ประเด็นร้อนต้องจับตา “การพิจารณา ห้ามนำเข้าเศษพลาสติก” ที่ถูกขยายออกไปอีก 60 วันหลังจาก “คณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์” ตั้งคณะทำงาน แสวงหาคำตอบความต้องการใช้เศษพลาสติกและตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามมา
ตั้งเป้ามุ่งเน้นสำรวจภาคอุตสาหกรรมพลาสติกทุกพื้นที่ทั่วประเทศทั้งในเขตปลอดอากร และเขตประกอบการเสรีจน “เคาะโรงงานประสงค์นำเข้าเศษพลาสติก 129 แห่ง” แล้วตรวจสอบกำลังการผลิต และพลาสติกค้างสต๊อกตามจริง นำมาเทียบปริมาณพลาสติกหาได้ในประเทศเพียงพอต่อความต้องการหรือไม่
ก่อนนำข้อมูลนี้มา “ประกอบการสรุปผลรายงานอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกหรือไม่” เสนอคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี เป็นผู้พิจารณาอีก คาดว่าไม่เกินสิ้นปีนี้น่าจะรู้ผลสรุป
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผอ.มูลนิธิบูรณะนิเวศ บอกว่า เดิมการพิจารณาห้ามนำเข้าเศษพลาสติกจะสรุปเดือน พ.ย. รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมติดร่วมประชุม COP26 ปัญหาโลกร้อน เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ ทำให้ต้องเลื่อนการพิจารณาแนวทาง 3 ทางเลือก คือ 1.ห้ามนำเข้าเศษ
...
พลาสติกปี 2564 ตามมติ คกก.ขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 (กขป.5) 2.ห้ามนำเข้าในปี 2569 ตามมติ คกก.บริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2564 และ 3.ห้ามนำเข้าในปี 2566
แต่ว่า “คณะกรรมการฯ” น่าจะประชุมกันอีกในปลายเดือน พ.ย.แล้วสรุปเสนอ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติก่อนสิ้นปีนี้ เพราะเป็นประเด็นถูกติดตามจากภาคประชาสังคม และสื่อมวลชนค่อนข้างมาก
ทว่าระหว่างนี้ “กรมควบคุมมลพิษ ในฐานะเลขานุการ คกก.บริหารจัดการขยะพลาสติกฯ” ก็มีความพยายามเร่งรัดรวบรวมข้อมูลจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความต้องการนำเข้าเศษพลาสติกให้ชัดเจน ตามที่ในครั้งแรก “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” นำเสนอรายชื่อตัวเลขต่อคณะกรรมการฯ 129 บริษัททั่วประเทศ...ต่อมามีการแต่งตั้งคณะทำงานกลั่นกรองตรวจสอบ “โรงงานต้องการนำเข้าเศษพลาสติก” ปรากฏข่าวว่า “รายชื่อ 129 โรงงาน” ในบางแห่งเข้าข่ายกระทำผิดกฎหมาย ประกอบกิจการไม่มีใบอนุญาต โรงงานถูกดำเนินคดีสำแดงเท็จนำเข้าในปี 2561 บางบริษัทเป็นนายหน้าไม่มีโรงงานผลิต และบางโรงงานปิดกิจการไปแล้ว
“จนพิจารณาตัดออกคงเหลือ 44 แห่ง ก่อนตรวจสอบซ้ำก็พบว่าบางแห่งกำลังถูกอายัดอยู่ระหว่างดำเนินคดี ทำให้ต้องมีการตัดรายชื่อบริษัท โรงงานเหล่านี้ออกไปอีกหลายแห่งด้วยกัน ตอนนี้เหลือตัวเลข 39 แห่งแล้วคณะอนุกรรมการฯก็จะดำเนินการสำรวจในความต้องการนำเข้าพลาสติกประเภทใดบ้างตามจริง”
