“เราทุกคนไม่มีแผนสองในเรื่องของการรักษาเยียวยาสภาพภูมิอากาศ เพราะเราจะไม่มีโลกที่สองซึ่งจะเป็นบ้านของพวกเราได้เหมือนโลกนี้อีกแล้ว” คำกล่าวอันหนักแน่นของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บนเวที COP26 สหประชาชาติ ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ เมื่อไม่นานมานี้

นายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุมเมื่อ 1 พ.ย.64 ว่า “ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทางเพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2065

...และด้วยการสนับสนุนทางด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียมสามารถยกระดับ NDC (แผนปฏิบัติการ) ขึ้นเป็นร้อยละ 40 ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050”

อาจารย์สนธิ คชวัฒน์ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ชมรมนักวิชาการสิ่งแวดล้อมไทย บอกว่า อีก 30 ปีข้างหน้าไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นกลางหรือเป็นศูนย์...แต่ดูจากนโยบายแล้วยากที่จะเป็นจริง? รายงานของ สผ. (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) ระบุ...

...

ไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปี 2559 ถึง 354 ล้านตัน CO2 ขณะที่ป่าไม้ดูด CO2 ได้เพียงประมาณ 91 ล้านตัน โดยภาคพลังงานปล่อยออกมามากที่สุดถึง 263 ล้านตัน CO2 (ในปี 2561) คิดเป็นร้อยละ 74 โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 ต่อปีทุกปี “CO2”...มาจากการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน ก๊าซธรรมชาติถึงร้อยละ 38

รองมาคือ “อุตสาหกรรม” และ “ขนส่ง” ร้อยละ 28 และ 27 ตามลำดับ จากการคำนวณโดยองค์การก๊าซเรือนกระจกพบว่า หากจะให้เป็น Net Zero ของ CO2 ในปีที่ว่า...ภาคพลังงานต้องลดก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ปีละ 86 ล้านตัน...และป่าไม้ต้องดูด CO2 ให้ได้ปีละ 120 ล้านตัน

กล่าวคือ...ต้องเพิ่มต้นไม้เพื่อดูด CO2 จากที่มีอยู่แล้วให้ได้ปีละ 29 ล้านตัน

ให้รู้อีกว่า...“ต้นไม้ใหญ่” สามารถดูด CO2 ได้ไม่เกิน 6.09 ตัน CO2 ต่อไร่ต่อปี (งานวิจัย) ดังนั้นจึงต้องปลูกต้นไม้ให้ได้ 4.7 ล้านไร่ต่อปีทุกปี

สำหรับภาค “พลังงาน” ต้องปฏิรูปใหม่ทั้งหมดคือ...ต้องใช้พลังงานทางเลือกให้ได้มากกว่าร้อยละ 50 และยานพาหนะต้องเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าทั้งหมด ต้องยกเลิกการใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ใช้ก๊าซธรรมชาติน้อยลง ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ให้มาก ลดการเกิดขยะหรือนำมาใช้ซ้ำและรีไซเคิล
ให้มากที่สุด

รวมทั้งต้องไม่ให้เกิดการเผาป่า การเผาในที่โล่งทุกแห่ง ส่วนสภาพแวดล้อมของเมืองต้องทำให้เป็นเมือง “สังคมคาร์บอนต่ำ” หรือ “Low carbon society” ให้มากที่สุด

เมื่อประเทศไทยไปแถลงให้สัญญาต่อนานาชาติแล้วจึงเป็นการผูกมัดที่ต้องทำให้ได้ภายใน 30 ปี...ซึ่งหากดูจากแผนปฏิบัติและการทำงานจริงแล้วในสภาพปัจจุบันแทบไม่มีทางเป็นไปได้เลย

ทั้งขาดการส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถยนต์ไฟฟ้าซึ่งยังมีราคาแพงมากและไม่มีสถานีเติมไฟระหว่างทาง, ถ่านหินยังเป็นสินค้าราคาถูกที่รัฐบาลยังส่งเสริมให้ใช้อยู่, การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนยังน้อยมาก รวมทั้ง รัฐยังส่งเสริมการกำจัดขยะที่ปลายทางทั้งเผาและฝังมากกว่าการจัดการที่ต้นทาง

เช่น ไม่มีกฎหมายกำหนดให้ประชาชนแยกขยะที่ต้นทางเพียงแค่ขอความร่วมมือ นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเพียงแต่เปลี่ยนชื่อเป็นเศษพลาสติกแทน

เรื่อง “สิ่งแวดล้อม” เป็นปัญหาสำคัญของ “โลก” และ “ประเทศไทย” ไม่เว้นแม้แต่เงื่อนปัญหาสำคัญที่ต้องไม่ปล่อยผ่าน กรณีตัวอย่างล่าสุด... “กากอุตสาหกรรม” ที่ลพบุรีถูกปล่อยปละละเลย

...

