รศ.ดร.ประพันธ์ศิริ สุเสารัจ กรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เปิดเผยว่า คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษา เห็นความสำคัญของกระบวนการผลิตครูที่มีคุณภาพ เนื่องจากครูคือตัวชี้วัดคุณภาพการศึกษาของประเทศ จึงได้ขับเคลื่อนปฏิรูปกลไกและระบบการผลิตและพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีคุณภาพมาตรฐาน 3 กลไก ได้แก่ 1.กระบวนการคัดเลือกนิสิตนักศึกษาครูที่มีประสิทธิภาพ 2.หลักสูตรการผลิตครูที่เป็นเลิศ โดยสถาบันผลิตครูต้องพัฒนาปรับปรุงหลักสูตรการผลิตครูตามสาขาวิชาและบริบทพื้นที่ที่มีการฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู และระบบนิเทศการศึกษา โดยเฉพาะการสอนงานครูพี่เลี้ยงที่มีประสิทธิภาพ 3.สถาบันผลิตครูมีมาตรฐานตามตัวชี้วัด ต้องกำหนดสมรรถนะและพัฒนามาตรฐานสถาบันการผลิตครู เพื่อให้มีคุณสมบัติเพียงพอที่จะเป็นแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู

“การผลิตและพัฒนาครูไทยปัจจุบันมีปัญหาทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ แต่ละสถาบันมีมาตรฐานและกระบวนการผลิตครูที่แตกต่างและไม่เท่าเทียมกัน ทั้งมีจำนวนมาก ส่วนใหญ่มักเปิดหลักสูตรเพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาที่มีความซ้ำซ้อนกัน ทำให้บัณฑิตครูมีจำนวนมากเกินกว่าความต้องการ จากรายงานผลการสอบบรรจุบุคคลเข้ารับราชการครู ปี พ.ศ.2563 พบว่า มีผู้สมัครและมีสิทธิ์สอบ 157,314 คน จากความต้องการ 18,987 คน และมีผู้สอบได้เพียง 10,375 คน หรือร้อยละ 6.8 ทำให้ผู้ที่ได้รับการคัดเลือกไปบรรจุ มีเพียงร้อยละ 55 เท่านั้น แสดงถึงความสูญเปล่าทางการศึกษาอย่างมาก” รศ.ดร.ประพันธ์ศิริกล่าว

รศ.ดร.ประพันธ์ศิริกล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องความไม่แน่นอนและต่อเนื่องของนโยบายและหลักสูตร เช่น การจัดหลักสูตรครู 4 ปี และ 5 ปี จากผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) พบว่าจำนวนปีไม่มีผลต่อคุณภาพบัณฑิต แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่กระบวนการผลิต อาทิ โครงการเพชรในตม หลักสูตร 4 ปี จำนวน 22 รุ่น และหลักสูตร 5 ปี จำนวน 6 รุ่น ที่แสดงให้เห็นว่าคุณภาพบัณฑิตไม่แตกต่างกัน ทั้งครู ผู้ปกครอง และผู้เรียนส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยกับหลักสูตรครู 4 ปี เนื่องจากการเรียน 5 ปี ส่งผลให้ทุกฝ่ายต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ครูและบุคลากรทางการศึกษาจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับสังคมโลกยุคใหม่ สถาบันผลิตครูต้องปรับบทบาทการผลิตครูให้มีสมรรถนะสูงและตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ด้วยการปรับปรุงหลักสูตรและกระบวนการผลิตครูให้เหมาะกับสถานการณ์และยุคสมัย.

...