คอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ที่ออกแบบไว้สำหรับวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นวันพักผ่อนหย่อนใจของผู้คนทั่วโลกรวมทั้งพี่น้องชาวไทยของเราด้วย จึงเป็นคอลัมน์ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะทำให้ผู้อ่านมีความสุข ความสนุกสนานเป็นที่ตั้ง

ดังนั้นข้อเขียนวันนี้ แม้จะโผล่ออกมา ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้คนบางกลุ่มบางเหล่า ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฟุตบอลประเพณี “จุฬาฯ-ธรรมศาสตร์” จนถึงขั้นมีการตั้งคำถามว่า ควรเลิกฟุตบอลประเพณีหรือไม่?

แต่เราก็จะไม่ถือว่าเรื่องราวที่จะเขียนต่อไปนี้เป็นการตอบคำถามดังกล่าว...เพราะเราไม่ประสงค์จะไปขยายความขัดแย้งให้ถ่างกว้างออกไปอีก

แรงบันดาลใจที่ทำให้เราอยากเขียนถึงฟุตบอลประเพณีปี 2503 ซึ่งเป็นฟุตบอลประเพณีครั้งแรกของเรา (หัวหน้าทีมซอกแซก) มาจากภาพที่มีการโพสต์อย่างแพร่หลายในสื่อสังคมออนไลน์ เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ได้แก่ภาพท่านประธานรัฐสภา ชวน หลีกภัย ที่เมื่อ 60 กว่าปีก่อน...สมัยเป็นนักศึกษา นิติศาสตร์ได้ขึ้นไปยืนอยู่บนรถยนต์หรือรถลากแบบราชรถโบราณไม่ทราบได้คันหนึ่งเพื่ออัญเชิญตรา “ธรรมจักร” อันเป็นสัญลักษณ์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เข้าสู่สนามศุภชลาศัยอันเป็นสนามแข่งขันฟุตบอลประเพณีใน พ.ศ.โน้น

แม้ใบหน้าของท่านประธานชวนวัยหนุ่มจะเคร่งขรึมอยู่สักหน่อยแต่ก็เต็มไปด้วยความมุ่งมั่นและประคองตราธรรมจักรดวงใหญ่ดวงนั้นอย่างศรัทธา และภาคภูมิใจ

ภาพนี้เอง (โปรดพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเพราะได้นำมาประกอบคอลัมน์วันนี้ด้วย) ที่ทำให้เราบังเกิดความประทับใจและหวนกลับไประลึกถึงบรรยากาศของฟุตบอลประเพณีที่เรามีโอกาสเข้าร่วมในฐานะนักศึกษาธรรมศาสตร์คนหนึ่ง

เรา (หัวหน้าทีมซอกแซก) เข้าเรียนธรรมศาสตร์ในปี 2503 น่าจะหลังจากท่านประธานชวนที่เข้าเรียนตั้งแต่ปี 2501 อยู่ 2 ปี จึงไม่น่าทันกับภาพอัญเชิญธรรมจักรของท่านภาพนี้

...

แต่เท่าที่เราจำได้ ฟุตบอลประเพณีปี 2503 ซึ่งเป็นปีแรกในชีวิตของเรานั้นก็มีความยิ่งใหญ่เกรียงไกรเป็นอย่างยิ่งจากการเตรียมตัวเตรียมงานและการฝึกซ้อมอย่างดียิ่งของนิสิต นักศึกษา

การเตรียมตัวจัดงานและการไปซักซ้อมเพลงเชียร์นี่เอง ทำให้เราได้รู้ว่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรามีเพลงที่สอนให้รักหมู่คณะรักมหาวิทยาลัย รักประชาชนและรักประเทศชาติอยู่หลายต่อหลายเพลง

บางเพลงฟังแล้วก็ขนลุก และรู้สึกภูมิใจอย่างใหญ่หลวงที่มีโอกาสเข้าไปเป็นนักศึกษาของธรรมศาสตร์...เช่นเพลงประจำมหาวิทยาลัย ที่นักศึกษารุ่นเรามักเรียกว่า เพลง “มอญดูดาว” เพราะใช้ทำนองเพลงไทยเดิม “มอญดูดาว” มาใส่เนื้อใหม่ที่เป็นจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์

เพลงมาร์ชหรือเพลงเดินหลายเพลงแม้จะปลุกใจให้ฮึกเหิม แต่ก็เป็นความฮึกเหิมเพื่อที่จะ ไปรับใช้ประชาชนและเทิดทูนระบอบประชาธิปไตยทั้งสิ้น

รวมทั้งเพลงที่จะต้องร้องคู่กับนิสิตจุฬาฯในทำนองว่าเรา 2 มหาวิทยาลัยจะรักกันและจะจับมือกันและออกไปทำงานเพื่อชาติบ้านเมือง

ในปี 2503 ธรรมศาสตร์ยังไม่มีเพลงพระราชนิพนธ์ “ยูงทอง” แต่ของจุฬาฯมีเพลง “มหาจุฬาลงกรณ์” ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพระราชนิพนธ์ทำนองให้และเวลาร้องนิสิตจะยืนตรงแสดงความเคารพรวมทั้งพวกเราที่เป็นนักศึกษาก็จะยืนแสดงความเคารพเช่นกัน

