่ยวในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น ชายหาดบางแสน ชายหาดสมิหลา ชายหาดชะอำ ชายหาดเขาหลัก ชายหาดบางเสร่ ชายหาดอ่าวดงตาล ชายหาดแสงจันทร์ ชายหาดปราณบุรี และชายหาดทรายรี เป็นต้น โดยใช้งบประมาณ 5,400 ล้านบาท ระยะทางรวมประมาณ 42 กิโลเมตร ซึ่งการเสริมทรายชายหาด นอกจากจะเป็นการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะและฟื้นฟูชายหาดอย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยส่งเสริมสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว และสร้างรายได้เป็นจำนวนมากให้กับประเทศอีกด้วย

ส่วนความคืบหน้าเรื่องการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและฝั่งอันดามัน หรือแลนด์บริดจ์ ระหว่าง จ.ชุมพร-จ.ระนอง นั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า ขณะนี้บริษัทที่ปรึกษาได้เข้ามารายงานแล้ว โดยเส้นทางยังเป็นตามแนวการศึกษาแผนพัฒนาโครงข่าย MR-MAP ชุมพร-ระนอง แต่ต้องศึกษาเพิ่มเติมว่าเส้นทางเดียวจะเพียงพอหรือไม่ เบื้องต้นขณะนี้มี 2 เส้นทาง แบบเส้นทางระยะสั้น มีระยะทาง 72 กม.และระยะยาวมีระยะทาง 93 กม.ซึ่งทั้งหมดมีทั้งข้อดีและข้อด้อย และอาจจะกระทบสิ่งแวดล้อม แต่จะพิจารณาเรื่องเส้นทางที่ประหยัดเวลา สะดวก และมีความปลอดภัย

พร้อมทั้งได้สั่งการให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ศึกษาเรื่องคอนเซปต์ โดยยืนยันว่า ภาครัฐบาลจะไม่เป็นผู้ลงทุนเอง แต่จะเปิดให้เอกชนที่สนใจเข้ามาลงทุนร่วมกับภาครัฐในรูปแบบ PPP โดยเมื่อผลการศึกษาแล้วเสร็จ กระทรวงคมนาคมจะเสนอนายกรัฐมนตรีให้ทำโรดโชว์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งขณะนี้โครงการได้รับความสนใจจากต่างประเทศจำนวนมาก ที่จะเข้ามาลงทุน เช่น ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น จีน อเมริกา และอังกฤษ โดยคาดภายในกลางปี 65 จะดำเนินการศึกษาให้แล้วเสร็จ ซึ่งจะสามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ประมาณ 20 ล้านทีอียู 

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ในส่วนของการจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาตินั้น ล่าสุดผลการศึกษาเบื้องต้นระบุว่า ควรจัดตั้งสายการเดินเรือแห่งชาติ 2 เส้นทาง คือ 1.การเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เชื่อมโยงการเดินทางอ่าวไทย ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยกระทรวงคมนาคมจะสนับสนุนเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานและท่าเทียบเรือ เพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้งการพิจารณาอนุญาตเกี่ยวกับสายการเดินเรือ ซึ่งปัจจุบัน จท.ได้ร่วมกับบริษัท ซีฮอร์ส เฟอร์รี่ จำกัด นำเรือ Ro-Ro Ferry "The Blue Dolphin" เดินเรือเฟอร์รี่ข้ามอ่าวเส้นทางระหว่าง จ.ชลบุรี -จ.สงขลา เปิดให้บริการเส้นทางสัตหีบ-สงขลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้การพัฒนาสายการเดินเรือภายในประเทศ (Domestic Marine Line) เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ทางน้ำของประเทศ 

"ได้เริ่มทดสองให้บริการเดินเรือเมื่อเดือน พ.ย.64 ที่ผ่านมา และมีแผนเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในปี 65 โดยระยะแรกจะเปิดให้บริการเส้นทางท่าเรือพาณิชย์สัตหีบ (จุกเสม็ด) -ท่าเรือสวัสดิ์ จ.สงขลา ซึ่งจะช่วยลดปัญหาการจราจร ลดปริมาณรถในการขนส่งสินค้าได้ประมาณ 90,000 คันต่อปี และ 2.การเดินเรือในระดับ International แบ่งเป็นสายการเดินเรือฝั่งตะวันออก (East) ตั้งแต่กัมพูชา เวียดนาม เกาหลีใต้ จีน ญี่ปุ่น และฝั่งตะวันตก (West) ได้แก่ แอฟริกา และยุโรป หรือกลุ่ม BIMSTEC คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาสที่ 2 ของปี 65" นายศักดิ์สยาม กล่าว

...