เพ็ญโฉม ย้ำว่า ขั้นตอนต่อไปต้องเฝ้าติดตาม “ผลสรุปรายงานตกผลึก” ที่จะถูกเสนอ คกก.สิ่งแวดล้อมแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพราะถ้าปล่อยให้นำเข้าเศษพลาสติกอีกก็ต้องคัดค้านกันต่อไป โดยเฉพาะพิกัดศุลกากร 3915 อันเป็น “ขยะพลาสติก” แต่พยายามเปลี่ยนคำเรียกว่า “เศษพลาสติก”
ทั้งที่แท้จริงเป็นเรื่องเดียวกันที่ต้องห้ามนำเข้าเด็ดขาด
ถ้าหากจำเป็นต่อการนำเข้านี้จริงๆ ต้องเป็นพลาสติกมีคุณภาพสะอาดสามารถนำเข้าเป็นวัตถุดิบได้ทันที โดยไม่ต้องทำการคัดแยก หรือทำความสะอาดซ้ำแล้ว ต่อไป “การขออนุมัตินำเข้าพลาสติก” จะเป็นรูปแบบครั้ง
ต่อครั้งที่ “ไม่นำเข้าเหมาเข่งเหมือนอดีต” เมื่อได้ขออนุญาตโควตาครั้งเดียวแล้วสามารถนำเข้าตอนไหนก็ได้...แล้วมีปัญหาตรวจสอบจำนวนตัวเลขแท้จริงไม่ได้ จนนำเข้าเกินโควตารับอนุญาตอยู่ขณะนี้
ดังนั้น ระหว่างรอการพิจารณา “คณะกรรมการฯ” กำชับให้ “กรมศุลกากร” ต้องปรับกระบวนการทำงาน ระเบียบขั้นตอน ตรวจสอบการนำเข้าเศษพลาสติก และขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเข้มงวดขึ้น โดยเฉพาะ “ด่านพรมแดนทางบกตามแนวชายแดนไทย” เพื่อเป็นการสกัดกั้นมิให้ลักลอบนำเข้าแบบผิดกฎหมายอีกด้วย
ประเด็นเฝ้าติดตามต่อ “กรณีลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรม” เริ่มกลับมาเป็นปัญหาใหญ่รุนแรงต่อสิ่งแวดล้อมชัดเจนเยอะมากขึ้น ตามที่เก็บข้อมูลเฉพาะเหตุการณ์เป็นข่าวเผยแพร่บนสื่อ และผู้ให้ข้อมูลผ่านเครือข่ายชุมชนในปี 2560-2564 มีการลอบทิ้งของเสียแล้ว 304 ครั้ง
...
แบ่งเป็นขยะติดเชื้อ 17 ครั้ง ขยะทั่วไป 21 ครั้ง ลอบทิ้งน้ำเสียโรงงาน 200 ครั้ง และลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมอันตราย 66 ครั้ง ในส่วนการลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมของปี 2564 (ข้อมูล ก.ย.2564) พบว่ามีอัตราค่อนข้างสูงขึ้นมากขึ้น 16 ครั้งแล้วจากปี 2563 พบมีจำนวน 15 ครั้ง
อย่างเช่นกรณี “การลักลอบทิ้งของเสียจากอุตสาหกรรม ในพื้นที่ จ.ลพบุรี” เบื้องต้นทราบว่า “กรมโรงงานอุตสาหกรรม” มีการแจ้งความดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดเรียบร้อย ทั้งยังระบุว่า “สามารถตรวจสอบรถบรรทุกนำกากของเสียอันตรายมาทิ้งเป็นของบริษัทใดได้แล้ว” แต่ไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อออกมา
ฉะนั้น เราก็ยังคงต้องติดตามต่อในเรื่องนี้ “มีการตรวจสอบต้นตอสาเหตุ และผู้ลักลอบทิ้งอันเกี่ยวเนื่องกับบริษัทใด” เพราะเป็นการลักลอบทิ้งของเสียอันตรายค่อนข้างลอตใหญ่มากด้วยซ้ำ
สิ่งสำคัญผ่านไปเกือบ 2 เดือนแล้ว “ขยะกากของเสียอันตราย” ยังคงอยู่สภาพดังเดิม ทำให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นวงกว้างแล้วส่งกลิ่นเหม็นกระจายออกไปทั่วบริเวณ สร้างความเดือดร้อน “ผู้อาศัยใกล้เคียง” มีหลายคนทนกลิ่นเหม็นฉุนรุนแรงไม่ไหวย้ายหนีออกจากพื้นที่ต่อเนื่องกัน
...
