ตลอดสามเดือนที่ผ่านมา การเข้า “จำพรรษา” ของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาโดยภาพรวมได้ผ่านพ้นไปด้วยดี ถึงแม้ว่าได้เคยมีข่าวความไม่ดีไม่งามของนักบวชบางรูปที่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมืองอยู่บ้างก็ตาม
อาจกล่าวได้ว่า..เป็นการล่วงละเมิดกระทำผิดเป็นส่วนบุคคลก็ต้องรับผิดเป็นกรณีไป นั่นเป็นข้อบกพร่องทาง “จริยะ” คือ “ข้อวัตรปฏิบัติ” ในเพศของบรรพชิต ยังไม่มีร้ายแรงทางด้านแนวความคิดหรือวิกฤติทางด้านความเชื่อความศรัทธา ยังถือว่าความศรัทธาของพุทธศาสนิกชนต่อพระพุทธศาสนาก็ยังมั่นคงเหมือนเดิม
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ประธานมูลนิธิกลุ่มแสงเทียน เจ้าอาวาสวัดบางไส้ไก่ กทม. ย้ำว่า สิ่งที่ได้สร้างความศรัทธาและทำให้ชาวพุทธ...ชาวบ้านได้มองเห็นคุณค่าของพระสงฆ์มากยิ่งขึ้นในปีนี้คือการที่พระสงฆ์แต่ละวัดวาอารามต่างได้ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
โดยเฉพาะการช่วยเหลือในด้านการ “ฌาปนกิจศพ” หรือการ “เผาศพ” ผู้ที่ได้เสียชีวิตอันเนื่องมาจากโรคร้ายนี้...ตัดภาพไปที่การทุ่มเท ดูแล ช่วยเหลือ ให้กำลังใจแก่ผู้สูญเสียญาติพี่น้องอันเป็นที่รักและเคารพจนทุกอย่างจบลงที่เมรุเผาศพของวัด เราได้พบเห็นภาพพระภิกษุทั้งเจ้าอาวาส...พระลูกวัดช่วยกันหามโลงศพ
...
“ขึ้นเมรุ...ช่วยเผาจนทุกอย่างเรียบร้อยเสร็จสิ้นตามพิธีกรรมทางศาสนาโดยไม่มีการเก็บค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเผาศพของผู้เสียชีวิตจากญาติพี่น้องที่ไปร่วมงานศพ...ไม่ได้ไปร่วมงานศพใดๆทั้งสิ้น ยังไม่รวมถึงที่แต่ละวัดได้ตั้งโรงครัวโรงทานจัดทำอาหารเป็นข้าวกล่อง นำไปช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ”
อีกทั้งยังได้นำข้าวสาร อาหารสด อาหารแห้ง เครื่องอุปโภคบริโภค...ปัจจัยไปช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยน้ำท่วมตามภูมิภาคต่างๆ นี่คือความห่วงใย ความเอื้ออาทรของพระสงฆ์กลายเป็น “วัดพึ่งบ้านและบ้าน ก็พึ่งวัด” ตลอดไป นี่คือ...คุณค่าของพระสงฆ์ นี่คือ...คุณค่าของวัดวาอาราม
นี่คือ...คุณค่าของพระพุทธศาสนาในยามชาวบ้านทุกข์ยากเช่นนี้
น่าสนใจอีกว่านอกจากกิจวัตรประจำวันของความเป็นพระภิกษุสงฆ์แล้วก็ยังได้ทำประโยชน์ให้แก่ประชาชน...ชุมชนอย่างมีคุณค่าอเนกอนันต์ ถึงแม้ว่าปีนี้ไม่ค่อยมีการเข้าวัดถือศีลห้าศีลแปดของอุบาสกอุบาสิกามากนักเพราะพิษโควิด-19 ก็ตาม แต่ความสงบความร่มเย็นความสุขทางใจก็ยังเกิดขึ้นกันอย่างทั่วถึง
บัดนี้ได้ “ออกพรรษา” แล้ว กิจกรรมการทำบุญตามเทศกาลคือ
