พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา ทำให้เด็กนักเรียนต้องเรียนผ่านระบบออนไลน์เป็นเวลานาน ส่งผลให้นักเรียนเกิดความเครียด โดยเฉพาะเด็กเล็ก ซึ่งไม่เหมาะกับการเรียนออนไลน์ รวมทั้งมาตรการการป้องกันตนเองต่างๆ เช่น การสวมหน้ากาก การเว้นระยะห่าง ทำให้เด็กเล็ก อายุก่อน 1 ปี ซึ่งต้องการการกอด การสัมผัสจากพ่อแม่ ญาติผู้ใหญ่ เพื่อสร้างความผูกพันและความมั่นคงทางจิตใจ ลดน้อยลงไป ขณะที่การสวมหน้ากากของผู้ใหญ่ก็ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ต่างๆของเด็กเล็ก 1-3 ปี ซึ่งการสอนเด็กๆผ่านการแสดงออกทางหน้าตาของผู้ใหญ่ เช่น การส่งเสียงจุ๊ๆ เพื่อห้ามปรามไม่ให้เด็กทำผิด เป็นการเรียนรู้ด้านคุณธรรมบางอย่าง เมื่อใส่หน้ากากอนามัย เด็กไม่เห็นหน้าและไม่เข้าใจการสอนดังกล่าว

“เด็กเล็กที่ต้องการการกอด การสัมผัส แม้เราจะมีคำแนะนำให้สวมหน้ากาก งดการสวมกอด แต่สำหรับเด็กเล็ก เราอาจกำหนดพื้นที่ปลอดโควิด หรือโควิดฟรีโซน โดยผ่อนปรนมาตรการต่างๆ โดยผู้ใหญ่ทุกคนในบ้านควรฉีดวัคซีน ตรวจ ATK บ่อยๆ เมื่อปลอดจากโควิดแล้วก็สามารถถอดหน้ากาก สวมกอดเด็กเล็กๆได้ เพื่อช่วยในการพัฒนาการของเด็กเล็กให้เหมาะสม” พญ.อัมพรกล่าว

พญ.อัมพรกล่าวต่อว่า ขณะที่เด็กโตที่อยู่ในวัยปีนป่าย สนามเด็กเล่นก็ถูกสั่งปิด เป็นต้น การให้เด็กเรียนผ่านออนไลน์ จึงเท่ากับเป็นการปิดประตูเรียนรู้ของเด็ก ส่วนเด็กโตถึงวัยรุ่นจากการประเมินสุขภาพใจของนักเรียน นักศึกษา ซึ่งที่ผ่านมาจะมีปัญหาเรื่องความรักและการเรียน หรือที่เรียกว่า เรียนตก-อกหัก แต่ช่วง 2 ปีของสถานการณ์โควิดพบว่า นักเรียนนักศึกษาเข้ามาประเมินแบบสอบถามด้านสุขภาพใจเพิ่มขึ้น 10 เท่า ส่วนใหญ่พบปัญหาการเรียนและปัญหาไม่เข้าใจกันกับพ่อแม่ เพราะผู้ใหญ่จะเคร่งเครียดกับปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อลูกหลานในครอบครัว สิ่งที่กรมสุขภาพจิตจะดำเนินการได้คือ การเข้าไปให้คำปรึกษา โดยเพิ่มคู่สายด่วนกรมสุขภาพจิต 1323 ใช้รถโมบายคลายเครียดให้คำปรึกษาทั้งเด็ก พ่อแม่ ผู้ปกครองในการปรับตัวเข้าหากัน.

...