อิทธิพลพายุ ปีนี้ฝนตกมากกว่าทุกปี “เกิดน้ำท่วมหนัก” หลายพื้นที่ต้องเจอสภาพดินสไลด์ทรุดตัว ที่ร้ายกว่านั้น “บ้านเรือนไม่น้อย” โครงสร้างออกแบบไม่มาตรฐานทรุดทั้งหลังพังทลายหายไปในพริบตา

แม้วิกฤติน้ำผ่านพ้นไปแล้วแต่ “ทิ้งร่องรอยแตกร้าวให้อาคารบ้านเรือนหลายหลัง” ไม่ว่าเป็นรอยเล็ก หรือรอยใหญ่ อันเป็นสัญญาณเตือนว่า “โครงสร้างเริ่มมีปัญหาผิดปกติ” ที่เสี่ยงบานปลายเป็นเรื่องใหญ่ในภายหลัง สุดท้ายแล้วมัก “เกิดความเสียหาย และอันตรายต่อผู้อยู่อาศัย” อย่างไม่คาดฝันตามมาก็ได้

สาเหตุน้ำท่วมกระทบบ้านทรุดตัวนี้ ผศ.ดร.พงษ์พิพัฒน์ อานันทนสกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมธรณีเทคนิค ภาควิชาวิศวกรรมโยธาและสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.มหิดล เล่าว่า สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายหลายจังหวัด คงมีเฉพาะภาคกลางตอนบน ภาคอีสานที่มวลน้ำไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำบางแห่ง

แล้วเห็นภาพเชิงโครงสร้าง “ดินทรุดหลายพื้นที่” จนทำให้อาคารบ้านเรือนเสี่ยงพังทลายอันมีปัจจัย 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก...“สร้างบ้านถูกหลักวิศวกรรม” ที่มีการพิจารณาออกแบบคำนวณให้เหมาะสมตามสภาพแวดล้อม ตั้งแต่ระดับน้ำใต้ดิน น้ำชั้นหน้าดิน และน้ำบนดิน เป็นองค์ประกอบหนึ่งให้รองรับภัยพิบัตินั้น

...

ด้วยมีโครงสร้างคานใต้ดิน หรือเสาเข็มเป็นฐานราก ดังนั้นแม้ “น้ำท่วมหนัก” โครงสร้างบ้านก็ยังคงมีความคงทนแข็งแรงสมบูรณ์ดังเดิม ยกเว้นความเสียหายเกี่ยวกับความสวยงามตัวบ้าน เช่น ผนังสีลอกล่อน โป่งพอง เกิดเชื้อรา ปูนผนังกะเทาะ อันเป็นปัญหาเล็กน้อยสามารถซ่อมแซมปรับปรุงได้ไม่ยาก

ถัดมากลุ่มที่สอง...“สร้างบ้านผิดหลักวิศวกรรม” ด้วยถ่ายน้ำหนักตัวบ้านลงพื้นดินโดยตรง ที่ไม่มีฐานรากวางบนเสาเข็มเรียกว่า “ฐานรากแบบแผ่” โดยเฉพาะ “พื้นที่ภาคอีสาน” เพราะมักเชื่อว่า “ชั้นดินแข็ง หรือเป็นชั้นหิน” สามารถรับน้ำหนักตัวอาคารบ้านเรือนได้ “ไม่มีการตอก ขุด เจาะเสาเข็ม”

ยิ่งกว่านั้น “บางแห่ง” สร้างแบบวางอยู่บนดินเฉยๆ น้ำหนักบ้านกดผิวดินทรุดลงเรื่อยๆ ฉะนั้นเมื่อ “เกิดน้ำท่วมนาน” ดินดูดซับน้ำปริมาณมากจนบวมขยายตัวอ่อนนุ่มยุบเคลื่อนตัวแล้วบ้านก็ต้องทรุดพังลง แต่ถ้ามีเสาเข็มก็จะสามารถช่วยให้เกิดแรงต้านน้ำหนักของบ้านในการชะลอการทรุดตัวดีขึ้น

ปัญหาส่วนหนึ่งเพราะ “กฎหมายควบคุมอาคาร” เน้นบังคับเฉพาะ “อาคารขนาดใหญ่” ขณะที่ “บ้านขนาดเล็ก” มักสร้างกันตามอำเภอใจ ไม่มีหลักคำนวณออกแบบให้ถูกต้องตามหลักวิศวกรรมกำหนด

ส่วน “ภาคกลาง” ที่เป็นพื้นที่ดินเหนียว แหล่งน้ำเดิมมักเกิดการยุบตัวง่าย ในสมัยอดีตการสร้างบ้านเมืองบริเวณนี้ “ตอกเสาเข็มตามภูมิปัญญาสมัยนั้น” ทำให้โครงสร้างขนาดเสาเข็ม และความลึกไม่พอรับน้ำหนัก เมื่อเข้าฤดูฝนหลากก็มีปัญหาเคลื่อนตัวของดิน “บ้านเรือนชาวบ้านทรุดตัวเสียหาย” ทุกปีเช่นเดิม

