เพราะทะเลคือชีวิต “ทะเลเพื่อชีวิต” หรือ Ocean for Life การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศทางทะเล โดย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. จึงเกิดขึ้นด้วยความมุ่งหวังอยากเห็นทะเลอันเปรียบเสมือนชีวิตของเราทุกคน ยังคงงดงามสมบูรณ์และยั่งยืน ขณะเดียวกัน สามารถสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับชุมชนรอบชายฝั่ง โดย ปตท.สผ. ได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟูชีวิตท้องทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรมขึ้น หากเอ่ยถามว่าจุดหมายของ “ทะเลเพื่อชีวิต” หรือ Ocean for Life คืออะไร คำตอบนั้นถูกเผยขึ้นตั้งแต่ความอุดมสมบูรณ์ และความสมดุลของท้องทะเล ไปจนถึงรอยยิ้มที่เกิดขึ้นของชุมชนคนทะเลด้วยเช่นกัน

ทำไมต้องเป็น “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life)

คำกล่าวที่ว่า ทะเลคือชีวิต เป็นความจริงที่ชัดเจนขึ้น โดยเฉพาะหากเราระลึกว่าทะเลคือแหล่งอาหารสำคัญของมนุษย์ ขณะเดียวกันระบบนิเวศทางทะเลก็สัมพันธ์กับชีวิตของเราทุกคนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเสมอ การอนุรักษ์ทะเลจึงไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม สำหรับ ปตท.สผ. แล้ว การเป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งเพราะระลึกอยู่เสมอว่าทะเลเสมือนบ้านหลังที่สอง เนื่องจากพื้นที่ปฏิบัติการทางธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในทะเล ดังนั้นการเป็นส่วนหนึ่งในการดูแล และสร้างคุณค่าให้กับท้องทะเลอย่างยั่งยืน จึงเสมือนพันธกิจที่มีความหมายสำหรับองค์กรด้วย

เรื่องที่น่าสนใจคือ ปตท.สผ. ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมผ่านกลยุทธ์ “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) ซึ่งคุณปิยะ สุขุมภาณุเมศร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคล กิจการองค์กร และกำกับดูแล ปตท.สผ. เปิดเผยว่าได้วางเป้าหมายดำเนินงานตามแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและนิเวศทางทะเลอย่างยั่งยืน ในบริเวณ 17 จังหวัดรอบอ่าวไทย ในระยะยาว 10 ปี ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกับสร้างความร่วมมือกับหน่วยราชการ สถาบันการศึกษา และชุมชนในแต่ละพื้นที่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งเพื่อเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ เสริมสร้างความสมดุล และความอุดมสมบูรณ์ให้กับท้องทะเล พร้อมทั้งเข้าไปมีส่วนในการทำโครงการเพิ่มรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอีกด้วย

นอกจากวางแผนดำเนินงานในระยะยาวผ่านกระบวนการผลิตที่สะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลแล้ว ในฐานะที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ปตท.สผ. ยังมีส่วนในการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาสนับสนุนการดำเนินโครงการให้เกิดประสิทธิภาพด้วย ทั้งการตรวจติดตามสุขภาพของมหาสมุทรและความหลากหลายทางชีวภาพ การเก็บข้อมูลเกี่ยวกับทะเล และนำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลวิเคราะห์ เพื่อหาแนวทางการป้องกัน ฟื้นฟู ดูแล และอนุรักษ์ทะเลอย่างมีแบบแผน ซึ่งทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นด้วยหัวใจของผู้ที่เห็นคุณค่าและความหมายของท้องทะเล

