ราชกิจจานุเบกษา เผยกฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วรถประเภทต่างๆ อีก 240 วันมีผลบังคับใช้ ระบุ ปรับให้สอดคล้องกับลักษณะของทางเดินรถ ประเภทของรถ สภาพของพื้นที่ และการจราจรในปัจจุบัน

วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฎกระทรวง กำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถ พ.ศ. 2564 ให้ไว้ ณ วันที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2564 ลงนามโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีเนื้อหาระบุว่า

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจราจรทางบก (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2562 และมาตรา 67 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 นายกรัฐมนตรีออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 240 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ข้อ 2 ให้ยกเลิก
(1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 6 (พ.ศ. 2522) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก
(2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2524) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก

ข้อ 3 ในกฎกระทรวงนี้

“เขตชุมชน” หมายความว่า พื้นที่ที่มีประชาชนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่นหรือมีการสัญจรของประชาชนจำนวนมาก หรือมีสถานศึกษา สถานพยาบาล หรือโครงการพัฒนาพื้นที่ หรือมีกิจกรรมที่ทำให้ประชาชนมารวมตัวกันเป็นจำนวนมากข้างเขตทาง ทั้งนี้ ตามที่หัวหน้าเจ้าพนักงานจราจรประกาศกำหนด

“เกาะกลางถนน” หมายความว่า เกาะที่ใช้กั้นกลางถนนเพื่อแบ่งทางเดินรถในทิศทางตรงข้ามกันซึ่งมีลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจนและมีความมั่นคงแข็งแรง เช่น เกาะกลางถนนแบบยก (Raised Median) เกาะกลางถนนแบบกดเป็นร่อง (Depressed Median) และเกาะกลางถนนแบบราวหรือกำแพง (Barrier Median) แต่ไม่หมายความรวมถึงเกาะกลางถนนแบบสีหรือตีเส้น

...

“ทางขนาน” หมายความว่า ทางเดินรถคู่ขนานซึ่งใช้เดินรถในทิศทางเดียวกันกับทางเดินรถหลักโดยมีสิ่งกั้นกลางระหว่างทางเดินรถคู่ขนานกับทางเดินรถหลัก ในลักษณะทางกายภาพที่ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการเป็นทางเข้าออก เชื่อม หรือผ่านทางเดินรถหลักหรือผ่านที่คับขันหรือเขตปลอดภัย

“ทางพิเศษ” หมายความว่า ทางพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย

“เครื่องหมายจราจร” ให้หมายความรวมถึง เครื่องหมายจราจรตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงด้วย

ข้อ 4 การขับรถในทางเดินรถที่อยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง หรือเขตชุมชน ให้ใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถจักรยานยนต์ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไปหรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(4) รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(5) รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(6) รถอื่นนอกจาก (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข้อ 5 การขับรถในทางเดินรถที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง และเขตชุมชน ให้ใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สี่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถจักรยานยนต์ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไปหรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(4) รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(5) รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(6) รถอื่นนอกจาก (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ข้อ 6 การขับรถในทางเดินรถที่อยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เขตเมืองพัทยา เขตเทศบาลนคร เขตเทศบาลเมือง และเขตชุมชน โดยทางเดินรถนั้นได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 2 ช่องขึ้นไปและมีเกาะกลางถนน ให้ใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น รถยนต์สื่ล้อเล็ก หรือรถยนต์สามล้อ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถจักรยานยนต์ ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่รถจักรยานยนต์ที่มีกำลังเครื่องยนต์ตั้งแต่ 35 กิโลวัตต์ขึ้นไปหรือมีขนาดความจุของกระบอกสูบรวมกันตั้งแต่ 400 ลูกบาศก์เซนติเมตรขึ้นไป ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกินหนึ่งร้อยกิโลเมตรต่อชั่วโมง
(4) รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(5) รถแทรกเตอร์ รถบดถนน หรือรถใช้งานเกษตรกรรมตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 45 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(6) รถอื่นนอกจาก (1) (2) (3) (4) และ (5) ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

...

ข้อ 7 การขับรถในทางเดินรถบนทางขนาน ไม่ว่าอยู่ในเขตใด ให้ใช้อัตราความเร็วตามที่กำหนดไว้ในข้อ 4

ข้อ 8 การขับรถในทางเดินรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถนั้นอยู่ในระดับเหนือหรือใต้พื้นดินหรือพื้นน้ำ ให้ใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น หรือรถยนต์สี่ล้อเล็ก ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(4) รถอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

ทั้งนี้ หากรถดังกล่าวอยู่ในทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ให้การขับรถในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น

ข้อ 9 การขับรถในทางเดินรถบนทางพิเศษ และทางเดินรถนั้นอยู่ในระดับพื้นดิน ให้ใช้อัตราความเร็ว ดังต่อไปนี้

(1) รถบรรทุกที่มีน้ำหนักรถเกิน 2,200 กิโลกรัม หรือรถบรรทุกคนโดยสารที่มีที่นั่งคนโดยสารเกิน 15 คน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(2) รถขณะที่ลากจูงรถอื่น หรือรถยนต์สี่ล้อเล็ก ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(3) รถโรงเรียนหรือรถรับส่งนักเรียน ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
(4) รถอื่นนอกจาก (1) (2) และ (3) ให้ใช้อัตราความเร็วไม่เกิน 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง

...

ทั้งนี้ หากรถดังกล่าวอยู่ในทางเดินรถที่ได้จัดแบ่งช่องเดินรถในทิศทางเดียวกันไว้ตั้งแต่ 3 ช่องขึ้นไป ให้การขับรถในช่องเดินรถช่องขวาสุด ต้องใช้ความเร็วไม่ต่ำกว่า 90 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เว้นแต่ในกรณีที่ช่องเดินรถนั้นมีข้อจำกัดด้านการจราจรหรือทัศนวิสัย มีสิ่งกีดขวาง หรือมีเหตุขัดข้องอื่น

ข้อ 10 ในกรณีที่มีการออกกฎกระทรวงตามกฎหมายว่าด้วยทางหลวงหรือกฎหมายว่าด้วยการทางพิเศษแห่งประเทศไทย เพื่อกำหนดอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถหรือช่องเดินรถบนทางหลวงหรือทางพิเศษ แล้วแต่กรณี ไว้เป็นการเฉพาะ ให้การขับรถในทางเดินรถหรือช่องเดินรถดังกล่าว ใช้อัตราความเร็วตามที่กฎกระทรวงนั้นกำหนด

ข้อ 11 ในเขตทางที่มีเครื่องหมายจราจรแสดงว่าเป็นเขตอันตราย หรือเขตให้ขับรถช้า ให้ลดความเร็วลงและเพิ่มความระมัดระวังขึ้นตามสมควร

ข้อ 12 ในกรณีที่ทางเดินรถหรือช่องเดินรถใดมีเครื่องหมายจราจรกำหนดอัตราความเร็ว
ต่ำกว่าที่กำหนดในกฎกระทรวงนี้ ให้การขับรถในทางเดินรถหรือช่องเดินรถนั้นใช้อัตราความเร็วไม่เกินที่เครื่องหมายจราจรดังกล่าวกำหนด

ในช่วงท้ายระบุหมายเหตุด้วยว่า เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงอัตราความเร็วสำหรับการขับรถในทางเดินรถให้สอดคล้องกับลักษณะของทางเดินรถ ประเภทของรถ สภาพของพื้นที่ และการจราจรในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดความสะดวกและความปลอดภัยในการใช้รถและประชาชนผู้ใช้ทาง จึงจำเป็นต้องออกกฎกระทรวงนี้.