แนวโน้มปรากฏการณ์ “ภาวะเรือนกระจก”กระทบต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศผิดเพี้ยนจากธรรมชาติคืบคลานใกล้ตัวเราขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการส่งสัญญาณเตือน “มหันตภัยที่เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า” ไม่ว่าจะเป็นฤดูหนาวไม่หนาวจัด น้ำท่วมหนัก แห้งแล้งจัดยาวนานอย่างไม่เคยมีมาก่อน
นับวันภัยเหล่านี้ “ทวีความรุนแรง” เสมือนนับถอยหลังสู่ “หายนะโลกร้อน” ตอกย้ำมวลมนุษยชาติตื่นตัวปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง เพื่อจัดการภาวะโลกร้อนลดวิกฤติเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนี้
ทำให้ไม่นานนี้ “มีประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศสมัยที่26 (COP26) ที่สกอตแลนด์” มีผู้นำนานาชาติทั่วโลกเข้าร่วมเจรจา 2 สัปดาห์เต็ม เพื่อแก้ปัญหามุ่งมั่นลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศตนเอง
การนี้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ” ก็ประกาศเจตจำนงตั้งเป้าบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี 2065 ด้วยนานาชาติสนับสนุนก็จะเพิ่มเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 จากร้อยละ 25 ปี 2030 ที่บรรลุเป้าลดการปล่อยเป็นศูนย์ปี 2050
...
ก่อนการประชุม COP26 ปิดฉากด้วยผู้นำเกือบ 200 ประเทศ รับรอง Glasgow Climate Pact อันเป็นข้อตกลงนานาชาติช่วยรักษาระดับการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไว้ไม่เกิน 1.5 องศาฯ
รศ.ดร.วิษณุ อรรถวานิช อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญงานวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการเกษตร บอกว่า แนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังสูงในภาคพลังงาน 73% ภาคเกษตรป่าไม้ 18% แล้วมีธรรมชาติช่วยดูดซับ 50% ที่เหลือเกินขีดการดูดซับได้ถูกปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ
ในส่วน “ประเทศไทย” มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงเช่นกัน จนถูกจัดอันดับมีความเสี่ยงต่อความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ 9 จาก 180 ประเทศ ทั้งติดท็อปเทนติดต่อกัน 6 ปี ตั้งแต่ปี 2559 ถึงวันนี้ทำให้ถูกจัดอันดับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อ GDP ของไทยอยู่ที่ 45 จาก 48 ประเทศ
คาดกันว่า ปี 2048 ตัวเลข GDP จะลดลง 4.9%-43.6% ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเพิ่มขึ้นตั้งแต่ 2-3.2 องศาฯ
ภาคเศรษฐกิจรับผลกระทบการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากสุดแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ ส่วนแรก...“ภาคเกษตร” ด้วยเกษตรกรไทยมี 8.1 ล้านครัวเรือนเข้าถึงระบบชลประทาน 26% ในจำนวนนี้เป็นผู้สูงอายุ 20% มีการศึกษาน้อย4.46% ส่วนใหญ่สำเร็จการศึกษาระดับชั้น ม.6 ด้วยซ้ำ
สะท้อนถึงความเปราะในภาคเกษตรมีสถานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าแรงงานในภาคเศรษฐกิจอื่น ทั้งยังเผชิญปัญหาสังคมสูงวัย และเกษตรกรหนุ่มสาวยังทยอยออกนอกภาคเกษตรอย่างต่อเนื่องนี้
ทว่า “ความเสียหายต่อภาคการเกษตร” คำนวณคาดการณ์ว่า ในปี 2554-2588 มูลค่าความเสียหายราว 6 แสนล้านบาท จนถึง 2.85 ล้านล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานจะได้รับผลกระทบ 1.1-6.3 หมื่นล้านบาทต่อปี ในเขตชลประทาน 6.6 พันล้านบาท ถึง 2 หมื่นล้านบาทต่อปี
สาเหตุเพราะ “ภาวะโลกร้อนเกินขีดจำกัด” ทำให้พืชผลการเกษตรต่อไร่ลดลง เช่นกรณีในปี 2560 “ไทยเจอภัยแล้ง” พืชอ้อยตายเหลือ 60 ล้านตันจากผลผลิตเคยได้ 130 ล้านตัน หรือเฉลี่ย 5 ตันต่อไร่ จาก 10 ตันต่อไร่
ถัดมาคาดต่อว่า “ผลผลิตพืชเศรษฐกิจหลักรับผลกระทบในปี 2050” เช่น ผลผลิตข้าวไทยมีแนวโน้มลดลง 10-13% อ้อยลดลง 24-34% มันสำปะหลังลดลง 14-21% และยางพาราลดลง 2-5%
ประการที่สอง...“ภาคการท่องเที่ยว” ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างรายได้หลักให้ประเทศที่ต้องอาศัยทรัพยากรธรรมชาติ และวัฒนธรรมเป็นสิ่งดึงดูดนักท่องเที่ยว ถ้าเกิดน้ำท่วมและภัยแล้งจะก่อความเสียหายได้
...
ทั้งสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ธุรกิจการท่องเที่ยวเกิดการหยุดชะงักแล้วยังมีผลกระทบทางอ้อมก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม และสภาพนิเวศตามมาได้ เช่น ปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาวที่มาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกร้อนนี้
ประการที่สาม...“ก่อความเครียดจากความร้อน” โดยเฉพาะกลุ่มผู้ใช้แรงงานทำงานกลางแจ้งขีดความสามารถทำงานจะน้อยลง เพราะตามหลักการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมักมีอุณหภูมิขึ้นสูงมากแล้วกลุ่มแรงงานถูกจำกัดให้ทำงานตามเวลาเท่าเดิม “บนอากาศร้อนจัด” ย่อมทำให้เครียดสะสมแน่นอน
ไม่เท่านั้นมีงานวิจัยเชิงประจักษ์ว่า “อาการร้อนจัด” มักทำให้สัตว์เครียดความสามารถผสมพันธุ์ก็น้อยลง ทั้งมีผลให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารน้อยเติบโตช้า ดังนั้น โลกร้อนกระทบได้ทั้งมิติในคนและปศุสัตว์ด้วยซ้ำ
...