ประเด็นแรก...การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมมากกว่า 500 ถังในที่ดินของเอกชน ที่ตำบลดีรัง อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี ที่เกิดขึ้นเมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 จนถึงปัจจุบัน (10 พ.ย.64)

น่าสนใจว่า...ยังไม่มีการจัดการขนย้ายออกไปกำจัดแต่อย่างใด ปล่อยให้ฝนที่ตกหนักชะล้างน้ำมันและสารเคมีลงไปปนเปื้อนแหล่งน้ำที่อยู่ใกล้เคียงและซึมลงไปในดินซึ่งคาดว่ามีผลกระทบต่อน้ำใต้ดินเป็นวงกว้างอย่างแน่นอน...ใครจะรับผิดชอบ

ถัดมา...กรมโรงงานแจ้งความดำเนินคดีต่อเจ้าของที่ดินในข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับใบอนุญาต รวมทั้งดำเนินคดีฐานตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตเนื่องจากมีรถแบ็กโฮเกิน 50 แรงม้าทำงานในพื้นที่รวมทั้งดำเนินคดีกับรถขนกากของเสียมาทิ้งจำนวน 2 คัน ขนมา 6 เที่ยว

แต่...ยังจัดการกับโรงงานที่เป็นต้นตอที่ให้มาทิ้งไม่ได้เนื่องจากยังสาว ไปไม่ถึง?

สาม...การจัดการของหน่วยงานราชการขาดความกระตือรือร้นปล่อยให้ปัญหายืดเยื้อ ผลที่ตามมาคือสิ่งแวดล้อมทั้งน้ำ ดิน ระบบนิเวศใกล้เคียง ถูกทำลาย...

การรวบอำนาจในการจัดการกากอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางของกรมโรงงานโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน...องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทำให้มีความยากลำบากในการแก้ไขปัญหา

...

“การกระจายความรับผิดชอบและอำนาจให้ท้องถิ่นในเรื่องการจัดการกากอุตสาหกรรม โดยให้เป็นหน่วยเฝ้าระวัง...ตรวจสอบรถที่ขนส่งกากฯจะทำให้ประชาชนมั่นใจมากยิ่งขึ้น...”

ฉายภาพต่อเนื่องประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมกับแก้ปัญหากันแบบวัวหายล้อมคอก ไม่เว้นแม้แต่เหตุที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง อย่างกรณีเย็นวันที่ 7 พ.ย.64 เกิดไฟไหม้หนักโรงงานรีไซเคิลผลิตภัณฑ์พลาสติกและกระดาษ บริษัท พลัส พรอสเตอร์ จำกัด อยู่เลขที่ 88 หมู่ที่ 7 ตำบลมะขามคู่ อำเภอนิคมพัฒนา จังหวัดระยอง

ผลิตพลาสติกรีไซเคิล เม็ดหลอม เศษบด ประเภท HD, PP, PE, EVA, PET, PVC, ABS, HI, AS, PS...ใช้วัตถุดิบจากพลาสติกรีไซเคิล, เศษพลาสติก, เม็ดพลาสติก PP, PE, HDPE, LLDPE, ABS, HI, PS, AS

มลพิษทางอากาศที่ปล่อยออกมาจาก “ไฟไหม้” คือ “ควันดำ” หรือ ฝุ่น 2.5, ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์, ก๊าซคลอรีน, ไอระเหยของสารอินทรีย์ประเภทสารอะคริโลไนไตรล์ สไตรีน บิวทาไดอีน ซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพอย่างมาก สารบางตัวเป็นสารก่อมะเร็งหากได้รับเข้าไปมากๆ มีอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนของโลหิต จึงต้องออกห่างจากแหล่งที่ไฟไหม้ดังกล่าวให้มากที่สุด

...

“โลกร้อน...ภัยพิบัติ หายนะของโลก จะแก้ไขอยู่ที่ความจริงใจของผู้นำ”

“ประเทศไทย” ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากเป็นอันดับ 20 ของโลก หรือ 0.8% (สิ้นปี 61) และจะนำเสนอเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการประชุมครั้งนี้ลง 20-25% (จากปี 2548) ภายในปี 2573 โดยลดจากภาคพลังงาน การขนส่ง การเกษตร อุตสาหกรรม เป็นต้น

“เราจะทำได้หรือไม่อยู่ที่วิสัยทัศน์ นโยบาย ความจริงใจของผู้นำ ความร่วมมือกับภาคเอกชนและประชาชน แต่ในระยะเวลาอันใกล้รัฐต้องจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นต้นเหตุของก๊าซเรือนกระจกก่อน”

ไม่ว่าจะเป็น...ขยะที่กองเป็นภูเขาตามท้องถิ่นต่างๆ การนำเข้าเศษพลาสติกจากต่างประเทศ การลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม รถยนต์ปล่อยควันดำ รถไฟใช้น้ำมันดีเซล โรงงานที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง การลักลอบเผา...ตัดไม้ทำลายป่า รวมทั้งการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ในพื้นที่การเกษตร การทำการเกษตรแบบน้ำขัง

ไม่ว่าปัจจุบันหรืออนาคต... “สิ่งแวดล้อม” เป็นปัญหาสำคัญ ต้องแก้เร่งด่วน อย่างจริงจัง.