ไม่เพียงเท่านั้นยังมีการกระทำแบบนี้ “ในพื้นที่ จ.นครราชสีมา” จากบริษัทกำจัดกากของเสียประกอบกิจการไม่ถูกต้องแล้วบุกรุกทำประโยชน์ในพื้นป่าสงวนฯ ทั้งตรวจพบการลักลอบฝังกลบขยะอุตสาหกรรมในบริเวณนั้น “กรมควบคุมมลพิษ” ยังตรวจพบการปนเปื้อนของสารอันตรายในแหล่งน้ำผิวดิน
อันมีข้อบ่งชี้ว่ามีที่มาจากเหตุนี้ด้วย
กระทั่ง “หน่วยงานทางราชการเจ้าของพื้นที่” ต้องมีคำสั่งไม่ต่อใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพตาม พ.ร.บ.การสาธารณสุขฯ ตั้งแต่เมื่อปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
ทว่าปัจจัยต่อการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมมีความสัมพันธ์กันอยู่ 2 เรื่อง คือ เรื่องแรก... “กระบวนการอนุมัติอนุญาตการขนย้าย” น่าจะมีข้อผิดพลาดบางประการในขั้นตอนการนำออกมาจากโรงงานแล้ว “เกิดสูญหายระหว่างเส้นทางขนส่ง” ทำให้เกิดปัญหาปลายทางตามมานี้
เรื่องที่สอง... “การอนุมัติอนุญาตใบประกอบกิจการกำจัดกากของเสียอันตรายฯ” อาจไม่มีกระบวนการตรวจสอบการดำเนินกิจการนั้นให้ต้องมีการปฏิบัติถูกต้องตามหลักเกณฑ์กฎหมายกำหนดไว้หรือไม่
...
ตอกย้ำเรื่องนี้ด้วย “ผลกระทบต่อการฝังกลบกากของเสียอันตรายจากอุตสาหกรรมไม่ถูกต้อง หรือเป็นการลักลอบทิ้งกากของเสีย” มักเป็นเรื่องใหญ่ต่อสารปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมรุนแรง
เช่นกรณีการลักลอบทิ้งของเสียฯ ในพื้นที่ จ.ลพบุรี ที่ประเมินการกำจัดฟื้นฟูพื้นที่ที่ปนเปื้อนต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำ 1 พันล้านบาทด้วยซ้ำ แม้แต่กรณี “อ่างยายแจ๋ว จ.ฉะเชิงเทรา” ที่โรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งลักลอบปล่อยน้ำเสียจากกระบวนการรีไซเคิลทำให้ “สภาพน้ำปนเปื้อนเป็นกรดสูง” เสมือนไม่มีสิ่งมีชีวิตในน้ำ ล่าสุด “กรมควบคุมมลพิษ” รวบรวมหลักฐานระดับความเสียหายประเมินการฟื้นฟูใช้งบราวหมื่นล้านบาท
และ...ชาวบ้านเตรียมฟ้องคดีเร็วๆนี้แล้ว เหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า “ความเสียหายการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายฯ” กระทบต่อสิ่งแวดล้อมยากต่อการฟื้นฟูให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ทั้งยังเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่ไม่อาจประเมินความเสียหายได้ หนำซ้ำ “ในช่วงการระบาดโควิด–19 ผ่านมา 2 ปีนี้” กลับปรากฏพบการลักลอบทิ้งกากของเสียอันตรายฯเพิ่มมากขึ้น
โดยเฉพาะในปี 2563 มีการลักลอบทิ้งสูงกว่าสถานการณ์ปกติอย่างมีนัย เข้าใจว่า “เป็นช่วงประกาศล็อกดาวน์” ภารกิจหน่วยงานภาครัฐหลายส่วนถูกระดมกำลังสนับสนุนการป้องกันโรคระบาดเป็นหลัก
พูดง่ายๆความเข้มงวดในการตรวจตราการกระทำผิดลักลอบทิ้งกากอันตรายฯน้อยลงบวกปัจจัยจาก “สภาพเศรษฐกิจ” ทำให้ผู้ประกอบการจำเป็นต้องลดต้นทุนต่อการกำจัดของเสียในโรงงานตัวเองนี้ตามมา
ฉะนั้น “ประชาชน” ต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา “ปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่าให้ใครมาทำลาย” แล้วก็จับตากันต่อกรณี “พิจารณาอนุญาตการนำเข้าขยะพลาสติก” ที่อาจจะเป็นปัญหาใหญ่ในอนาคต.