นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค แนะ คนไทยสร้างภูมิต้านทานภัยไซเบอร์ ป้องกันความเสียหาย หมั่นอัปเดตข่าวจากสำนักข่าวหลักที่เชื่อถือได้ จะช่วยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

น.ส.มลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เข้ามาส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตคนไทย ทำให้เข้าสู่สังคมดิจิทัลมากขึ้น มีการทำกิจกรรมต่างๆ บนโลกออนไลน์ นอกจากจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ขึ้นมารองรับแล้ว ขณะเดียวกันก็มีความไม่ปลอดภัยและความเสี่ยงที่เพิ่มมากขึ้นด้วย จากบรรดามิจฉาชีพที่แสวงหาประโยชน์บนความเดือดร้อนของประชาชน ดังนั้นจึงต้องมีการยกระดับความรู้และความเข้าใจของประชาชนเกี่ยวกับภัยต่างๆ ในโลกออนไลน์ที่มีหลากหลายรูปแบบ และวิธีรับมือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหาย

ทั้งนี้ ปัญหาที่เกิดขึ้นประชาชนส่วนใหญ่ ที่เป็นข่าวอยู่ในขณะนี้คือ การขโมยข้อมูลส่วนบุคคล เพื่อเข้าถึงบัญชีบัตรเดบิต และบัตรเครดิต ดูดเงินหรือโอนเงินออกไปสร้างความเสียหายจำนวนมาก ซึ่งต้นเหตุมาจากการที่มิจฉาชีพแฮกข้อมูลจากเว็บไซต์และบริการต่างๆ ดังนั้นจึงต้องระมัดระวัง ไม่ให้ข้อมูลสำคัญกับเว็บไซต์หรือบริการใดๆ หากไม่จำเป็น และหมั่นตรวจสอบยอดสเตทเมนต์ทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 ครั้ง เมื่อพบการทำธุรกรรมที่ผิดปกติหรือต้องสงสัยให้รีบต่อต่อธนาคาร เพื่อทำการปฏิเสธการใช้งานดังกล่าว รวมทั้งหมั่นเปลี่ยนรหัสผ่าน รับการแจ้งเตือนการทำธุรกรรมผ่านโทรศัพท์มือถือ และการป้องกันไม่ให้ผู้บริการจดจำหรือบันทึกเลขสามหลักหลังบัตรได้

อีกปัญหาที่เกิดขึ้นมาในสังคมอย่างยาวนาน ก็คือ การปลอมเพจ หรือสวมรอยแชต หลอกโอนเงิน ซึ่งหากได้รับข้อความยอยืมเงินจากเพื่อนในสื่อสังคมออนไลน์ โดยอ้างความเดือดร้อนต่างๆ ให้ตรวจสอบก่อนโอนเงิน โดยอาจตรวจสอบจากช่องทางอื่นๆ เช่น โทรศัพท์ เพื่อยืนยันตัวตน เป็นต้น

...

ปัญหาสุดท้ายคือ คือ อีเมล หรือลิงก์หลอกลวง แอบอ้างจากองค์กรต่างๆ ส่งมายังผู้รับ เช่น ธนาคารพาณิชย์ หรือโปรโมชั่นร้านค้า หรือบริการชื่อดัง เพื่อหลอกให้ทำธุรกรรมผ่านอีเมล หรือกรอกข้อมูลสำคัญของบุคคลนั้นๆ เช่น หมายเลขบัตรเครดิต เป็นต้น โดยให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นมิจฉาชีพ แล้วโทรศัพท์ตรวจสอบกับองค์กรนั้นๆ โดยตรง

นอกจากนี้ ยังมีอีเมลที่ฝังโปรแกรมทำลายคอมพิวเตอร์เพื่อเรียกค่าไถ่ ดังนั้น หากพบมีอีเมลต้องสงสัยจากบุคคลที่ไม่ได้เป็นผู้ติดต่อ หรือหากรอการติดต่อจากองค์กรใด ให้ตรวจสอบให้ดีก่อนคลิกและกรอกข้อมูล ซึ่งจะช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น

“ที่สำคัญคือต้องหมั่นอัปเดตข่าวสารด้านเทคโนโลยี และติดตามข่าวจากสำนักข่าวหลักที่เชื่อถือได้ ก็จะช่วยสร้างภูมิต้านทานไม่ให้ตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ” น.ส.มลฤดี กล่าว