ดร.ภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค รักษาการรองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เด็กนักเรียนทั่วโลกต้องหยุดเรียน เกิดปัญหาช่องว่างการเรียนรู้ทั่วโลก ซึ่งแต่ละประเทศมีแนวทางรับมือและนโยบายระดับชาติในการแก้ไขปัญหา เพื่อลดช่องว่างการเรียนรู้ที่แตกต่างกันออกไป เช่น ประเทศอังกฤษ มีการจัดตั้งกองทุนประมาณ 1 พันล้านปอนด์ ภายใต้ชื่อ “Educational Catch-Up Initiatives” เพื่อให้โรงเรียนได้นำไปใช้ช่วยเหลือนักเรียนให้สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ และสนับสนุนให้โรงเรียนร่วมโครงการจ้างติวเตอร์พิเศษเพื่อช่วยเหลือนักเรียนที่ประสบปัญหาช่องว่างการเรียนรู้ ให้สามารถเรียนได้ทันเพื่อน

ประเทศเวลส์ ใช้วิธีรับสมัครครูเพิ่ม 600 คน และผู้ช่วยสอนจำนวน 300 คน เพื่อรองรับการช่วยเหลือนักเรียนในการฟื้นฟูทักษะการเรียนรู้ให้สามารถกลับมาเรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประเทศอินเดีย จัดโครงการ Teaching at the right level (TaRL) หรือ การสอนให้ตรงกับระดับ โดยให้ครูที่เป็นอาสาสมัครของโครงการฟื้นฟูการเรียนรู้ให้เด็กกลับมาอยู่ในระดับที่ควรจะเป็นและเรียนได้ทันคนอื่นๆ

ดร.ภูมิศรัณย์กล่าวต่อว่า สำหรับประเทศไทยมีเครื่องมือลดช่องว่างการเรียนรู้ที่โรงเรียนหลายแห่งได้นำไปปรับใช้และเห็นผลสำเร็จ คือ นวัตกรรม Learning Box หรือชุดกล่องการเรียนรู้ ที่ได้รับการออกแบบขึ้นเพื่อช่วยสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ลดข้อจำกัดด้านอุปกรณ์และสัญญาณอินเตอร์เน็ต โดยเฉพาะกลุ่มเด็กพื้นที่ห่างไกล..