การถือกำเนิดขึ้นของสถาบันการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของไทย จากการริเริ่มของ กลุ่ม ปตท. ภายใต้ชื่อ สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ซึ่งให้การศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษา และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ผ่านการตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ นับเป็นความท้าทายในการจัดการเรียนสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในประเทศไทยอย่างมาก ขณะเดียวกันความสำเร็จของนักเรียนและบัณฑิตในแต่ละรุ่นที่ผ่านมา ก็เป็นเครื่องยืนยันได้ถึงแนวทางที่เป็นรูปธรรมเพื่อการวางฐานรากที่แข็งแกร่งให้แก่ประเทศได้ด้วย

ยกระดับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ด้วยการศึกษาที่ตรงจุด

ด้วยตระหนักว่าองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประตูสำคัญอีกบานหนึ่งที่จะนำพาประเทศชาติไปสู่ความก้าวหน้าที่ยั่งยืนขึ้น กลุ่ม ปตท. จึงมุ่งมั่นยกระดับขีดความสามารถในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีพื้นที่ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ เป็นศูนย์กลางในการสร้างสรรค์องค์ความรู้เหล่านั้น เพื่อขยายผลไปยังภาคส่วนอื่นของประเทศด้วย ซึ่งความตั้งใจจริงนี้ได้นำไปสู่การยกระดับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านจัดตั้ง โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) ซึ่งให้การศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในระดับบัณฑิตศึกษา (ปริญญาโทและปริญญาเอก) ขึ้นเมื่อปี พ.ศ 2558 พร้อมตั้งมั่นที่จะให้ทั้งสองสถาบัน เป็นมากกว่าต้นแบบของการให้การศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่คือการสร้างผลิตผลทางการศึกษาที่หมายถึงทรัพยากรบุคคลที่มีคุณค่าต่อการพัฒนาประเทศ

โรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) จึงกำเนิดขึ้นผ่านแนวคิดและความมุ่งมั่นนี้ โดยตลอดระยะเวลาที่เปิดดำเนินการมา 7 ปี มีนักเรียนสำเร็จการศึกษาไปแล้ว 4 รุ่น รวม 280 คน ซึ่งสามารถไปศึกษาต่อทางด้านสะเต็มศึกษาในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั้งในและต่างประเทศ จำนวน 174 คน และได้รับทุนไปศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด 100 ลำดับแรกของโลกจำนวน 83 คน ในขณะเดียวกันก็ยังมีผลงานวิจัยที่ได้ขอจดอนุสิทธิบัตรจำนวน 2 เรื่อง จดสิทธิบัตรจำนวน 1 เรื่อง และตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการจำนวน 11 เรื่อง และในปี 2563 นี้ มีนักเรียนสำเร็จการศึกษา จำนวน 76 คน โดยสามารถเข้าศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยชั้นนำต่างประเทศ จำนวน 22 คน ศึกษาต่อระดับปริญญาตรีในมหาวิทยาลัยชั้นนำในประเทศ 54 คน นับเป็นความสำเร็จอีกขั้นของการส่งเสริมการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

เช่นเดียวกันกับการก่อตั้ง สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ที่มุ่งเน้นการสร้างนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ โดยความมุ่งมั่นของกลุ่ม ปตท. พร้อมผสานความร่วมมือกับองค์กรชั้นนำระดับประเทศ ทั้งธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผ่านการเรียนการสอนในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก (หลักสูตรนานาชาติ) เปิดสอนใน 4 สำนักวิชา ได้แก่ สำนักวิชาวิทยาการโมเลกุล, สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน ซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่ม ปตท. สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมชีวโมเลกุล ผ่านสนับสนุนการจัดตั้งโดยธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ สำนักวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ สนับสนุนการก่อตั้งโดยธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ทั้งนี้สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ได้ทำการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เพื่อให้นิสิตสามารถทำงานวิจัยเชิงลึก สร้างองค์ความรู้ใหม่ที่เป็นงานวิจัยชั้นแนวหน้าในระดับสากล อันจะเป็นฐานรากที่แข็งแกร่งด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในอนาคตด้วย พร้อมกันนั้นยังมีศูนย์วิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีชั้นแนวหน้า (Frontier Research Center: FRC) ที่เป็นกลไกสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยด้วย

ผลิตผลจากการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

สำหรับปีการศึกษา 2563 นี้ มีผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันวิทยสิริเมธี จำนวนทั้งสิ้น 17 ราย แบ่งเป็นระดับปริญญาเอก จำนวน 13 ราย และระดับปริญญาโท จำนวน 4 ราย โดยได้เข้ารับพระราชทานปริญญาบัตรจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ วังจันทร์วัลเลย์ โดยมีนิสิตที่มีผลการเรียนดีเยี่ยมจากสถาบันฯ จำนวน 6 ราย เข้ารับพระราชทานทุนการศึกษา “ศรีเมธี” โดยบัณฑิตผู้สำเร็จการศึกษาในปีการศึกษา 2563 นี้ ปัจจุบันยังทำหน้าที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย วิศวกร และตำแหน่งอื่นๆ ที่สำคัญของบริษัทในกลุ่ม ปตท. รวมถึงบริษัทเอกชนชั้นแนวหน้าของไทยและต่างชาติ ในโอกาสเดียวกันนี้ผู้แทนนักเรียนโรงเรียนกำเนิดวิทย์ที่สำเร็จการศึกษา รุ่นที่ 4 ยังเข้ารับพระราชทานประกาศนียบัตรสำเร็จการศึกษาอีกด้วย

สำหรับ สถาบัน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) นอกจากผลิตบัณฑิตที่มีความรู้ความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว ก็ยังผลิตผลงานวิจัยในด้าน Chemical Sciences คิดเป็นกว่าร้อยละ 53 ของผลงานวิจัยภายในประเทศ ซึ่งล้วนแต่เป็นผลงานมีความความโดดเด่นทั้งด้านคุณภาพ (High Quality) และด้านผลกระทบต่อวงการวิชาการ (High Impact Discoveries) ในระดับสูงทั้งสิ้น ทำให้ปัจจุบันสถาบันฯ ได้รับการจัดอันดับโดย Nature Index ขึ้นเป็นอันดับที่ 1 ของประเทศไทยในการสร้างสรรค์ผลงานวิจัย “ชั้นเลิศ” ทั้งในด้านเคมี (Chemistry) ด้านวิทยาศาสตร์กายภาพ (Life Sciences) และด้านวิทยาศาสตร์แบบรวมทุกสาขา (All Sciences) และอันดับที่ 3 ของกลุ่มประเทศอาเซียนในด้านเคมี (Chemistry) อีกด้วย (โดยอันดับที่ 1 และ 2 เป็นมหาวิทยาลัยจากประเทศสิงคโปร์, ข้อมูล ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564) นับเป็นความสำเร็จจากความมุ่งมั่นหนึ่งของกลุ่ม ปตท. เช่นกัน

นอกจากนี้ ความตั้งใจจริงต่อการส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ยังนำไปสู่การเปิด ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. อย่างเป็นทางการขึ้น บนพื้นที่กว่า 44 ไร่ ณ วังจันทร์วัลเลย์ เพื่อดำเนินกิจกรรมด้านการวิจัย พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำหรับใช้ประโยชน์จริงในเชิงพาณิชย์ ทั้งในอุตสาหกรรมพลังงานและอุตสาหกรรมอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา สถาบันวิจัย และหน่วยงานในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation หรือ EECi) ซึ่งภายในศูนย์วิจัยฯ ประกอบไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกและอุปกรณ์ที่ทันสมัย เพื่อให้นักวิจัยสามารถประเมินประสิทธิภาพ ปรับปรุงแก้ไขผลงาน ก่อนนำไปใช้งานจริง อาทิ อาคารทดสอบต้นแบบ (Pilot Area Building) สนามทดสอบอากาศยานไร้คนขับ (UAV Test Field) ลานจอดเฮลิคอปเตอร์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (Exploration and Production Research Facility) ศูนย์ฝึกอบรม ตลอดจนพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอุปกรณ์และเมืองอัจฉริยะ (Smart Facility/ City Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology Research Facility) ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีพลังงานทางเลือก (Future Energy Technology Research Center) และศูนย์ความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม (Joint Industry Collaboration Center) โดยพร้อมสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาร่วมกับองค์กรภาครัฐ เอกชน เอสเอ็มอี และสตาร์ทอัพ และส่งเสริมให้พันธมิตรสามารถใช้ประโยชน์จาก PTIC เพื่อร่วมผลักดันนวัตกรรมแห่งอนาคตไปด้วยกัน

การสนับสนุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทั้งจากการให้กำเนิด สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และโรงเรียนกำเนิดวิทย์ (KVIS) รวมถึงศูนย์วิจัยฯ ต่างๆ เพื่อส่งเสริมการศึกษาและพัฒนานวัตกรรม นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางหนึ่งที่มีคุณค่ามากในวันนี้ และอนาคตเราจะมีโอกาสได้เห็นประเทศไทยก้าวหน้าไกลบนเส้นทางสายนี้มากกว่าที่เคย