ด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู เป็นอีกแมลงที่กำลังถูกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จับตามอง นี่จะเป็นแมลงเศรษฐกิจที่ทำเงินให้กับเกษตรกรได้จริง หรือเป็นแค่ธุรกิจต้มตุ๋นเกษตรกรแบบเดียวกับแชร์ลูกโซ่ ที่จะนำพามาซึ่งความเสียหายต่อพืชเศรษฐกิจได้

เพราะด้วงงวงมะพร้าว หรือด้วงสาคู ไม่ใช่แมลงที่ให้ตัวหนอนบริโภคได้เท่านั้น แต่เป็นแมลงศัตรูพืชที่ทำลายพืชจำพวกปาล์ม เช่น มะพร้าว สาคู ลาน ปาล์มน้ำมัน อินทผลัม ได้เช่นกัน

ถ้าเลี้ยงกันมาก และไม่มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ถูกต้อง เกิดแมลงเหล่านี้หลุดรอดออกมาสู่ธรรมชาติ จะสร้างปัญหาตามมามากมาย

ด้วยเหตุนี้ นายทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้มีคำสั่งกระทรวงฯ ที่ 819/2564 แต่งตั้งคณะทำงานบริหารจัดการด้วงงวงมะพร้าว (ด้วงสาคู) เพื่อศึกษาวิเคราะห์แนวทางและพิจารณาความเหมาะสมในการเลี้ยงควบคุมที่ถูกต้อง และกำหนดมาตรการ การบริหารจัดการ หาแนวทางการป้องกันการระบาดของด้วงงวงมะพร้าว

แม้เดิมด้วงงวงมะพร้าวจะมีเกษตรกรบางกลุ่มบางพื้นที่มีการเพาะเลี้ยงไว้บริโภคและขายในพื้นที่กันบ้าง แต่ยังไม่แพร่หลายเหมือนในปัจจุบัน อันสืบเนื่องมาจากสถานการณ์การระบาดของโควิด มีคนตกงานอพยพไปอยู่ในชนบทมากขึ้น นับแต่เดือน ก.พ.2564 เป็นต้นมา การเพาะเลี้ยงด้วงงวงมะพร้าวได้เพิ่มขึ้นกระจายไปในหลายพื้นที่ ด้วยมีการโพสต์แชร์ในสื่อออนไลน์ชวนให้เลี้ยงด้วงงวงมะพร้าว ได้ผลตอบแทนสูง ที่อาจจะมีการหลอกลวงเกษตรกรได้

...

จากการลงพื้นที่ตรวจสอบของคณะทำงานฯ พบว่า มีการทำธุรกิจนี้ด้วยกันใน 3 รูปแบบ และสิ่งที่น่าเป็นห่วงก็คือ ไม่มีตลาดอยู่จริง

การชักชวนในรูปแบบแรก...รับสมัครลูกฟาร์ม เกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยง ต้องเข้าอบรม ซื้ออุปกรณ์การเลี้ยง ซื้อพ่อแม่พันธุ์ และอาหารสำเร็จรูป รวมแล้วทั้งหมด 350 บาท เมื่อเลี้ยงไปแล้ว 30-40 วัน เมื่อได้ตัวหนอนมาทางบริษัทจะรับซื้อในราคา กก.ละ 300 บาท แต่จะรับซื้อหนอนจากผู้ที่ยอมจ่ายค่าอบรมเป็นลูกฟาร์มเท่านั้น

ปรากฏว่า เมื่อเอาหนอนไปขาย บริษัทที่รับซื้อไปแปรรูปทำเป็นหนอนกระป๋อง นำกลับมาขายให้คนเพาะเลี้ยงเอาไปขายต่อกันเอง นั่นแสดงว่าไม่มีตลาดรับซื้อจริง แถมยังปล่อยให้เลี้ยงกันในที่โล่ง พ่อแม่พันธุ์มีโอกาสบินเล็ดลอดออกจากกะละมังไปทำลายพืชเศรษฐกิจได้อีกต่างหาก

การชักชวนในรูปแบบที่ 2...ตั้งราคารับซื้อไว้ที่ กก.ละ 200 บาท แต่คนเลี้ยงจะเอาหนอนมาขายได้ จะต้องจ่ายเงินค่าซื้อสิทธิ์ในการขายก่อน...1 สิทธิ์ จ่ายก่อน 3,000 บาท จะมีสิทธิ์เอาหนอนด้วงงวงมะพร้าวได้ 20 กก. ถ้าอยากจะได้ 5 สิทธิ์ ขายได้ 100 กก. จ่ายก่อน 15,000 บาท

ปรากฏว่า เกษตรกรจ่ายเงินซื้อสิทธิ์ เอาไปขายมาแล้ว 4 รุ่น...ยังไม่ได้เงินสักบาท คนรับซื้อขอผัดผ่อนไปเรื่อย

รูปแบบที่ 3...หลอกให้เลี้ยงพ่อแม่พันธุ์แล้วเชิดเงินหนี โฆษณารับซื้อหนอนด้วงในราคา กก.ละ 150 บาท เมื่อเกษตรกรเอาไปขาย ได้เงินมาจริง แต่คนรับซื้อพัฒนาการชวนเชื่อไปอีกขั้น ให้เพาะเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์มาขายดีกว่า จะได้พ่อแม่พันธุ์ที่รับซื้อในราคาคู่ละ 8 บาท ดีกว่าขายเป็นหนอนที่ได้ราคาแค่ตัวละ 1 บาท (หนอนสาคู 1 กก. มีประมาณ 150 ตัว)

ปรากฏว่า เอาไปขาย 1-3 รอบได้เงินตามที่ตกลงไว้...เอาไปขายหนที่ 4 เชิดเงินหนีหายเข้ากลีบเมฆ

ณ วันนี้ คณะทำงานฯได้ข้อมูลจากการสำรวจเบื้องต้น พบว่า มีการเพาะเลี้ยงแบบนี้มากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ทั่วทั้งประเทศจะมีประมาณ 3 แสนกะละมัง คิดเป็นพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 1.5 ล้านตัว จะออกลูกหลานได้อีกเท่าไร

ในเมื่อเลี้ยงกันแล้วไม่มีตลาดรับซื้อที่แท้จริง...เกษตรกรต้องปล่อยทิ้ง แมลงเหล่านี้จะบินไปไหน อะไรจะเกิดกับสวนมะพร้าว สวนปาล์มน้ำมัน และสวนอินทผลัม.

...

ชาติชาย ศิริพัฒน์