ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ณ นาทีนี้คือ ชื่อที่คนส่วนใหญ่ของประเทศคุ้นหูและรู้จักกันเป็นอย่างดี นับจากวันที่ 7 มิ.ย. ที่รัฐบาลประกาศคิกออฟ เพื่อปูพรมฉีดวัคซีนโควิด-19 ทั่วประเทศ และประกาศให้การฉีดวัคซีนเป็นวาระแห่งชาติ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ก็ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของประเทศในการรณรงค์การฉีดวัคซีนให้กับคนไทย ภายใต้การบริหารจัดการของ กรมการแพทย์ โดย สถาบันโรคผิวหนัง พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนังรับ หน้าที่ผู้อำนวยการศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ
“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอฉายภาพการดำเนินงานของศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อตั้งแต่เริ่มจัดตั้ง โดยศูนย์นี้มีจุดเริ่มต้นมาจากการที่กระทรวงคมนาคม โดย นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ขอความร่วมมือจากกระทรวงสาธารณสุข ให้ช่วยฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับบุคลากรของกระทรวงคมนาคม ผู้บริการขับรถขนส่งสาธารณะ ตั้งแต่เดือน พ.ค.64 เป็นต้นมา ต่อมา นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข เห็นสถานที่จึงมีแนวคิดที่จะใช้พื้นที่นี้เปิดให้บริการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลให้เข้าถึงวัคซีนได้สะดวก และช่วยลดความแออัดในสถานพยาบาล โดยมอบหมายให้ กรมการแพทย์ สถาบันโรคผิวหนัง เข้ามารับหน้าที่บริหารจัดการและร่วมมือกับ 4 เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ได้แก่ ดีแทค เอไอเอส ทรู และ บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดให้ประชาชนจองคิวเข้ามาฉีดวัคซีน หากนับจากวันแรกที่เริ่มฉีดคือวันที่ 24 พ.ค.จนถึงวันที่ 19 พ.ย. เป็นเวลารวม 180 วัน
...
“วันที่ 19 พ.ย. คือวันที่ศูนย์เรามียอดฉีดวัคซีนครบ 3 ล้านโดส ช่วงแรกๆมีปัญหาเรื่องบุคลากรเนื่องจากสถาบันโรคผิวหนัง มีบุคลากรเพียง 400 คน ต้องแบ่งมาช่วยงานที่ศูนย์ฯบางซื่อ วันละ 200คน โดยมีจุดฉีด 100 จุด ก็ต้องมีแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ช่วยที่จุดฉีด,จุดคัดกรอง จุดลงทะเบียน จุดสังเกตอาการ เฉลี่ยต้องใช้คนวันละ 400คนจึงต้องแสวงหาความร่วมมือจากหน่วยงานอื่นๆให้ส่งคนมาช่วย ก็ได้รับความร่วมมืออย่างดีจาก สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี สถาบันทันตกรรม วิทยาลัยพยาบาล แพทย์พยาบาลจากกระทรวงกลาโหม ช่วงที่มีคนแออัดด้านนอกอาคาร ก็ได้รับการแก้ไขจาก รมว.คมนาคม นำเก้าอี้มาให้ประชาชนนั่งรอ แทนที่จะยืนรอ เพราะทำให้การเว้นระยะห่างไม่ค่อยได้ ก็ช่วยแก้ปัญหาความแออัดด้านนอกอาคารไปได้ ส่วนด้านในอาคารไม่มีปัญหาความแออัด บางวันก็มีจิตอาสา มีเล่นดนตรี ให้ผู้พักคอยสังเกตอาการได้ผ่อนคลาย” พญ.มิ่งขวัญ เล่าย้อนถึงภาพในอดีตจนถึงเวลาปัจจุบัน
