พันธุ์ข้าวบ้านเรามักประสบปัญหาหักล้มง่าย เพราะต้นค่อนข้างสูง ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ยาก โดยเฉพาะช่วงน้ำน้อย ที่สำคัญมักไม่ค่อยต้านทานโรค
ศูนย์พันธุวิศกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับพันธมิตรพัฒนาพันธุ์ข้าวนาปีใหม่...หอมสยาม (Hom Siam)
เป็นพันธุ์ข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ให้ผลผลิตสูง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ต้านทานโรคไหม้ โรคไหม้คอรวงได้ดีเมื่อเทียบกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 และพันธุ์ กข 15 เป็นการลดการใช้สารเคมีในการป้องกันกำจัดโรค ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย
“เรามุ่งพัฒนาสายพันธุ์ข้าวให้ตรงกับความต้องการของเกษตรกร ผู้บริโภคทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทางหนึ่งเพื่อลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร อีกทางก็ให้เกษตรกรผลิตให้ตรงกับความต้องการตลาด พร้อมไปกับลดการใช้สารเคมีเกษตร และรักษาสภาพแวดล้อม จึงนำเอาความเชี่ยวชาญในการถอดรหัสจีโนม เพื่อระบุยีนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการผลิตและคุณภาพข้าว และพัฒนาระบบการตรวจสอบยีนจากดีเอ็นเอ เพื่อนำมาใช้ปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้รวดเร็วและมีลักษณะตามความต้องการ จนได้ข้าวสายพันธุ์ใหม่หอมสยาม”
...
ดร.ธีรยุทธ ตู้จินดา หัวหน้าทีมพัฒนาพันธุ์ข้าวของไบโอเทค รักษาการรองผู้อำนวยการไบโอเทค ด้านวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร อธิบายถึงที่มาข้าวหอมสยามที่มีคุณภาพการหุงต้มใกล้เคียงกับข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 เป็นข้าวเจ้าหอมพื้นนุ่ม ผลผลิตสูง ไวต่อช่วงแสง ต้นเตี้ยทนการหักล้ม ปรับตัวได้ดีในสภาพน้ำน้อย โดยมีความสูงต้นประมาณ 120 ซม. ลำต้นแข็ง สามารถเก็บเกี่ยวได้ง่าย สอดรับกับการทำนาสมัยใหม่ที่ใช้เครื่องจักร
ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นขอหนังสือรับรองพันธุ์พืชขึ้นทะเบียนตามพระราชบัญญัติพันธุ์พืช พ.ศ.2518 กับกรมวิชาการเกษตร โดยข้าวพันธุ์หอมสยามนี้ จะเป็นข้าวหอม ไทยคุณภาพอีกพันธุ์หนึ่งที่สามารถส่งออกไปขายยังตลาดต่างประเทศ ที่มีความต้องการข้าวคุณภาพในราคาที่ไม่สูงเกินไป
ทั้งนี้ จากการทำงานร่วมกับเครือข่ายเกษตรกรของบริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด นำข้าวไปปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรในพื้นที่ จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ และ จ.ศรีสะเกษ เมื่อปี 2563 ได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 530 กก. (ความชื้น 14%) สูงกว่าข้าวพันธุ์ขาวดอกมะลิ 105 ที่ปลูกในแปลงเดียวกันประมาณ 2.1 เท่า
มาปี 2564 ได้มีการขยายผลการปลูกทดสอบในแปลงเกษตรกรในภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 จังหวัด ได้แก่ จ.เชียงราย จ.พะเยา จ.อุบลราชธานี จ.อำนาจเจริญ จ.ศรีสะเกษ จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.ยโสธร จ.ร้อยเอ็ด จ.สุรินทร์ จ.มหาสารคาม และ จ.บุรีรัมย์ รวมพื้นที่ 21 ไร่ มีเกษตรกรเข้าร่วมทดสอบพันธุ์จำนวน 31 คน ให้ผลไม่ต่างกันนัก
เกษตรกรที่สนใจขอรับพันธุ์ข้าวไปทดลองปลูก สามารถลงทะเบียนได้ที่ https://docs.google.com/forms/d/15ml0i7FPytICen3hOZR7BBoAQKSHt32IbpvdAwMrz3U/edit?usp=drivesdk
...
กรวัฒน์ วีนิล