ต่อมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากในหลวง ร.9 พระราชนิพนธ์ทำนองเพลง ที่เรียกอย่างไม่เป็นทางการว่า “ยูงทอง” ให้เป็นเพลงประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2506 และได้เสด็จมาทรงบรรเลงเพลงที่ยังไม่มีเนื้อร้อง ณ หอประชุมใหญ่ธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ยังความปลาบปลื้มอย่างหาที่สุดมิได้ แก่คณาจารย์และนักศึกษาธรรมศาสตร์ใน พ.ศ.ดังกล่าว

ย้อนกลับไปปี 2503 อีกครั้ง--หลังจากได้ซ้อมเพลงจนคล่องซ้อมแปรอักษรกันจนคล่อง และสำหรับบางคนก็ไปซ้อมเดินพาเหรดกับขบวนต่างๆ จนคล่องแคล่วแล้ว จากนั้นเราก็รอวันแข่งขันฟุตบอลประเพณี

ในวันเตะฟุตบอล พวกเราตื่นกันแต่เช้า เพราะเป็นประเพณีของรุ่นพี่ๆ ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยว่าจะต้องขึ้นนั่งบนรถบรรทุก 6 ล้อ แห่ตระเวนไปรอบๆพระนครและธนบุรี (สมัยนั้นยังแยกเป็น 2 จังหวัด) แล้วก็ตะเบ็งร้องเพลงเชียร์ไปด้วย

เวลาสวนกันก็จะเฮใส่กันไม่ว่าจุฬาฯหรือธรรมศาสตร์

นั่งรถตระเวนร้องเพลงเชียร์อย่างไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย พอตกบ่ายก็เข้าสู่สนาม--ใครอยู่ในขบวนพาเหรดอะไรก็ไปทำตามหน้าที่นั้นๆ

หัวหน้าทีมซอกแซกอยู่แผนกทั่วไปเดินพาเหรดชุดใหญ่ชุดสุดท้ายเสร็จก็ขึ้นอัฒจันทร์เตรียมแปรอักษรและร้องเพลงเชียร์ต่อทันที

ปี 2503 เป็นปีแรกที่มีการประชันการแปร อักษรบนอัฒจันทร์ระหว่างจุฬาฯและธรรมศาสตร์จนเป็นที่เลื่องลือว่าสวยสดงดงามอย่างยิ่ง...

บอลเลิกผลแพ้ชนะแทบไม่มีใครสนใจ เพราะเรายังมีภารกิจที่จะต้อง แห่คบเพลิง (ปี 2503 ยังมีและมาถูกห้ามตั้งแต่ปี 2504 เพราะเกรงว่าจะมีอันตราย) จากสนามศุภไปจุฬาฯ ซึ่งอยู่ไม่ไกลนัก

ไปรับประทานอาหารค่ำร่วมกันไปฟังเพลงจากวงดนตรีของทั้ง 2 มหา’ลัยที่ผลัดกันแสดงและที่สนุกมากคือการเล่น “ล้อมวง” โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มไปเดินหรือวิ่งล้อมกันอย่างสนุก

ไม่เกินเที่ยงคืนเราก็จะแยกย้ายกันกลับบ้าน พร้อมเก็บความทรงจำอันงดงามที่เกิดขึ้นตลอดทั้งวันไปฝันต่อ...บ้านใครบ้านมัน

ถามว่าเราได้อะไรบ้างจากฟุตบอลประเพณีก็ขอตอบอย่างเปิดใจว่าเราได้ “ความรักความสามัคคีและความสุขที่ลืมไม่ลง” มาจนถึงวันนี้

ทำให้เรารักธรรมศาสตร์ รักจุฬาฯ รักประเทศไทย รักประชาชนคนไทย รักในหลวงและเชื้อพระวงศ์ทุกพระองค์ ฯลฯ เพราะทุกอย่างได้หล่อหลอมรวมกันอยู่ในฟุตบอลประเพณีทั้งสิ้น

...

เราเชื่อว่านิสิต นักศึกษาในห้วง พ.ศ.นั้นน่าจะมีความรู้สึกในทำนองเดียวกัน และเมื่อเรียนจบออกไปทำงานรับใช้ประเทศชาติแล้วต่างก็กลายเป็นทรัพยากรบุคคลอันทรงคุณค่าของบ้านเมืองในมิติต่างๆ

จนเป็นส่วนหนึ่งของบุคลากรที่ทำให้ประเทศ ไทยของเราสามารถหลุดพ้นจากคำนิยามที่ฝรั่งตั้งให้ว่า “ประเทศด้อยพัฒนา” เพราะมีรายได้ต่ำมากเมื่อปี 2503 กลายมาเป็นประเทศ “รายได้ปานกลางขั้นสูง” อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ขอบคุณอย่างยิ่ง สำหรับครั้งหนึ่งในชีวิตที่เรามีโอกาส “ร้องเพลง” และ “แปรอักษร” ในฟุตบอลประเพณีธรรมศาสตร์–จุฬาฯ.

“ซูม”