“น้ำท่วมมักเป็นตัวการเปลี่ยนแปลงแรงดันน้ำใต้ดินให้เกิดการเคลื่อนตัวของชั้นดินเสมอ ทำให้พื้นดินใต้ฐานรากอ่อนตัวทรุดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อโครงสร้างอาคารบ้านเรือน สามารถสังเกตจากสภาพบริเวณรอบบ้านมีรอยแตกร้าว อันเป็นจุดเริ่มต้นบ่งบอกถึงสัญญาณอันตรายนี้แล้ว” ผศ.ดร.พงษ์พิพัฒน์ว่า

ปัจจัยหลักมักเกิดจาก “การขยับบิดตัวเสาเข็ม” ทำให้มีรอยร้าวขนาดใหญ่บนผนัง ลักษณะบ้านทรุดไม่เท่ากันแล้ว “ผนังแยกตัวแนวทแยงมุม” ถ้ามีรอยร้าวขนาดร่องความกว้าง 1 มม. ที่มีการขยายตัวมากเรื่อยๆ... รอยร้าวแบบนี้เป็นสัญญาณบอกว่า “โครงสร้างมีปัญหา” ยิ่งมีลักษณะเอียงเห็นด้วยสายตาได้นับเป็น “ระดับอันตรายโอกาสทรุดตัวสูง” โดยเฉพาะอาคารสำนักงานใหญ่มีความเสี่ยงต่อชีวิตคน อย่าปล่อยไว้นาน

...

แต่ปัจจุบันนี้ “อาคารขนาดใหญ่” ออกแบบตามหลักวิศวกรรม ยกเว้น “บ้านขนาดเล็ก” เมื่อน้ำท่วมมักมีผลกระทบให้ “รอยร้าวผนังแยกตัวจนบ้านเอียง” จำเป็นอย่างยิ่งต้องปรึกษาวิศวกรก่อสร้างเข้ามาวิเคราะห์สาเหตุหาทางแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด วิธีซ่อมมีหลายแบบขึ้นอยู่กับลักษณะความรุนแรงของปัญหาที่พบ

เช่น ดีดบ้านซ่อมแซมหรือเสริมฐานรากเสาเข็มให้มีกำลังรับน้ำหนักแข็งแรงสมบูรณ์ดีขึ้นก็ได้...ส่วน “บ้านสร้างแบบวางอยู่บนดินเฉยๆ” ไม่ต้องพูดถึง ถ้าเจอการเคลื่อนตัวชั้นดินมักมีโอกาสทรุดง่ายกว่าบ้านมีเสาเข็มอยู่แล้ว เบื้องต้น “ประชาชนผู้เดือดร้อน” สามารถติดต่อวิศวกรอาสา วิศวกรรมสถานฯ

เพื่อขอรับประเมินความเสี่ยงเลื่อนไถลหน้าดิน การทรุดตัวพังชำรุดของสิ่งปลูกสร้างได้

ส่วน “ผนังกำแพงบ้านร้าว” ที่ไม่ใช่เกิดจาก “โครงสร้างทรุดตัว” ก็มีอยู่เช่นกัน สาเหตุเพราะ “ใช้ช่างไม่ชำนาญการฉาบ” ทำให้มีรอยร้าวแตกลายงาเส้นเล็กๆตามผนังปูนฉาบ ลักษณะนี้ไม่เป็นอันตรายแต่ทำให้บ้านดูเก่า ไม่น่าดู สร้างความหงุดหงิดใจให้คนอาศัยเท่านั้น สามารถซ่อมแซมกันไปทีละเล็กทีละน้อยได้

...

ตอกย้ำ “บ้านริมน้ำ” ที่รบกวนขวางทางไหลน้ำตามธรรมชาติ ต้นเหตุเกิดไถลตัวดิน “นำสิ่งปลูกสร้างทรุดลงแม่น้ำ” เพราะไม่ถูกออกแบบตามหลักวิศวกรรม ดังนั้น “อาคารบ้านเรือนริมน้ำ” มีความเสี่ยงสูงมาก

แม้มีเสาเข็มแล้วแต่บางครั้งก็ “แตกหักชำรุดแยกขาดออกจากกัน” เมื่อฝนตกหนักอาจทำให้ดินไถลทรุดตัวให้แบกรับน้ำหนักไม่ไหว “เสาเข็มดีดตัวออก” ส่งผลให้โครงสร้างบ้านยึดเกาะเข้ากับดินไม่ได้แล้ว