การถวายกฐินแก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาถ้วนไตรมาสได้เริ่มขึ้นมาแล้ว คือนับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นมาจนไปถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 หรือ...ถึง “วันลอยกระทง” ฤดูกาลของการทอดกฐินก็จึงจะจบสิ้นลงไป
การทำบุญเป็นหมู่คณะในช่วงนี้ จึงเรียกว่า “ทอดกฐิน” ถวายพระภิกษุสามเณรอย่างเป็นทางการ แต่ถ้าหลังจากนี้ไปก็จะมิใช่เป็นการ “ทอดกฐิน” แต่เป็นการ “ทอดผ้าป่า” ซึ่งชาวพุทธควรทำความเข้าใจ...ใช้คำศัพท์ทั้งสองชนิดให้ถูกต้องตามหลักศาสนพิธี มิเช่นนั้นก็จะถือว่าไม่เข้าใจหลักการและวิธีปฏิบัติกัน
ต้องย้ำว่าการ “ทอดกฐิน” นั้นมีอยู่ถึง 8 ชนิดด้วยกัน มีความแตกต่างทางด้านพิธีกรรมแต่เป้าหมายเดียวกันคือการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนานั่นเองโดยขอแยกแยะให้ทราบดังนี้
หนึ่ง..กฐินหลวง เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์นำไปทอดถวายแก่พระภิกษุสามเณรตามพระอารามหลวงด้วยพระองค์เอง โดยมีหมายกำหนดการไว้ล่วงหน้าอย่างชัดเจนทุกปี สอง...กฐินต้น เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ทรงนำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์เป็นค่าใช้จ่ายแล้วนำไปทอดถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาตามที่พอพระราชหฤทัยตามวัดหลวงหรือวัดราษฎร์ตามพระราชอัธยาศัย
...
สาม...กฐินพระราชทาน เป็นกฐินที่พระมหากษัตริย์ได้มีพระบรมราชานุญาตให้ข้าราชการหรือหน่วยงานต่างๆนำไปทอดถวาย สี่...กฐินราษฎร์ คือกฐินที่ประชาชนผู้มีจิตศรัทธาอาจจะเป็นส่วนตัวหรือเป็นหมู่คณะจัดขึ้นมาแล้วนำไปทอดถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาตามวัดราษฎร์ตามศรัทธาและกำลังที่มีอยู่
ห้า...กฐินสามัคคี คือกฐินที่พุทธศาสนิกชนร่วมใจกันจัดขึ้นมาร่วมมือร่วมใจกันคนละเล็กคนละน้อย กฐินชนิดนี้ก่อให้เกิดความรักความสามัคคี ของหมู่ประชาชนอย่างยิ่งจึงเรียกว่า “กฐินสามัคคี”
หก...กฐินทรงเครื่อง เป็นกฐินที่มีจัดผ้าป่าสมทบเรียกง่ายๆว่า “ผ้าป่าหางกฐิน”
เจ็ด...กฐินโจร เป็นการดำเนินการของพุทธศาสนิกชนที่มีความเลื่อมใส ศรัทธาในพระสงฆ์และพระพุทธศาสนา ได้จัดนำไปทอดตามวัดวาอารามใด อารามหนึ่งที่ยังไม่มีผู้จองทอดกฐินโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า
เพราะไม่มีผู้จองกฐินมาก่อนนั่นเอง หรือเรียกอย่างหนึ่งว่า “กฐินตกค้าง” ก็ว่าได้
แปด..จุลกฐิน เป็นกฐินที่มีเวลาน้อยมาก การเริ่มต้นกฐินจนเสร็จสิ้นของการถวายกฐินใช้เวลาเพียง 24 ชั่วโมงเท่านั้น หรือเรียกว่าดำเนินการภายในวันเดียวหลังจากรุ่งขึ้นของวันใหม่จนไปถึงเที่ยงคืนของวันเดียวกัน นับตั้งแต่เริ่มหาด้ายมาปั่น มาถัก มาทอให้เป็นเส้นนำมาย้อมจนทุกอย่างเป็นผ้า
...
