นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า ในการประชุมภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) ที่เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ประเทศไทยเห็นในหลักการลงนามหยุดตัดไม้ภายใน 2573 เนื่องจากสอดคล้องกับเป้าหมายนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เรื่องการเพิ่มพื้นที่สีเขียวทุกประเภท ให้ได้ร้อยละ 55 ภายในปี 2580
ทั้งนี้ ปฏิญญากลาสโกว์ ของผู้นำด้านป่าไม้และการใช้ประโยชน์ที่ดินมีวัตถุประสงค์เพื่อเน้นย้ำบทบาทความสำคัญของการจัดการป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน โดยปฏิญญาดังกล่าวได้แสดงความมุ่งมั่น ของผู้นำที่จะดำเนินงานร่วมกันเพื่อหยุดยั้งการสูญเสียป่าไม้และความเสื่อมโทรมของที่ดินภายในปี 2030 เปลี่ยนผ่านสู่การใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน มีการเติบโตอย่างมีภูมิคุ้มกันและครอบคลุม และสามารถหยุดยั้ง และย้อนกลับของการสูญเสียพื้นที่ป่าและความเสื่อมโทรมของที่ดิน เพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายของความตกลงปารีส เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เกิดความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์ และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคงไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศได้
ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส.กล่าวว่า สาระสำคัญของปฏิญญาคือเน้นย้ำบทบาทความสำคัญและการพึ่งพาอาศัยระหว่างป่าไม้ ความหลากหลายทางชีวภาพ และการใช้ประโยชน์ที่ดินอย่างยั่งยืน เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของมนุษย์และการกักเก็บ ตลอดจนสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และรักษาไว้ซึ่งการบริการของระบบนิเวศ ที่สำคัญตระหนักว่าการใช้ประโยชน์ที่ดิน สภาพภูมิอากาศ ความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องอาศัยการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกับการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
...
ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กล่าวถึงขั้นตอนการเข้าร่วมปฏิญญาในส่วนของประเทศไทย จะต้องเสนอเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน จากนั้น สผ.จะประสานแจ้งต่อสหราชอาณาจักร ในการเข้าร่วมปฏิญญากลาสโกว์ ในฐานะประเทศเจ้าภาพอย่างเป็นทางการต่อไป.