นายกองเอก เปล่งศักดิ์ ประกาศเภสัช นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย เผยว่า สถานการณ์ราคาปัจจัยการผลิตปุ๋ยเคมีราคาขยับขึ้นตั้งแต่ต้นปี 2563 ทำให้ราคาปุ๋ย ณ ปัจจุบันราคาเพิ่มขึ้นกว่า 1 เท่าตัว และยังไม่มีแนวโน้มจะลดลง เนื่องจากปัจจุบันราคาวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยเคมีปรับตัวสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นปุ๋ยยูเรีย (UREA) แอมโมเนียมซัลเฟต (AS) ไดแอมโมเนียมซัลเฟต (DAP) และโปแตสเซียมคอไรด์ (MOP) ส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร เนื่องจากไทยต้องนำเข้าวัตถุดิบปุ๋ยเคมีมาจากต่างประเทศเกือบ 100% เพื่อนำมาผลิตปุ๋ยให้เพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับปัจจัยที่ทำให้ปุ๋ยเคมีราคาสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศทั่วโลกส่วนใหญ่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำการเกษตร และราคาผลผลิตทางการเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น ความต้องการอาหารเพิ่มขึ้น ขณะที่การระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้หลายประเทศจึงเริ่มตระหนักถึงความมั่นคงทางด้านอาหาร ประการสำคัญคือจีนหนึ่งในประเทศผู้ผลิตปุ๋ยหลักของโลก มีนโยบายการชะลอการส่งออกวัตถุดิบปุ๋ยเคมีของจีนในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2564 ถึงกลางปี 2565 เพื่อความมั่นคงในการตอบสนองต่อความต้องการในประเทศ แม้จะยังไม่มีการประกาศออกมาชัดเจน แต่มีการคุมเข้มอย่างสูงบริเวณท่าเรือส่งออก

...

นอกจากนี้ ยังมีวิกฤติราคาพลังงานในยุโรป ทำให้ราคาแก๊สเพิ่มสูงขึ้นถึง 250% นับตั้งแต่ ม.ค.เป็นต้นมา อันเกิดจากก๊าซธรรมชาติในสต๊อกลดต่ำลงในช่วงฤดูหนาว และการขาดพลังงานหมุนเวียน ค่าขนส่งทางเรือระหว่างประเทศมีราคาสูง การคุมเข้มของเรือที่เข้าออกท่าเรือ ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและรับมอบ อันเป็นผลพวงจากวิกฤติโควิด-19 ทำให้ปัจจุบันจีนมีเรืออีกกว่า 600 ลำ ติดค้างที่ท่าเรือ คิดเป็น 6% ของปริมาณเรือในตลาดโลก ส่งผลให้เกิดการกักตุนสินค้าในหลายประเทศ และความผันผวนของค่าเงินในตลาดโลก

“ปุ๋ยเคมีเคยมีราคาพุ่งขนาดนี้มาแล้วหลายครั้ง โดย 2 ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อปี 2551 และปี 2554 แต่ก็ใช้เวลาคลี่คลายไม่นาน เพราะครั้งนั้นไม่ได้มีสถานการณ์โควิด-19 ทำให้ไม่มีการล็อกดาวน์ประเทศ เลยไม่มีการกักตุนสินค้า แต่ครั้งนี้ต่างกันที่วิกฤติหลายอย่างมาบรรจบกันพอดี โดยคาดการณ์กันว่าราคาปุ๋ยจะสูงขึ้นไปจนถึงไตรมาสแรกของปี 2565 จากนั้นเมื่อจีนผ่อนคลายมาตรการต่างๆลง รวมถึงหมดฤดูหนาวที่สถานการณ์น่าจะกลับสู่ภาวะปกติ”

สำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรในเบื้องต้น สมาคมได้ร่วมกับกรมการค้าภายใน กรมส่งเสริมสหกรณ์ และกรมส่งเสริมการเกษตร ลดราคาจำหน่ายแม่ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยเคมีสำเร็จรูป รวมทั้งสิ้น 201,106 ตัน หรือ 4,022,120 กระสอบ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และจะขยายเวลาต่อจนถึงสิ้นปี 2564

“สิ่งที่ภาครัฐทำได้ ณ ขณะนี้ ควรมีแผนระยะยาวช่วยเหลือเกษตรกร คือการให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการใช้ปุ๋ยเคมีอย่างถูกวิธี การใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รณรงค์ให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ใช้ปุ๋ยให้ถูกที่ ถูกเวลา ถูกสูตร ถูกอัตรา ถูกพืช ที่สำคัญต้องมีหน่วยงานที่เชี่ยวชาญให้คำแนะนำอย่างถูกต้องแก่เกษตรกร และการวิเคราะห์ดิน-พืช รวมทั้งส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัย หรือ GAP เพราะเป็นมาตรฐานที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากล” นายกสมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทยกล่าว.

...