บทพิสูจน์ความมุ่งมั่น ผลลัพธ์ที่ชัดเจน

ในระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา จึงมีหลายโครงการที่ ปตท.สผ. เข้าไปร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำโครงการอย่างจริงจัง อย่าง โครงการแหล่งเรียนรู้เรือหลวงไทยใต้ทะเล ซึ่งได้นำเรือรบหลวง “ปราบ” และ “สัตกูด” มาจัดทำเป็นแหล่งปะการังเทียม บริเวณเกาะง่ามน้อย จังหวัดชุมพร และเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี จนเกิดเป็นความอุดมสมบูรณ์และความงดงาม ปัจจุบัน มีปลาอาศัยอยู่บริเวณเรือ 60-70 ชนิด โดยเฉพาะบริเวณเรือหลวงปราบ จะพบ “ฉลามวาฬ” อยู่เสมอ และสำหรับสัตว์เกาะติดเช่น ฟองน้ำเคลือบ และปะการังดำซึ่งเป็นสัตว์พันธุ์เด่นมีปริมาณเพิ่มขึ้นมาก ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศของนักดำน้ำจากทั่วโลกอีกด้วย ในช่วงเวลาปกติ สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนถึงปีละกว่า 59 ล้านบาท โครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักสัตว์น้ำเศรษฐกิจ เป็นอีกโครงการหนึ่ง ซึ่งส่งผลสะท้อนถึงคุณภาพชีวิตชุมชนได้อย่างชัดเจน โดยขยายผลมาจากโครงการศูนย์การเรียนรู้เพาะฟักลูกปู ทั้งนี้ได้จัดตั้งศูนย์ฯ ไปแล้วทั้งในจังหวัดสงขลา จังหวัดปัตตานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช สร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่มขึ้นเฉลี่ยครัวเรือนละ 60,000 บาทต่อปี รวมถึง โครงการการอนุรักษ์ชายฝั่งทะเลและบ้านปลา ซึ่งมีแผนในการขยายศูนย์ฯ เพิ่มขึ้นในอีกหลายจังหวัดด้วย ซึ่งจะเป็นทั้งแหล่งถ่ายทอดองค์ความรู้ อนุรักษ์ และขยายพันธุ์สัตว์ทะเล ไม่ให้ลดน้อยลงหรือสูญพันธุ์ไปได้

การให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์ยังคงเป็นส่วนหนึ่งของ “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) ควบคู่กันมาอย่างต่อเนื่อง อย่าง โครงการอนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ที่สัตหีบ เพื่อการอนุบาลเต่าและรักษาเต่าทะเลบาดเจ็บ ก็เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดย ปตท.สผ. เข้าไปมีส่วนร่วมกับศูนย์อนุรักษ์พันธุ์เต่าทะเล ปรับปรุงบ่ออนุบาลเต่าสำหรับเต่าช่วงวัยต่างๆ เพื่อเพิ่มอัตรารอดของลูกเต่าให้มากขึ้น รวมถึงสนับสนุนอุปกรณ์ในการรักษาพยาบาลเต่าให้กับโรงพยาบาลเต่าทะเลภายในศูนย์ฯ อาทิ อุปกรณ์การผ่าตัดเต่า เครื่องเลเซอร์รักษาเต่า เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาเต่าทะเล ก่อนจะปล่อยคืนกลับสู่ธรรมชาติ จนที่ผ่านมา โรงพยาบาลเต่าสามารถช่วยเหลือเต่าที่ได้รับบาดเจ็บได้กว่า 2,000 ตัว ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน ยังได้ปล่อยเต่าคืนสู่ธรรมชาติไปแล้วกว่า 10,000 ตัว

ชีวิตของท้องทะเลกับชีวิตของชุมชนโดยรอบสัมพันธ์กันอย่างชัดเจน อีกโครงการหนึ่งที่ ปตท.สผ. มุ่งหวังจะทำให้เกิดผลสำเร็จ คือ โครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อให้เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำชายฝั่ง ด้วยเหตุนี้จึงมีแผนปลูกป่ากว่า 5,000 ไร่ ในพื้นที่จังหวัดชุมพร จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมฟื้นฟูระบบนิเวศได้เท่านั้น แต่หมายถึงการสามารถเพิ่มพื้นที่ป่าในประเทศไทยด้วย

นอกจากนี้ ยังมีอีกโครงการที่ ปตท.สผ. มุ่งหวังให้ประสบความสำเร็จอย่างมากด้วย นั่นคือ โครงการบริหารจัดการขยะทะเล โดยตั้งเป้าเอาไว้ว่าภายในปี 2573 จะสามารถลดปริมาณขยะลง 50% ในขณะเดียวกันก็ยังพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืนเสมอมา โดยหนึ่งในโครงการที่ริเริ่มแล้วคือ โครงการเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเล ซึ่งได้นำผู้เชี่ยวชาญเข้าไปอบรมเพื่อช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป พร้อมจัดหาช่องทางจัดจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ จนกลายเป็นโครงการที่ช่วยยกระดับคุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ สร้างอาชีพและรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้นอีกด้วย

เพราะทะเลคือชีวิต หากเราไม่ทอดทิ้งทะเล ทะเลก็จะไม่ทอดทิ้งเรา “ทะเลเพื่อชีวิต” (Ocean for Life) ช่วยย้ำเตือนได้ว่าการอนุรักษ์และฟื้นฟูท้องทะเลเป็นหน้าที่ของคนทุกคน และเป็นหน้าที่ที่มีความหมายต่อทุกชีวิตอย่างชัดเจน