"นพ.ศุภกิจ" ยืนยัน ไทยยังไม่พบ เดลตาพลัส สายพันธุ์ AY.4.2 ที่มีการแพร่ระบาดที่อังกฤษ แต่พบ อัลฟาพลัส จำนวน 18 ราย พบ เดลตาพลัส ชนิด AY.1 จำนวน 1 ราย แต่ยังไม่พบปัญหาใด
วันที่ 26 ต.ค. 2564 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงข่าวถึง การเฝ้าระวังสายพันธุ์และกลายพันธุ์โควิด-19 ว่า สายพันธุ์ที่พบในไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) โดยในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาจำนวนตัวอย่างผู้ติดเชื้อกว่า 1,000 ราย ยังเป็นเดลตา ขณะที่อัลฟา 7 ราย และเบตา 9 ราย
โดยสรุปง่ายๆ ภาพรวมกว่า 90% ของไทย คือ ส่วนใหญ่ยังติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา ส่วนที่ชายแดนใต้ใน จ.ยะลา พบการติดเชื้ออัลฟา นั้นปัจจุบันมีการตรวจกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้น พบว่า เดลตา มีมากกว่าสายพันธุ์อื่น จึงทำให้ไทยพบสายพันธุ์เดลตาเป็นหลัก และพบเบตาในภาคใต้เล็กน้อย แต่ไม่พบในภาคอื่น ขณะที่อัลฟามีการตรวจพบลดลงเรื่อยๆ
นพ.ศุภกิจ ยังกล่าวถึงสายพันธุ์ อัลฟา พลัส (E484K) ที่พบว่าสามารถหลบภูมิคุ้มกันได้ โดยพบในเดือน ต.ค. 2 ราย คือที่ จ.เชียงใหม่ 2 ราย เป็นผู้ต้องขังที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง นอกจากนี้ยังพบที่ในล้งลำไย จันทบุรีและตราด 16 ราย ซึ่ง 12 ราย เป็นชาวกัมพูชา และ 4 รายเป็นคนไทย โดยเรื่องนี้ได้ประสานไปกับพื้นที่ให้เข้าไปดูแลคุ้มครองโรคแล้ว และจะมีการตรวจเพิ่มเติมในพื้นที่อื่นๆ ต่อ โดยสายพันธุ์นี้กำลังพบในประเทศกัมพูชา และกำลังแพร่ระบาด ซึ่งหากมีมากในไทยจะหลบภูมิได้ แต่โชคดีที่การแพร่ระบาดของเดลตามีมากกว่า ทำให้สายพันธุ์อัลฟา ทำให้การแพร่กระจายไม่สูง และยืนยันว่า อัลฟาพลัส ไม่ใช่เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ เพราะมีการตรวจเจอตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. ปีที่ผ่านมาในประเทศอังกฤษแล้ว
...
ส่วนสายพันธุ์ เดลตาพลัส ที่กำลังได้รับความสนใจ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ย่อยจากเดลตา มีชื่อเรียกตั้งแต่ AY.1 - AY.47 เนื่องจากพบ 47 ชนิด ซึ่งในไทยพบสายพันธุ์ย่อยของเดลตา จำนวน 18 สายพันธุ์ โดย AY.30 พบมากที่สุด จำนวน 1,341 ราย รองลงมาคือ AY.39 จำนวน 83 ราย อันดับ 3 คือ AY.23 จำนวน 12 ราย ส่วนประเด็นสายพันธุ์ AY.4.2 ที่มีการระบาดในประเทศอังกฤษ ยุโรป มากพอสมควร และมีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง Y145H, A222V ที่มีความกังวลเรื่องอำนาจการแพร่ระบาดที่เพิ่มขึ้นมากกว่าเดลตาปกติถึง 10-15% นั้นยืนยันว่าไม่มาก แต่ยอมรับว่าการกระจายเร็วกว่านิดหน่อย ซึ่งปัจจุบันสายพันธุ์ AY.4.2 ยังไม่มีการพบในประเทศไทยแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในประเทศไทย พบ เดลตาพลัส สายพันธุ์ AY.1 ที่มีการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N ที่จังหวัดกำแพงเพชร 1 ราย โดยยังไม่มีข้อมูลบนโลกว่าตำแหน่งการกลายพันธุ์ดังกล่าวจะทำให้มีอิทธิฤทธิ์มากกว่าเดลตาธรรมดาอย่างไร รวมถึงเรื่องหลบภูมิ ซึ่งแตกต่างจากสายพันธุ์ AY.4.2 อีกทั้งยังไม่ถูกขึ้นบัญชีว่าเป็นเชื้อที่มีปัญหา และการกลายพันธุ์ที่ตำแหน่ง K417N ก็มีอยู่ในสายพันธุ์เบตา จึงอยู่ระหว่างจับตา ส่วนผู้ป่วยรายดังกล่าวเข้ามารักษาตัวที่โรงพยาบาลสนาม ล่าสุดหายป่วยแล้ว และไม่พบปัญหาใด แค่เก็บบุคคลเสี่ยงนำมาตรวจเพิ่มเติมเท่านั้น
"จึงขอสรุปว่าประเทศไทย พบ อัลฟาพลัส จำนวน 18 ราย พบ เดลตาพลัส ชนิด AY.1 จำนวน 1 ราย และเดลตาพลัส ที่เป็น AY.4.2 ยังไม่พบนะครับ เพราะฉะนั้นอันนี้ขอเคลียร์ให้พี่น้องได้เข้าใจ" นพ.ศุภกิจ ระบุ
ทั้งนี้ ไทยมีการตรวจกลุ่มตัวอย่าง 450 ตัวอย่างทุกสัปดาห์ ล่าสุดมีการใส่ในระบบ GISIAD submission กว่า 5 พันรายแล้ว ที่จะทำให้เห็นการกลายพันธุ์ของโลกทั้งหมด
...
ส่วนการเปิดประเทศของไทย แล้วมีการติดเชื้อในนักท่องเที่ยว ทางกระทรวงสาธารณสุขจะมีการเฝ้าระวังการกลายพันธุ์อย่างไร นั้น นพ.ศุภกิจ ระบุว่า ระบบการเฝ้าระวังจะคัดเลือกจากกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น การเดินทางมาจากต่างประเทศ ชายแดน และคลัสเตอร์แปลกๆ หากพบว่ามีการกลายพันธุ์สูงจะตรวจได้ในพื้นที่ แต่หากถอดรหัสพันธุ์กรัมทั้งตัวจะต้องตรวจที่ส่วนกลาง
ทั้งนี้ ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่า อิทธิฤทธิ์การแพร่เชื้อของโควิด-19 เริ่มลดลง จนอาจจะกลายเป็นโรคประจำถิ่น อีกทั้งขณะนี้ค่าตรวจหาเชื้อถูกลง ซึ่งจะลดอุปสรรคเรื่องการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวในการเข้าประเทศไทยด้วย.