ผ้านี้เองที่ใช้สำหรับกฐินถวายพระภิกษุสามเณรที่จำพรรษาในวัดวาอารามนั้นๆ จึงถือว่าหรือเชื่อว่าเป็นการทำบุญที่ยิ่งใหญ่เพราะใช้เวลาทุกอย่างเพียงวันเดียว ต้องอาศัยความรักความสามัคคีและความพร้อมเพรียงกันจริงๆ งานบุญเช่นนี้จึงจะประสบความสำเร็จและผ่านพ้นไปด้วยดี
แต่ละปีเรามักไม่ค่อยได้พบเห็นการปฏิบัติเป็น “จุลกฐิน” มากนักเพราะทุกอย่างถูกกำหนดด้วยกาลเวลา ส่วนมากมักนิยมกระทำกันในวันสุดท้ายของการทอดกฐินคือ “วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12” นั่นเอง
เมื่อรวมภาพแล้วเป็นการทำบุญใหญ่ของพุทธศาสนิกชนเป็น 2 ชนิดคือ กฐินที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินเองหรือมีพระบรมราชานุญาตให้หน่วยงานทางราชการ บุคคล คณะบุคคลนำไปทอดถวาย และประชาชนพุทธศาสนิกชนทั่วไปร่วมใจกันจัดขึ้นแล้วนำไปทอดถวายแก่พระภิกษุสามเณรที่จำพรรษา...
อันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติสำคัญของชาวพุทธในการให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนพระพุทธศาสนา
“กฐินทาน” จึงมีความเป็นมาสืบทอดมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล คำว่ากฐินเป็นคำศัพท์ในทางพระวินัย เป็นชื่อเรียก “ผ้าไตรจีวร” ที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้พระภิกษุผู้จำพรรษาครบ 3 เดือนสามารถรับมานุ่งห่มได้ อันประกอบด้วยผ้า 3 ผืน คือ จีวร สบง สังฆาฏิ ผืนใดผืนหนึ่ง ร่วมกับบริวารของกฐิน
...
เช่น ปัจจัยหรือวัตถุสิ่งของเพื่อจะนำมาพัฒนา ทำนุบำรุงวัดวาอารามและพระพุทธศาสนา
การทำบุญเช่นนี้จึงเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “กาลทาน” คือ การทำบุญ ที่ถูกกำหนดด้วยเวลาภายใน 1 เดือนดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ขอพุทธ ศาสนิกชนและผู้ใจบุญผู้ใคร่ครวญในการทำบุญได้ทราบ และเข้าใจเพิ่มสติปัญญาให้กับตนเองเถิด
พระมหาสมัย จินฺตโฆสโก ฝากว่า “บุญ” กับ “บาป” มักเป็นของ คู่กัน ทำบุญอย่างไรจึงจะไม่ได้บาป ทำบุญอย่างไรจึงจะได้แต่บุญ บุญอันเกิดขึ้นมาจากการให้ทานรักษาศีลและเจริญภาวนา นี่คือบุญที่แท้จริง
“บุญอย่างไรจึงจะเป็นบุญคือบุญที่เกิดขึ้นมาแล้วมีความสุข เอิบอิ่มใจ คิดถึงการกระทำครั้งคราใดก็เกิดแต่ความสุข แต่ถ้าเป็นบุญผสมบาปคือ การทำบุญแล้วมีการเฉลิมฉลองด้วยอบายมุข มีการดื่มน้ำเมา สุรา ของมึนเมา มีการเล่นการพนันทุกชนิด มีการสร้างค่านิยมที่ผิดๆ ทำบุญแล้วแต่ไม่เกิดความสะอาด...สว่าง...สงบ”
...กลับกลายมีแต่ความว้าวุ่นกังวลหนักใจหาความสบายใจมิได้ นั่นคือการทำ “บุญ” แล้วเป็น “บาป” หรือได้บาปนั่นเอง.