การแปรรูปถือเป็นการเพิ่มมูลค่าให้ผลผลิตของเกษตรกร โดยเฉพาะในยามผลผลิตล้นตลาด...แต่การแปรรูป เกษตรกรต้องขนผลผลิตไปแปรรูปยังพื้นที่อื่น ทำให้เสียทั้งค่าขนส่งและผลผลิตบางส่วนเกิดความเสียหายระหว่างการขนส่ง
เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว “โครงการชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อเพื่อธนาคารผลไม้เคลื่อนที่” และ “โครงการนวัตกรรมแปรรูปเพิ่มมูลค่ามังคุดสำหรับเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน : บทเรียนต้นแบบจากชุมชนลุ่มน้ำหลังสวน” จึงเกิดขึ้นโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ร่วมกับทีมนักวิจัย สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผนึกการทำงานกับภาครัฐ เอกชนและกลุ่มชาวสวนมังคุดเพื่อขับเคลื่อนการแปรรูปผลไม้เพิ่มมูลค่า บรรเทาผลผลิตล้นตลาดกระตุ้นการจ้างงาน
“แต่ละปีเรามักเห็นปัญหาผลผลิตมังคุดล้นตลาด โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด เกษตรกรส่งออกไม่ได้ วช.จึงสนับสนุนทุนวิจัยภายใต้แนวคิดหลัก เปลี่ยนจากการผลิตสินค้าไปสู่นวัตกรรม เปลี่ยนภาคอุตสาหกรรมไปสู่การขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และเปลี่ยนภาคการผลิตสินค้าไปสู่ภาคบริการให้มากขึ้น ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยคณะต่างๆจึงร่วมกันออกแบบนวัตกรรมชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ เพื่อสร้างความสะดวกในการแปรรูปให้กับเกษตรกร”
...
รศ.ดร.ปิติเขต สู้รักษา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง หัวหน้าโครงการฯ บอกถึงที่มาของการยกโรงงานแปรรูปไปไว้ถึงสวนผลไม้เป็นความร่วมมือแบบบูรณาการของนักศึกษา บุคลากรและคณาจารย์ ของสถาบันฯ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ วิศวกรรมเครื่องกล สถาปัตยกรรม และอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อออกแบบชุดโรงงานพร้อมเครื่องจักรแปรรูปผลไม้ตัวต่อ โดยแต่ละคนใช้ความสามารถตามสาขาของตัวเอง จนมีความพร้อมและประสิทธิภาพสำหรับการแปรรูปผลไม้ มาตรฐานเป็นไปตามข้อกำหนด GMP
ชุดเครื่องจักรตัวต่อเป็นตู้คอนเทนเนอร์ต่อกันประมาณ 3-4 ตู้ ขนาดตามความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ ประกอบพร้อมใช้งาน ใช้เวลาประกอบ 2-3 วัน เคลื่อนที่ไปในชุมชน แหล่งผลิตผลทางการเกษตรได้ สามารถแปรรูปพืชผลให้อยู่ในรูปแช่เยือกแข็ง เพื่อเก็บรักษาผลไม้ที่ล้นตลาด รอการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง
ขณะนี้ใช้ประโยชน์แล้วในพื้นที่โครงการร้อยใจรักษ์และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร สามารถประยุกต์ใช้กับการแปรรูปผลผลิตได้ทุกชนิด
สำหรับการทำงาน ก่อนเริ่มเข้าสู่ตู้หรือห้องแรก ผลผลิตจะต้องผ่านการล้างทำความสะอาด จากนั้นผลผลิตจะไหลตามสายพานเข้าสู่ห้องแรกที่ใช้ปอกหรือตัดแต่งเบื้องต้น ลำเลียงเข้าสู่ห้องที่สองที่ใช้ในการตัดแต่งแบบละเอียด และปั่นบรรจุถุงเพื่อเก็บรักษา แล้วเข้าสู่ห้องเก็บแช่แข็งอุณหภูมิ-40°C...สามารถเก็บรักษาวัตถุดิบตั้งต้นเพื่อเตรียมรอการแปรรูปได้นานนับปี
“ข้อดีอีกอย่างของโรงงานตัวต่อ เกษตรกรสามารถมั่นใจได้ว่าผลผลิตขายได้ 100% ไม่เหลือทิ้งแน่นอน นอกจากนั้น การที่โรงงานตัวต่อได้มาตรฐาน GMP ทำให้เกษตรกรไม่ต้องไปขอมาตรฐานนี้ซ้ำอีก ส่งผลให้การส่งขายห้างโมเดิร์นเทรดสะดวกขึ้น สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจในมาตรฐานได้ แม้จะลงทุนค่อนข้างสูง ทั้งระบบราว 10 ล้านบาท แต่หากเกษตรกรรวมตัวอย่างเข้มแข็ง จะมีงบช่วยเหลือจากภาครัฐ และหากมีภาคีเครือข่าย เมื่อหมดฤดูพืชผักผลไม้ชนิดหนึ่ง สามารถยกโรงงานไปตั้งในพื้นที่เครือข่าย หรือรับจ้างแปรรูป จะทำให้มีรายได้ตลอดทั้งปี คืนทุนได้ในระยะเวลาไม่นาน”
ทั้งนี้ ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนกลุ่มมังคุดศูนย์การเรียนรู้การเกษตรท่ามะพลา อ.หลังสวน จ.ชุมพร มีผลิตภัณฑ์จากมังคุดแปรรูป 5 ผลิตภัณฑ์ ประกอบด้วย 1) น้ำมังคุดพร้อมดื่ม 2) เจลเพื่อพลังงานจากมังคุด 3) มังคุดสดตัดแต่งพร้อมรับประทาน 4) เครื่องดื่มมังคุดผงชงเสริมโพรไบโอติกและพรีไบโอติก และ 5) ผลิตภัณฑ์เค้กจากเนื้อสดและผงจากเปลือกมังคุด.
...
กรวัฒน์ วีนิล