น้ำหนักทั้งหมดถูกถ่ายเทไปยังเสาเข็มอื่น แบกรับน้ำหนักมากเกินทรุดตัวลงตามมา

อีกสิ่งกังวลสำคัญ “โรงเรียนใกล้ริมแม่น้ำ” อาคารชั้นเดียวที่ไม่ได้ออกแบบรองรับน้ำหนักหลายชั้น “เสาคานมีขนาดเล็กและโครงสร้างฐานรากไม่ค่อยแข็งแรง” จนง่ายต่อการเคลื่อนตัวของอาคาร

ถ้า “อาคารเรียนชั้นเดียว หรือบ้านชั้นเดียวตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ” แล้วแช่น้ำท่วมนานกว่า 1-2 สัปดาห์ ที่มักทำให้ดูดซึมน้ำเข้าดินเยอะ หน้าดินก็จะอ่อนนุ่มอย่างมีนัยสำคัญ อาคารเรียนจะขยับตัวทรุดลงก็ได้

...

“อาคารบ้านเรือนริมแม่น้ำ” ควรต้องได้รับการวิเคราะห์ความมั่นคงเสถียรภาพรากดิน โอกาสเกิดไถลระดับใดแล้วหาวิธีป้องกันให้ถูกจุด เช่น ตอกเสาเข็มเพิ่มเสถียรภาพรากดินป้องกันดินเคลื่อนตัวได้อิสระ

ประเด็น “ข้อกังวลน้ำท่วมกระทบโบราณสถาน” ขออธิบายแบบนี้ “โบราณสถานในไทยลักษณะโครงสร้างเป็นแบบก่ออิฐถือปูน” สามารถรับแรงบิดจากการเคลื่อนตัวของดินได้ไม่มาก เพราะส่วนใหญ่มักเป็น “ฐานรากแผ่” ถ้าจุดใดมีเสาเข็มก็เป็นแบบไม้ตอกแผ่ แต่ไม่ใช่เสาเข็มเหมือนปัจจุบันนี้

การที่ยังคงสภาพตั้งอยู่เป็นโบราณสถานมาจนถึงวันนี้เชื่อว่า “น่าจะเกิดเคลื่อนตัวมาจนเข้าสู่ความสมดุลใหม่” ปรับสภาพรับสิ่งแวดล้อมและระดับภัยพิบัติธรรมชาติมานานหลายยุคหลายสมัยได้แล้ว ยกเว้นในอนาคตถ้าต้องเจอ “น้ำท่วมรุนแรงกว่านี้” อาจมีอิทธิพลส่งผลกระทบเป็นอันตรายให้เกิดความเสียหายขึ้น

ฉะนั้น “จ.พระนครศรีอยุธยา เป็นแหล่งโบราณสถานสำคัญ” ตั้งอยู่ชั้นดินอ่อนแอ่งมีโอกาสรับความเสียหายได้แน่ เหตุนี้ “ภาครัฐ” ต้องจัดลำดับความล้ำค่าโบราณสถาน เพื่อพิจารณาทำนุบำรุงเป็นกรณีพิเศษตามความสำคัญด้วยหลักคำนวณทางวิศวกรรม ในคาดการณ์ภัยพิบัติอันจะส่งผลกระทบล่วงหน้าได้ 500 ปี

แล้วนำข้อมูลวิเคราะห์สู่การป้องกันได้หลายวิธี เช่น ตอกเสาเข็มล้อมชะลอการขยับของดิน ลักษณะทำแนวป้องกันเผื่ออนาคตก็ได้ เสมือนซื้อความปลอดภัยให้โบราณสถานอันล้ำค่าคงอยู่คู่ประเทศไทย

สุดท้าย “น้ำมาแล้วคงแก้ได้ยาก” แต่ถ้า “น้ำท่วม” อยากเน้นดูความปลอดภัยในเชิงโครงสร้างอาคารบ้านเรือน หมั่นตรวจเช็กความผิดปกติสม่ำเสมอ “อย่าชะล่าใจ” เพราะมักเป็นต้นเหตุให้บานปลายกลายเป็นเรื่องใหญ่ “เสี่ยงอันตรายต่อผู้อาศัย” หากเป็นไปได้...เห็นรอยร้าวขนาดใหญ่ควรงดใช้ไปก่อนดีที่สุด

สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มดีขึ้นแล้วก็ “อย่าลืมสำรวจโครงสร้างอาคารบ้านเรือนตัวเอง” ไม่แน่ใจให้ติดต่อหน่วยงานกลางเช่น “วิศวกรรมสถานฯ สภาวิศวกร” ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบ ถ้าให้ดีกว่านั้นก่อนปลูกบ้านให้ปรึกษาวิศวกรออกแบบ จะไม่ทำให้ต้องเสียเงินมากกว่าเดิม.