เมื่อวันที่ 20 ต.ค.ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.)ได้เปิดปฐมฤกษ์รับมอบขยะที่ติดเชื้อโควิด-19 จากกรมอนามัย ลอตแรกที่มีจำนวนรถขนส่ง 6 คัน น้ำหนักรวม 25 ตัน ส่งมอบให้เตาเผาขยะอุตสาหกรรมของโรงงาน โรงงานทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) อ.แก่งคอย จังหวัดสระบุรี รับไปเผากำจัด โดยโรงงานแห่งนี้เป็นโรงงานผลิตไฟฟ้าและไอน้ำที่ใช้ขยะชุมชน ขยะอุตสาหกรรมเป็นเชื้อเพลิง
โรงงานทีพีไอแห่งนี้จะเป็นต้นแบบนำร่องของภาคเอกชนที่เข้ามามีส่วนช่วยเหลือสังคมในการเปิดรับขยะติดเชื้อโควิด-19 มากำจัด เพื่อแบ่งเบาภาระเตาเผาขยะติดเชื้อของกระทรวงสาธารณสุข ที่ขณะนี้ไม่สามารถเผากำจัดได้ทั้งหมด
โดยขั้นตอนการดำเนินการที่เริ่มตั้งแต่การคัดแยก รวบรวมบรรจุจัดเก็บ และซีลในถุงรอการกำจัดที่ต้นทางตลอดจนการขนส่ง โดยกรมอนามัยจะเป็นผู้กำกับดูแลทั้งหมด ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะกำกับดูแลในขั้นตอนของการรับขยะติดเชื้อเข้าสู่เตาเผา ตลอดจนเผาตามหลักเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดอย่างเคร่งครัด ภายใต้อุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียส
โดยเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในพื้นที่ ขยะติดเชื้อจะได้รับการเผาทำลาย 2 ขั้นตอนหนึ่งก็คือหลังจากเผาด้วยอุณหภูมิ 800 องศาเซลเซียสแล้ว ขี้เถ้าที่เกิดขึ้นก็จะถูกเผาทำลายอีกขั้นตอนหนึ่ง ที่อุณหภูมิ 1,300 องศาเซลเซียส เพื่อกำจัดทั้งขยะและขี้เถ้าที่เกิดขึ้น
...
สำหรับความเป็นมาเป็นไปของโรงงานแห่งนี้ เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาที่มีมติให้กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรัดการแก้ไขปัญหาขยะติดเชื้อโควิด-19 โดยให้เร่งนำขยะติดเชื้อไปเผาในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีความพร้อมและมีศักยภาพในการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กรมอนามัยกำหนดเป็นการชั่วคราว ภายใต้สถานการณ์โควิด-19
ดังนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้ร่วมกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดทั่วประเทศ เร่งดำเนินการเป็นการด่วน เนื่องจากประเทศไทยเผชิญกับการระบาดของโควิด-19 มาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้สถานพยาบาลต่างๆ ไม่สามารถรองรับคนป่วยได้เพียงพอ จึงได้มีการสร้างโรงพยาบาลสนาม ศูนย์พักคอย หรือสถานกักกันตัวต่างๆรองรับผู้ป่วย ทำให้สถานที่ต่างๆเหล่านี้มีปริมาณขยะติดเชื้อโควิด-19 ตกค้างสะสม รอรับไปทำลายเป็นจำนวนมากและเกินกว่ากำลังที่เตาเผาของกระทรวงสาธารณสุขจะดำเนินการได้ เพราะจำนวนคนป่วยโควิด-19 กระจายอยู่ทั่วประเทศ
นับจากนี้ไป กรอ.จะเร่งออกใบอนุญาตโรงงาน 3 ประเภทให้สามารถนำมูลฝอยติดเชื้อโควิด-19 มาเผาเป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาของโรงงานเป็นการชั่วคราว เพื่อกำจัดขยะติดเชื้อที่สะสมและตกค้าง รอการกำจัดเกินระบบอีก 2,800 ตัน และคาดว่าภายในสิ้นปีนี้จะมีโรงงานของภาคเอกชนเข้ามาร่วมโครงการรวมทั้งหมด 10 แห่ง กระจายอยู่ทั้ง 4 ภูมิภาค และสามารถกำจัดขยะติดเชื้อโควิดได้รวม 1,300 ตัน
สำหรับโรงงานทั้ง 3 ประเภทที่สามารถมาขอใบอนุญาตจากกรอ.ประกอบด้วย 1.โรงงานลำดับที่ 88 (2) เฉพาะโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรมหรือแบบผสมผสาน ทั้งแบบเผาตรงหรือใช้เชื้อเพลิง RDF (Refuse Derived Fuel) 2.โรงงานลำดับที่ 101 เฉพาะโรงปูนซีเมนต์หรือโรงงานกำจัดของเสียเฉพาะที่กำจัดโดยกระบวนการเผา
3.โรงงานลำดับที่ 102 เฉพาะโรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตและจำหน่ายไอน้ำ (Steam Generating) ที่ใช้เชื้อเพลิงขยะชุมชนหรือขยะอุตสาหกรรมหรือแบบผสมผสานทั้งแบบเผาตรงและใช้เชื้อเพลิง RDF โดยสามารถขอได้ทั้งโรงงานที่ตั้งกิจการอยู่ในหรือนอกนิคมอุตสาหกรรมและโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯสามารถยื่นเอกสารขอได้ที่ กรอ. และโรงงานในต่างจังหวัด ยื่นขอได้ที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด
...
ที่สำคัญ โรงงานทุกแห่งที่ได้รับความเห็นชอบจาก กรอ.จะต้องมีระบบปฏิบัติการที่เป็นไปตามข้อกำหนด อาทิ ต้องมีระบบจัดการไอเสียจากเตาเผา มีสถานรองรับมูลฝอยติดเชื้อที่สามารถป้อนสู่เตาเผาได้ทันที โดยพนักงานที่เกี่ยวข้องจะต้องไม่สัมผัสกับถุงขยะเหล่านี้โดยตรง และจะต้องมีการรายงานปริมาณการรับขยะมูลฝอยติดเชื้อ รวมถึงให้มีการตรวจวัดและรายงานปริมาณมวลสารที่ระบายออกจากปล่องระบายของโรงงาน ได้แก่ ออกไซด์ของไนโตรเจนในรูปไนโตรเจนไดออกไซด์ (NOx as NO2) ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และฝุ่นละอองทุกๆ 1 เดือนนับตั้งแต่ได้รับความเห็นชอบ จาก กรอ. เป็นต้น
ขณะเดียวกัน การรับกำจัดขยะติดเชื้อดังกล่าวที่เป็นเตาเผาของโรงงานอุตสาหกรรมในแต่ละชุมชน นับจากนี้ ไปอาจสร้างความหวาดวิตกแก่ประชาชนในชุมชน เพราะเป็นขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นมหันตภัยของโลก
กรอ.จึงได้เสนอแนะให้โรงงานทุกแห่ง ควรมีการรับบริการกำจัดขยะปนเปื้อนหรือขยะต่างๆที่มีความเสี่ยงต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ ให้รับไปกำจัดด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนในพื้นที่และเพื่อลดการต่อต้านของชุมชน เพราะอาจเกิดความวิตกกังวลว่าอาจจะมีความเสี่ยงในพื้นที่ที่มีการกำจัดขยะติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
...
แม้ว่ากรมอนามัยและ กรอ.จะมีมาตรการที่รัดกุมที่สุด ในทุกๆขั้นตอนแล้วก็ตาม.
เกรียงไกร พันธุ์เพ็ชร