เมื่อถามถึงสิ่งที่บุคลากรของสถาบันโรคผิวหนังได้เรียนรู้ในครั้งนี้ พญ.มิ่งขวัญ กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ของเราเติบโตชั่วข้ามคืนเลยทีเดียว ทั้งวุฒิภาวะด้านอารมณ์และการจัดการ เพราะแต่ละวันจะมีปัญหาเข้ามาให้แก้ ซึ่งเราจะไม่มองว่าเป็นปัญหา แต่จะมองว่าสิ่งนั้นคือความท้าทาย โดยมอบหมายให้มีคนตัดสินใจประจำแต่ละประตูทางเข้าของผู้มาใช้บริการเรียกว่า 4 สาวดาวเต้น กับ 1 หนุ่มนักร้อง และจะบอกเจ้าหน้าที่ทุกคนให้อดทนและเฝ้ารอ หลังฉีดวัคซีนตัวเลขผู้ป่วยหนัก ผู้เสียชีวิตจะลดลงอย่างที่เราตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่ เมื่อถึงวันนี้ตัวเลขผู้ป่วยหนักลด ผู้เสียชีวิตลดลงทุกคนที่ทำงานที่ศูนย์ก็รู้สึกภาคภูมิใจว่าได้ทำงานอะไรบางอย่างเพื่อประเทศชาติ เมื่อทุกคนมีเป้าหมายที่ชัดเจนก็จะไม่ท้อถอยพร้อมทำงานหนักไม่มีวันหยุด ส่วนตัวหมอเองก็เติบโตประสบการณ์ที่เรียนรู้จากศูนย์วัคซีนนี้มากมาย ถ้าอยู่ที่สถาบันโรคผิวหนังก็ได้เรียนรู้การจัดการแต่อาจใช้เวลา 3-5 ปีก็ได้
“ช่วงเดือน พ.ย.ถึงต้นเดือน ธ.ค. จะเปิดฉีดวัคซีนเข็มที่ 1 ให้กับทุกคนที่อยู่บนแผ่นดินไทยทั้งคนไทย คนต่างชาติ แรงงานต่างด้าวทั้งที่ถูกกฎหมายและยังไม่ได้ขึ้นทะเบียน โดยขอให้ลงทะเบียนจองคิวผ่าน4 เครือข่ายโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะได้คิวอาร์โค้ดและเวลาฉีด และขอให้มาตามเวลานัด ถ้าเป็นคนไทยเมื่อแสดงคิวอาร์โค้ดแล้ว ก็จะไปที่จุดฉีดวัคซีนได้เลย และนั่งรอสังเกตอาการ รวมใช้เวลาไม่เกิน 42 นาที ส่วนคนต่างชาติ แรงงาน ก็ต้องผ่านจุดลงทะเบียนก่อน เพื่อกำหนดเลขกลาง สำหรับลงระบบหมอพร้อมให้เราได้ติดตามอาการ ก็จะใช้เวลาเล็กน้อย โดยแต่ละวันศูนย์ฯ เตรียมให้บริการวันละ 3 หมื่นคน และจะมีกิจกรรมสนุกๆจาก 4 เครือข่ายมาแจกของที่ระลึกด้วย
...
จากนั้นเดือน ธ.ค. ก็จะเป็นช่วงการให้เข็มกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยวัคซีนแอสตราเซเนกา หรือไฟเซอร์ สำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตายจากทุกศูนย์ฉีด โดยจะฉีดวันละ 15,000คน ส่วนปี 2565 ก็จะเริ่มเป็นเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่จะครบ 6 เดือน ก็คาดว่าจะให้บริการไปจนถึงกลางปี ประมาณเดือน พ.ค.–มิ.ย.65” ผอ.ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ เล่าถึง แผนปฏิบัติการจัดการฉีดวัคซีนของศูนย์ฯ ปลายปี 2564 รวมไปถึงปี 2565
พญ.มิ่งขวัญ ยังกล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า หมอขอให้กำลังใจพี่น้องประชาชนทุกคน เพราะเราผ่านวิกฤติมานาน และหนักหนาสาหัสพอควร อยากให้ทุกคนฮึบๆ และเข้มแข็งกันต่อไป ทางออกก็อยู่ไม่ไกลแล้ว และให้สัญญาในฐานะบุคลากรทางการแพทย์ และผู้บริหารศูนย์วัคซีนฯ หมอและเจ้าหน้าที่ทุกคนจะทำหน้าที่ทุกอย่างให้ดีที่สุด มีประสิทธิภาพที่สุด ไม่ใช่สักแต่ว่าทำไปวันๆ เราจะทำให้ดีที่สุด นี่คือความในใจของหมอและเจ้าหน้าที่ทุกคนในศูนย์นี้
“ทีมข่าวสาธารณสุข” ขอเป็นหนึ่งในกำลังใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทุกศูนย์ฉีดวัคซีน ในการช่วยชาติฝ่าวิกฤติโควิด-19
...
ขณะเดียวกันเราคงต้องฝากทุกคนในสังคมไทยด้วยว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศให้ได้ 100 ล้านโดสในเดือน พ.ย. จะเป็นจริงได้ ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนไทยทุกคน ทุกเข็มที่ฉีดมีความหมาย เพราะนั่นคือการสร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อให้เราเปิดประเทศ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ให้ทุกคนได้ลืมตาอ้าปาก เพื่อสังคมไทยจะได้สามารถตื่นขึ้นจากฝันร้าย ที่ใช้เวลายาวนานกว่า 2 ปีแล้วกันได้เสียที...
ทีมข่าวสาธารณสุข