การประชุมร่วมระหว่าง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. กับตัวแทนสมาคมธนาคารไทย สำนักงาน กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย และ ปปง. เพื่อวางแผนการแก้ปัญหา การดูดเงินจากบัญชีธนาคาร บัตรเครดิต บัตรเดบิต ของประชาชนจำนวนมาก มีผู้เสียหายหลายหมื่นราย โดยผู้เสียหายได้ทยอยเข้าแจ้งความกับเจ้าหน้าที่สืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือ สอท. และศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีแล้ว
จากรายงานของเจ้าหน้าที่ พฤติกรรมของคนร้ายมีลักษณะลักลอบนำข้อมูลจาก บัตรเดบิต หรือ บัตรเครดิต จากการซื้อสินค้าออนไลน์ ไปหักเงินจากบัญชีของผู้เสียหาย ที่จะมีการหารือผู้เกี่ยวข้องในการติดตามตัวผู้ก่อเหตุต่อไป เท่าที่มีรายงานในเบื้องต้น คนร้ายจะเป็นชาวต่างชาติที่เข้ามากระทำความผิดในบ้านเรา มูลค่าความเสียหาย ในเบื้องต้นอยู่ที่ประมาณ 30 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเจ้าของเรื่องจะได้ชดใช้ให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายต่อไป
ต้องยอมรับว่า การที่จะนำประเทศไทย เข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 เป็น เศรษฐกิจดิจิทัล ตั้งเป้าที่จะใช้เงินดิจิทัลแทนเงินสด โดยที่เรายังไม่พร้อมในเรื่องของเทคโนโลยี ความปลอดภัยทางด้านดิจิทัล ซึ่งเราจะเป็นเป้าหมายของคนร้ายในการเข้ามากระทำผิด แฮ็กข้อมูลเพื่อที่จะเรียกค่าไถ่ โดยเฉพาะในองค์กรของรัฐ โรงพยาบาล หรือบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้ระบบล่ม มาแล้วหลายครั้ง ซึ่งจนบัดนี้ยังจับมือใครดมไม่ได้
การหลอกลวงต้มตุ๋นทางออนไลน์ การซื้อสินค้าออนไลน์ ที่ได้รับสินค้าไม่มีคุณภาพหรือไม่ตรงปก ภาครัฐก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ ทั้งนี้เกิดจากความล้าสมัยทางด้านเทคโนโลยีของภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือขาดการเอาใจใส่จริงจังที่จะดำเนินการปราบปราม อาชญากรรมทางเศรษฐกิจเหล่านี้
ทำให้อาชญากรรมทางด้านเทคโนโลยีมีจำนวนเพิ่มขึ้นมาก แม้ รมว.ดิจิทัลฯ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ จะออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้เป็นการแฮ็กบัญชีของลูกค้า ระบบธนาคารยังมีความปลอดภัย แต่เป็นเพราะการนำบัตรเครดิตและเดบิตไปใช้โดยที่เจ้าของไม่รู้ ซึ่งกำลังสืบดูว่าคนร้ายได้ข้อมูลมาอย่างไร อาจเป็นการซื้อเกมหรือสินค้าออนไลน์ เนื่องจากปัจจุบันมีการใช้เงินออนไลน์กันเยอะ
...
ต้องยอมรับความจริงว่า ข้อมูลส่วนตัวของคนไทยไม่ได้รับความคุ้มครองความปลอดภัยเท่าที่ควร แม้แต่รหัสโอทีพีหลังบัตรเครดิต หรือการตรวจสอบแจ้งเตือนจากธนาคารเจ้าของบัตรที่ยังมีช่องวางและความหละหลวม
รมว.ดิจิทัลฯยังอ้างว่า ขณะนี้มีการยกร่าง พระราชกฤษฎีกากำกับควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ธุรกิจออนไลน์ อยู่ระหว่างรอเข้าที่ประชุม ครม.ที่ ผู้ประกอบการธุรกิจออนไลน์ จะต้องมาจดแจ้งการประกอบธุรกิจที่จะต้องมีการยืนยันผู้ซื้อผู้ขายในระบบ เช่นจะต้องมีการยืนยันตัวตน 2 ครั้งขึ้นไป
แพลตฟอร์มจากต่างประเทศ ที่จะมาทำธุรกิจในไทยต้องมีตัวแทนรับผิดชอบต่อกฎหมายไทย รับผิดชอบต่อคนไทย จะเป็นบริษัทต่างประเทศร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้
สรุปก็คือ เศรษฐกิจดิจิทัลที่จะเป็นวิถีใหม่สำหรับคนไทย โดยภาครัฐตั้งเป้าหมายที่จะยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ทัดเทียมกับต่างชาติ ทั้งที่ยังขาดทักษะและความชำนาญ จะกลายเป็นการทำลายความมั่นคงเศรษฐกิจหรือไม่ เป็นกรณีที่จะต้องศึกษาและทบทวนมากกว่าจะมาตั้งแง่โยนความรับผิดชอบ.
หมัดเหล็ก
mudlek@thairath.co.th