ประเด็น “ไทยร่วม COP26” ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นการลดก๊าซเรือนกระจกในอนาคต อธิบายว่า “ก๊าซเรือนกระจกก็เหมือนควันธูป” แม้ปล่อยในประเทศเดียวขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศโลก ก็ได้รับผลกระทบเท่ากันทุกประเทศ
หนำซ้ำ “ชั้นบรรยากาศเป็นสินค้าสาธารณะโลก” ปัญหานี้ไม่อาจแก้ไขได้เพียงประเทศใดประเทศหนึ่ง “ต้องใช้บริบทความร่วมมือนานาชาติ”แม้แต่ตำรวจโลกก็ไม่อาจข้ามอำนาจอธิปไตยตามจับประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ด้วย สิ่งนี้กลายเป็นความน่าสะพรึงกลัวที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเลวร้ายในอนาคต
“ก๊าซเรือนกระจกใช้เวลาย่อยสลาย 50 ปี นั้นคือหยุดปล่อยวันนี้ยังรับผลกระทบอีก 40-50 ปี สิ่งที่รุ่นเราทำได้ตอนนี้ต้องปรับตัว โดยเฉพาะเกษตรกรมักได้รับความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเสมอ “ภาครัฐ”ต้องสนับสนุนพัฒนาวิจัยพืชปศุสัตว์ทนแล้ง และทำระบบชลประทานครอบคลุมเกษตรกรทุกพื้นที่” รศ.ดร.วิษณุว่า
ปัญหามีอยู่ว่า “รัฐบาล” มีวาระทางการเมือง 4 ปี ส่วนงานวิจัยด้าน เกษตรกรรมต้องใช้เวลาในการพัฒนาที่มีผลลัพธ์ค่อนข้างช้าราว 10 ปี ทำให้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจมากนัก แล้วการใช้เงินงบประมาณมักมุ่งในนโยบายเห็นผลงานเร็วตามกรอบวาระของนักการเมืองนั้น ดังนั้นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ในอนาคตถูกมองข้ามเสมอ
...
ซ้ำร้ายแม้ “ประเทศไทยมีฐานะร่ำรวยในกลุ่มอาเซียน” แต่กลับมีความเปราะบางต่อความเสี่ยงรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศติดใน 10 อันดับแรกของโลก ดังนั้น “รัฐบาลต้องสร้างนโยบายให้เกษตรปรับตัว”เพื่อให้เกิดความมั่นคงในอนาคตก่อนที่จะเกิดความเสียหายเยอะขึ้นกว่านี้
เรื่องที่กังวล “แผนนโยบายดำเนินการตามคำประกาศลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 40 ในปี 2030 และปล่อยเป็นศูนย์ในปี 2050”กำลังเป็นสิ่งสวนทางกับงบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกหั่นเหลือน้อยมาก ทั้งยังมีกลุ่มธุรกิจทุนเก่าไม่ยอมปรับตัว “พยายามล็อบบี้” ให้กิจการของตัวเอง อยู่ต่อได้อีก
กลายเป็นติดปัญหา “ล็อบบี้ยิสต์” ในกลุ่มทุนเก่ายังมีอำนาจค่อนข้างเยอะ ทำให้กลุ่มธุรกิจทุนใหม่ประกอบกิจการอันเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไม่อาจเข้ามาร่วมลงทุนได้ เช่น “ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5” จากเครื่องยนต์ดีเซลเก่าที่รัฐบาลเกรงใจ “รถบรรทุกเก่า” กลัวกระทบภาคการขนส่งจนสูญเสียความสามารถในการแข่งขันมาตลอด
รัฐบาลต้องกล้าปรับรับกลุ่มทุนใหม่ เพื่อให้เป็นจุดเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสทางเศรษฐกิจครั้งนี้
โชคดีที่กำลังมี “ร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ....” อันเป็นกฎหมายฉบับแรกของไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศ ตลอดจนกำหนดนโยบายและแผน เพื่อยกระดับความสามารถปรับฟื้นตัวจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตอีกด้วย
หากว่า “พ.ร.บ.ฉบับนี้ผ่านตราเป็นกฎหมาย” จะนับเป็นนิมิตหมายอันดีต่อ “การบังคับธุรกิจบางแห่งมักพยายามปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม” เป็นปัญหาต่อภาครัฐไม่อาจเข้าตรวจสอบได้อยู่มากมาย
สุดท้ายเมื่อ “รัฐบาล” ให้คำมั่นไว้ในเวที COP26 ถ้าปฏิบัติได้ตามนั้นจริง “นโยบายธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมจะเข้มงวดขึ้นมาก” จนสามารถบีบบังคับธุรกิจทุนเก่าปรับตัวหันมารักษาสิ่งแวดล้อมได้ แต่หากไม่ทำตามเจตจำนงลดก๊าซเรือนกระจก “ประเทศไทย” ต้องถูกนานาชาติทั่วโลกบีบ มีผลกระทบต่อภาคการส่งออกแน่นอน
ฉะนั้น ถ้าจะบรรลุเป้าหมาย “ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก”ที่ประกาศเจตจำนงในการประชุม COP26 รัฐบาลต้องพิจารณาเพิ่มงบประมาณจัดทำแผนปฏิบัติชัดเจนแล้ว “คนไทย” คงต้องจับตากันต่อไป.